ปัดฝุ่น "MOU44" พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

การเมือง
6 ก.พ. 67
13:00
4,022
Logo Thai PBS
ปัดฝุ่น "MOU44" พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (6 ก.พ.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีรายรายละเอียดก่อนที่ไทยจะหารือ ความร่วมมือกับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทำให้หลายๆ ภาคส่วนตื่นตัว มองประโยชน์ที่จะได้จากการพัฒนาร่วมกัน บนข้อพิพาทที่ยังไม่เคยหายไป

อย่างไรก็ตาม มี 3 เรื่องหลักๆ ที่น่าติดตาม ในมิติความสัมพันธ์แบบไทย-กัมพูชา ก็คือ การค้าชายแดน เปิดปราสาทพระวิหาร และการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

2 ประเด็นแรก ดูจะไม่มีปัญหา เพราะการค้าชายแดน ไทย-กัมพูชา มีมูลค่ากว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจากการส่งสินค้าไปขายมากกว่านำเข้ามา ที่มากที่สุดคือสินค้าเกษตร แต่ไทยก็ยังเป็นรอง จีน สหรัฐฯ และเวียดนาม ที่ครองตลาดในกัมพูชามากเป็น 3 อันดับแรก

ขณะที่การท่องเที่ยวชมวิวปราสาทเขาพระวิหาร หลังจากมีการตีความคำพิพากษาศาลโลก เมื่อปี 2566 ทำให้กัมพูชาได้เขาพระวิหาร และปราสาท ไปครอบครอง และกัมพูชาไม่ยินยอมให้ขึ้นเที่ยวปราสาทจากฝั่งไทยได้

ไทยกับกัมพูชา ถือแผนที่คนละฉบับ และ มันไม่แมตช์กับพื้นที่จริง แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่ชัดว่าแผนจัดการพื้นที่โดยรอบ จะเป็นอย่างไร แต่ในการหารือระดับรัฐบาลครั้งนี้ เป็นความหวังของคนในพื้นที่อย่างมาก

จากที่เคยเป็นสมรภูมิรบ วันนี้บ้านภูมิซรอล กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายแดนที่สำคัญ ขึ้นไปที่ผามออีแดง แล้วส่องกล้องไปชมวิวเขาพระวิหาร ท่ามกลางทะเลหมอก

แต่การท่องเที่ยวที่มีเขาพระวิหารเป็นจุดขาย ยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะประตูเหล็กทางขึ้นปราสาทพระวิหารฝั่งไทย ยังถูกปิดล็อกมานานกว่า10 ปี และนี่เป็นข้อเรียกร้องจากคนในพื้นที่ ที่ต้องการ ให้รัฐบาลนำไปหารือกับกัมพูชา

ครั้งหนึ่ง การต่อสู้ของท่านทูตวีรชัย พลาศรัย ผู้ล่วงลับ ในฐานะหัวหน้าคณะต่อสู้คดีตีความปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย เคยเป็นสิ่งที่ประทับใจคนไทยแทบทั้งประเทศ และ ชี้ให้เห็นว่าประเด็นเขตแดน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับคนไทยอย่างมาก และ ประเด็นเรื่องเขตแดน ก็เป็นเรื่องพิพาทมานานกว่า 22 ปี และไม่มีใครตอบได้ว่า จะจบลงเมื่อไหร่

อ่าน : ไทย-กัมพูชา เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปรอบใหม่ 7 ก.พ.นี้

เขตแดนทางบก ลากมาจบที่หลักเขตที่ 73

คือจุดสิ้นสุดเขตแดนทางบก แต่เป็นจุดเริ่มต้นข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลต่อ เมื่อกัมพูชาใช้ลากลงมา ผ่านเกาะกูด เพื่ออ้างสิทธิในทะเล ขณะที่ไทยอ้างถึงการใช้หลักกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ ลากอ้อมเกาะกูด

จนเกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทยกับกัมพูชา อยู่ด้านเหนือเส้นละติดจูด 141 องศาเหนือ แต่ใต้เส้นนี้ลงมายังมีประเด็น เพราะคาดว่าเป็นแหล่งก๊าซ น้ำมัน จำนวนมหาศาล ที่ทั้ง 2 ประเทศ ต้องบริหารร่วมกัน

นี่คือ 2 เรื่องใหญ่ ที่ถูกผูกเอาไว้ใน บันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา หรือที่เรียกกันว่า MOU 44 ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ว่าต้องทำคู่กันไป

ข้อตกลงนี้ เคยเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร มาแล้ว แต่ต่อมานายทักษิณ กลับได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา

ทำให้รัฐบาลในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่พอใจ ถึงขั้นเรียกทูตกลับและพยายามยกเลิก MOU ฉบับนี้ แต่ก็ไม่เป็นผลมาจนถึงปัจจุบัน

นับมาจนถึงวันนี้ MOU มีอายุ 22 ปี คนที่มีบทบาทในการเจรจาก็คือ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค คนล่าสุดในรัฐบาลชุดก่อนก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง

บางรัฐบาลให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้นำการเจรจา ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญเขตแดนเป็นหลัก พลังงานเป็นรอง บางยุคให้กระทรวงพลังงานเป็นหลัก กระทรวงการต่างประเทศเป็นรอง เพราะอยากนำเรื่องพลังงานมากกว่า

ใช้มาหลายโมเดล แต่ต้องยอมรับว่า ไม่เคยคุยกันได้มากกว่า 3-4 ครั้ง และไม่จบว่าจะเอายังไง ?

ครั้งนี้ชัดเจนว่า กัมพูชา การเมืองมีเสถียรภาพ พัฒนาจนมีกลุ่มทุนเกิดใหม่ตั้งเป้าเรื่องพลังงานชัด และอาจจะชัดกว่าเขตแดน คำถามก็คือ ไทยจะเอายังไง เพราะ MOU ฉบับเดียวกัน เรามี 2 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มาจาก 2 พรรค คือ กระทรวงการต่างประเทศจากเพื่อไทย และ พลังงานจากรวมไทยสร้างชาติ

จากบทเรียนเรื่องการต่อสู้ในศาลโลก ที่ไทยต้องพ่ายแพ้ทำให้ทางออกของเรื่อง OCA ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ดูจะไม่ใช่ศาลโลก แต่น่าจะอยู่ที่การเจรจา เพราะถ้าคุยจบวันนี้ กว่าจะได้เริ่มสำรวจใช้พลังงานจริง ก็คงไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี เป็นรอยต่อที่สำคัญด้านพลังงาน ที่หลายคนมองออกว่า กำลังเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย ต้องแก้ให้ได้ เพราะ จะนำมาสู่แรงกดดันทางการเมือง

อ่าน : "สุทิน" รอรายงานจับชาวกัมพูชาจ่อเคลื่อนไหวช่วง "ฮุน มาเนต" เยือนไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง