ข้าวไทย บนฝ่ามือ “ภูมิธรรม เวชยชัย” วิกฤต-ความหวัง ชาวนาไทย

เศรษฐกิจ
8 ก.พ. 67
12:48
736
Logo Thai PBS
ข้าวไทย บนฝ่ามือ “ภูมิธรรม เวชยชัย” วิกฤต-ความหวัง ชาวนาไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ผลผลิตข้าวไทยในปี 2566/2567 ว่า มีปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 31.92 ล้านตัน และแปลงเป็นข้าวสาร 21 ล้านตัน  ถือว่าเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ปีละ 10 ล้านตัน และส่งออกปีละ 8 ล้านตัน

แต่ปัญหาที่ทำให้ชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของไทย ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ คือ ผลผลิตที่ได้เพียงไร่ละ 400 กิโลกรัมเท่านั้น สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ทั้ง ค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าไถหว่าน เมื่อทอนเป็นรายได้ของชาวนาส่วนใหญ่จะไม่เพียงพอกับรายจ่าย

ชาวนาไทยกับการปลูกข้าว

ชาวนาไทยกับการปลูกข้าว

ชาวนาไทยกับการปลูกข้าว

ปัญหาดังกล่าว เลี่ยงไม่พ้นที่รัฐบาลทุกยุคสมัยต้องเข้ามาแก้ปัญหา จากนโยบายจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 9 ปีที่แล้ว มาสู่นโยบายประกันราคาข้าว

และกลับมาเป็นรัฐบาลเพื่อไทย “เศรษฐา 1”ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการทั้ง การพยุงราคาข้าว การส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนช่วยเหลือเกษตรกร

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.พาณิชย์ กำกับดูแลนโยบายการและการบริหารข้าวแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึงสถานการณ์การข้าวไทยและภาพรวมการค้าข้าวไทย ว่า เหตุใดชีวิตเกษตรกรไทยยังไม่พัฒนาไปไหนไกล

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์

หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวจนเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 700-800 กิโลกรัม มีคุณภาพข้าวเทียบเท่ากับของไทย ทั้งๆที่ไทยปลูกข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และคนไทยกว่าครึ่งประเทศมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม

“พัฒนาพันธุ์ข้าว”หวังทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวไทย

“ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ ผมได้สั่งการไปแล้ว ให้เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาเพื่อให้แข่งขันได้ตลาดโลก” ภูมิธรรม เปิดประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ในฐานะรองนายกฯที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ

โดยชี้ว่า การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะข้าวไทยได้รับความนิยมมานาน เป็นข้าวที่เม็ดเรียงสวยงาม นุ่ม หอม เมื่อหุงข้าวจะมีกลิ่นหอม แม้ว่าข้าวอื่นจะมีกลิ่นหอมแต่ก็น้อยกว่าข้าวไทย ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นเบอร์ 1 ของข้าวไทย จึงต้องกลับมาดูเรื่องคุณภาพข้าว เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และคงคุณภาพเพื่อที่จะสู้กับตลาดได้

“ต้องมั่นใจว่า เราทำได้ ประเทศไทยมีสิ่งทีดี ๆ อย่างกรณีข้าวไทย ถือว่า พันธุ์ข้าวของไทยมีคุณภาพมาก เพราะเรามีฐานที่ดี แต่ถ้าเราไม่พัฒนาต่อ หยุดนิ่งอยู่กับที่ คู่แข่งเรา ไม่ว่าจะเวียดนามหรือประเทศอื่น มีสิทธิที่จะแซงหน้า อย่างเวียดนามเขาเริ่มจากไม่มีอะไร เขาพัฒนาพันธุ์ข้าวจนไล่หลังไทยมา

แต่เชื่อว่าข้าวเวียดนามจะไม่สามารถทำอะไรข้าวไทยได้ แต่เราก็ต้องไม่ช้าเกินไป เพราะในโลกนี้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเรายังชื่นชมความดีของเรา แล้วยังนั่งอยู่ที่เดิม ในอนาคตก็จะไม่ทันเกม วันนี้เขาเริ่มจากศูนย์ แล้วขึ้นมาสอง ในขณะที่เราอยู่ที่สี่ที่ห้าแต่ไม่พัฒนาต่อ เขาแซงหน้าเราไปแน่นอน”

ภูมิธรรม บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ต้องกังวลใจ ให้เริ่มต้นมองจากสิ่งที่มี และพัฒนาให้ดีที่สุด ในทิศทางที่ควรจะเป็น ทุกวันนี้ชาวนายังคงมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ พยายามเข้าไปแก้ไขในการปรับโครงสร้างสินค้าเกษตร เชื่อว่าจะดีต่อเกษตรกร หากไม่ทำอะไรเลย ไม่ต่างจากการขายฝัน สำหรับเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าว รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว โดยกระทรวงเกษตรฯเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนเพื่อขอเข้าอบรมตามความสมัครใจ

ไม่บังคับ หากเกษตรกรจะปลูกพันธุ์ข้าวเดิมก็ทำได้ แต่ถ้าใครจะเข้าระบบก็มาอบรม รัฐก็จะแจกข้าวพันธุ์ใหม่ให้ เมื่อเกษตรกรในโครงการฯได้ผลผลิตข้าวต่อไร่ขึ้นไป 600-700 กิโลกรัม หรือ มากกว่า รัฐบาลก็มีหลักประกัน พูดได้ว่าคุณภาพข้าวกับต้นทุนการผลิตที่ลดลง จะช่วยให้ชาวนาไทยแข่งขันได้ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นแน่นอน

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ที่อยู่ในแวดวงข้าว รวมทั้งกรมการค้าภายใน ทำให้มองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่ง โดยจะเสนอให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ให้หลักประกันกับเกษตรกรว่า ในกรณีที่เข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ และไม่ได้ผลผลิตตามที่เป้าหมาย รัฐจะอุดหนุนเงินให้ ซึ่งจะเป็นแนวทางการช่วยเหลือทางการเงินในทางอ้อม เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรในการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เพราะถ้าไม่มีหลักประกันให้ การจะเปลี่ยนแปลงจะยากมาก

“หากเปลี่ยนแล้วเกิดขายข้าวไม่ได้ รัฐบาลก็จะมีเงินช่วยเหลือ ซึ่งเราสร้างทางเลือกให้เกษตรกร แต่ว่า ต้องมั่นใจว่า มันจะดีขึ้นแน่ ภายใต้การดูแลเอาใจใส่และการทำงานอย่างเต็มที่ของกระทรวง ส่วนจะใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ยังบอกไม่ได้ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าปี 2568 จะได้เห็น

นอกจากเรื่องผลผลิตข้าวแล้ว ได้ขอให้กรมการค้าภายในทบทวนต้นทุนการผลิตสินค้าทุกตัว เพื่อหาจุดความสมดุลให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีใครเอาความต้องการของคนๆเดียวทุกเรื่องๆไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการเป็นไปไม่ได้”

เปิดตลาด“ข้าวไทย” เล็งขยายฐานส่งออก “มะกัน-จีน”

ไม่เพียงการส่งเสริมและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เกษตรอย่างเดียว แต่ ภูมิธรรม บอกว่า ในช่วง 4-5 เดือนที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ได้พยายามขยายตลาดข้าว โดยเดินสายโรดโชว์ข้าวในหลายประเทศ ล่าสุด เดินทางเยือนสหรัฐฯ คาดว่าจะผลักดันและส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวและอาหารไทยเข้าตลาดสหรัฐฯ มูลค่ารวม ไม่ต่ำกว่า 1,750 ล้านบาท

โดยมีทำบันทึกข้อตกลง หรือทำ MOU สินค้าข้าวหอมมะลิ และสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น น้ำมะพร้าว และอาหารกระป๋อง จำนวน 3 คู่ ระหว่างผู้นำเข้าสหรัฐฯ กับภาคเอกชนไทย คาดจะสร้างรายได้เข้าประเทศ 41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,435 ล้านบาท ภายใน 1 ปี

รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ตลาดจีน เป็นอีกหนึ่งตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ มองว่าเป็นโอกาสของข้าวไทยที่จะเข้าเจาะตลาดเพิ่มขึ้น เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่าพันล้านคน ซึ่งหลังจากนายกฯเศรษฐาฯพบกับผู้นำจีนในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่าไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน

ดังนั้นจึงต้องรีบดำเนินการในการเจรจาเปิดตลาดข้าว และจากการหารือกับรัฐมนตรีการค้าของจีนในงานประชุม China International Import Expo 2023 (CIIE 2023) เมื่อปลายปี 2566 ไทยจะเริ่มขยายฐานการส่งออก โดยเน้นเจาะตลาดจีนแบบรายมณฑล เนื่องจาก 1 มณฑลของจีนมีประชากร บวกลบ 100 ล้านคน

หากสามารถส่งออกข้าวไปในมณฑลต่าง ๆ ของจีนได้ ก็จะทำให้ได้ตลาดข้าวเพิ่ม หรือ สามารถส่งออกข้าวไปได้ 4 มณฑลจาก 8 มณฑล อาจจะทำให้ได้ผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นกว่า 400 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม นอกจากจีนและสหรัฐฯแล้ว ตลาดอินเดียเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ ซึ่งไทยจะไปเปิดตลาดข้าวที่นั่น เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่งของโลก แม้อินเดียจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันหนึ่งของโลก แต่มองว่า ยังมีช่องว่างให้ข้าวไทยไปเจาะตลาดได้ ทั้ง จีน สหรัฐฯ อินเดีย ไทยสามารถขยายตลาดข้าวและสินค้าอื่น ๆ ได้กว่าครึ่งโลก รวมทั้ง ตลาดเอเชีย แอฟริกา

เป็นอีกเป้าหมายของข้าวไทยที่จะเข้าไปหาช่องทางขยายตลาด และแย่งส่วนแบ่งตลาดกลับมา แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ไทยเองด้วยว่าจะสามารถพัฒนาปรับปรุงคุณภาพข้าวได้อย่างไรให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก

ส่วนการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้น รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย จีน และประเทศ อื่นๆ แสดงความประสงค์จะขอซื้อแล้ว โดยอินโดนีเซีย มีความต้องการสั่งข้าวไทย 2.8 แสนตัน โดยเป็นจีทูจี 1.4 แสนตัน และเอกชนนำเข้าอีก 1.4 แสนตัน

คาดว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงเร็วๆนี้ ซึ่งการซื้อขายดังกล่าว จะช่วยให้มีคำสั่งซื้อ รองรับผลผลิตข้าวไทยและช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศไม่ให้ปรับตัวลดลงกระทบต่อราคาที่เกษตรกรขายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดปริมาณมาก

เวที TRC ดัน“ข้าวหอมมะลิ” Soft Power ไทย

ในเดือนพ.ค. 2567 รัฐบาลไทย กระทรวงพาณิชย์จะมีการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) 2024 โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ ในวงการค้าข้าวโลก แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการค้า แนวโน้มตลาดข้าวโลก มีการเปิดเวทีสัญจร ลงพื้นที่สัมมนาให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ภูมิธรรม บอกว่า ไทยได้ส่งเสริมให้ “ข้าวหอมมะลิไทย” เป็นสินค้าชั้นเลิศในเวทีการค้าโลก หรือ Premium Goods และเป็นหนึ่งในสินค้า Soft Power ด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัว ความหอม นุ่มละมุน รสสัมผัสที่อร่อยที่ทั่วโลกให้การยอมรับและปลูกได้เฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเท่านั้น

ข้าวไทย

ข้าวไทย

ข้าวไทย

โดยการสร้างแบรนด์ มีเครื่องหมายรับรอง ข้าวหอมมะลิไทย แสดงให้ผู้บริโภครับรู้ว่า สินค้าข้าวหอมมะลิ ภายใต้เครื่องหมายดังกล่าว ผ่านการกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่า จะได้รับสินค้าข้าวหอมมะลิไทยที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย

ปัจจุบันกรมการค้าต่างประเทศ ได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้าของเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยแล้วใน 48 ประเทศทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมหลายประเทศผู้นำเข้า เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในภูมิภาคยุโรป

ในปีงบประมาณ 2567 มีโครงการที่จะยื่นขอจดทะเบียนเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหราชอาณาจักร อิสราเอล สหภาพยุโรป สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เพื่อผลักดัน การส่งออกข้าวหอมมะลิไทย

“ตลาดข้าวไทย ยังไปได้ดี แต่ต้องระวังเรื่องสภาพภูมิอากาศที่จะเป็นปัจจัยฉุดผลผลิตข้าวในปีนี้ ผมมั่นใจว่า กระทรวงพาณิชย์จะสามารถขยายตลาดข้าว ไปได้อีกมาก” รมว.พาณิชย์ ทิ้งท้าย

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:

ส่งออกข้าวไทยปี 2567 หืดขึ้นคอ “ภัยแล้ง-ราคา” เวียดนามจ่อแซงหน้า

ส่งออกข้าวไทยทะลุเป้า ห่วงภัยแล้งกระทบ แนะเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวสู้ตลาดโลก

“ข้าวหอมมะลิไทย” ยืนหนึ่งตลาดฮ่องกง คาดปี 67 แข่งราคาเดือด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง