“ทำไม ความพิการในประเทศไทยถึงต้องมีวันหมดอายุ”

สังคม
12 ก.พ. 67
17:44
799
Logo Thai PBS
“ทำไม ความพิการในประเทศไทยถึงต้องมีวันหมดอายุ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

คำถามจากชายพิการโยกสามล้อเข้ากรุงฯ เพียงเพื่อ “ยืนยันความพิการ”

“คุณรู้มั้ยว่า คนพิการในประเทศไทยต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ ... เพื่อยืนยันสิทธิที่จะได้รับในฐานะที่เป็นคนพิการ และบัตรใบนี้ยังมีวันหมดอายุ ซึ่งหมายความว่า คนพิการทุกคนจะต้องเดินทางไปยืนยันความพิการของตัวเองใหม่ทุกครั้งเมื่อบัตรหมดอายุ” (บัตรประจำตัวคนพิการมีอายุ 8 ปี นับตั้งแต่วันออกบัตร)

“ต้องยืนยันความเป็นคนพิการ” เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาอีกหลายข้อที่ นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ thisable.me สื่อมวลชนที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้พิการ ตั้งข้อสังเกตต่อปัญหาเชิงระบบที่เกิดขึ้นกับคนพิการทุกคนในประเทศไทย ซึ่งเธอมองว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัญหาเหล่านี้ไม่ถูกตีแผ่ให้เห็นภาพที่เด่นชัดขึ้นมาเลย จากกรณีที่นายมณฑล เพ็ชรสังข์ ชายพิการวัย 48 ปี ตัดสินเดินทางด้วยการโยกรถสามล้อเป็นระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร เข้ามาทวงถามถึงสิทธิการรับเบี้ยคนพิการที่เขาไม่ได้รับโอนเงินเข้าบัญชีมาตั้งแต่ปี 2563

 “กลายเป็นว่าเราไปให้ความสำคัญกับท่าทีที่ดูไม่น่าสงสารของคนพิการคนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา ทั้งที่คนพิการไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่น่าสงสาร ไม่จำเป็นต้องมีท่าทีอ่อนน้อมเพื่อวิงวอนขอรับความช่วยเหลือเท่านั้น ... นั่นทำให้เมื่อมีคนพิการที่มีท่าทีไม่น่าสงสารออกมาเรียกร้องสิทธิ เรากลับไปให้ความสำคัญกับท่าทีของเขา จนมองข้ามประเด็นสำคัญไปหมดเลยว่า ปัญหาที่เขาเรียกร้องมันมีอยู่จริง และเป็นปัญหาร่วมของคนพิการทั้งหมด ไม่ใช่ปัญหาของเขาเพียงคนเดียว”

เมื่อมาดูที่คำอธิบายของ “กรมบัญชีกลาง” ซึ่งระบุถึงสาเหตุที่ทำให้นายมณฑล ถูกระงับการจ่ายเบี้ยคนพิการไปตั้งแต่ปี 2563 คือ เขาได้รับสิทธิมาตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2563 และถูกระงับการรับเบี้ยไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เพราะพบว่ามีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ จึงทำให้ระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e - Social Welfare) ของกรมบัญชีกลาง ระงับการจ่ายเงินโดยอัตโนมัติ และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา กรมบัญชีกลางก็ไม่ได้รับแจ้งข้อมูลการขอเบิกเงินเบี้ยความพิการนายมลฑล เข้ามาจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องส่งข้อมูล

ส่วนคำชี้แจงจากพัฒนาสังคม จ.สุโขทัย ระบุว่า นายมณฑล จดทะเบียนคนพิการเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2558 หมดอายุวันที่ 9 มิ.ย. 2566 และยังไม่ได้ต่ออายุ (ครบ 8 ปี) ต่อมาพบว่า เขามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 และตรวจพบว่ามีหมายจับคดีอาญา จึงถูกตัดสิทธิการรับเบี้ยความพิการเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 256

นลัทพร เห็นว่า แม้คำอธิบายของทั้ง 2 หน่วยงานจะมีคำตอบถึงสาเหตุที่ทำให้นายมณฑล ถูกระงับสิทธิไป แต่ก็ยิ่งทำให้มีคำถามต่อระบบระเบียบการทำงานกับคนพิการว่าควรจะต้องปรับปรุงหรือไม่

“กรณีของนายมณฑล เราพยายายามเข้าใจสิ่งที่เจ้าหน้าที่อธิบายว่า เกิดจากการที่เขาย้ายที่อยู่ไปมาหลายครั้ง และอาจมีปัญหา มีคดีติดตัว จนชื่อตกหล่นไปอยู่ที่ทะเบียนบ้านกลาง แต่ก็ยังสงสัยว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ จึงทำให้สิทธิการรับเบี้ยคนพิการหายไปด้วย

ในระเบียบเขียนว่า เมื่อชื่อไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง จะต้องถูกตัดสิทธิ ซึ่งอาจเข้าใจประเด็นนี้ได้ แต่ที่ยังต้องตั้งคำถาม คือ ทำไมหน่วยงานในท้องถิ่น ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่กลับผลักภาระให้คนพิการต้องเดินทางมาติดต่อที่ส่วนกลางด้วยตัวเอง

จึงเป็นประเด็นที่ต้องการคำอธิบายจากหน่วยงานรัฐว่า ระเบียบต่างๆเป็นอย่างไร มีอุปสรรคอะไรที่ทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นหรือไม่ มีแนวทางแก้ไขที่สามารถมาออกแบบกันใหม่ได้หรือไม่ และหากปล่อยไว้เช่นนี้ อาจเป็นช่องโหว่ทำให้สิทธิอื่นๆ ของคนพิการตกหล่นหรือหายไปด้วย เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง

นลัทพร เป็นคนทำเนื้อหาเพื่อสื่อสารเรื่องสิทธิของผู้พิการที่มีความเข้าใจในข้อจำกัดของคนพิการเป็นอย่างดี เพราะตัวเธอเองป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งเป็นความพิการที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเช่นกัน ในฐานะคนพิการคนหนึ่ง ยังทำให้มีประสบการณ์ ความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิรับเบี้ยความพิการ ในอีกหลายรูปแบบ 

ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า แม้จะมีบัตรประจำตัวคนพิการ ก็ไม่ได้แปลว่า คนพิการคนนั้นจะได้รับเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาทโดยอัตโนมัติ เพราะในความจริงแล้ว คนพิการยังจะต้องนำบัตรประจำตัว ไปยื่นขอรับเบี้ยคนพิการอีก ทำให้มีคนพิการจำนวนมากต้องตกหล่นจากสิทธิการรับเงิน

มีคำถามว่า มีบัตรประชาชนแล้ว ทำไมเรายังต้องมีบัตรประจำคนพิการเพิ่มไปอีกหนึ่งใบ  และเหตุใด ความพิการ จึงไม่ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในฐานข้อมูลที่อยู่ใน “ชิป” บัตรประชาชน” นลัทพร  ชี้ให้เห็นที่มาของปัญหาเชิงระบบที่เกิดขึ้นกับสิทธิของคนพิการ

บัตรคนพิการในบ้านเรา มีวันหมดอายุ และใช้ไม่ได้ด้วย ถ้าคนพิการย้ายที่อยู่ เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ของคนพิการ จะถูกเก็บไว้ในกระดาษ ไม่ได้ถูกนำเข้าระบบ หมายถึง ข้อมูลจะไม่ได้ตามไปด้วยเมื่อคนพิการย้ายที่อยู่ ก็จะต้องเดินทางไปยืนยันความพิการใหม่ทุกครั้ง เพราะสิทธิเดิมที่เคยได้รับ ไม่ได้ถูกโอนย้ายติดตัวโดยอัตโนมัติ ทั้งที่คนพิการ เป็นกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดมากที่สุด ก็คือ การเดินทาง

หน่วยราชการก็มี แอพพลิเคชันบัตรคนพิการ แต่ถึงเวลาจริง คนพิการก็ยังต้องเดินทางไปเอง เพื่อใช้บัตรจริง และยังต้องถ่ายสำเนาบัตรยืนยันตัวตนอยู่ดี ก็แปลว่า ระบบมันยังทำได้ไม่ดีพอ

นลัทพร บอกว่า เคยไปทำงานกับคนพิการในพื้นที่ห่างไกล พบว่า เขาต้องเดินทางไปต่างอำเภอระยะทางหลายสิบกิโลเมตร หรือบางแห่งต้องเดินทางหลักร้อยกิโลเมตร เพื่อไปรับสิทธิ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงกว่าสิทธิที่ได้รับ บางพื้นที่จึงต้องรวมรายชื่อ เพื่อให้คนอื่นไปรับสิทธิแทน และเคยพบว่า เงินที่ได้มีส่วนที่ถูกหักออก เป็นค่าดำเนินการ

ทั้งหมดนี้ ปัญหาเกิดจากความไม่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย การที่ต้องมีบัตรคนพิการ แยกออกมาจากบัตรประชาชน เพราะฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์เป็นของมหาดไทย ฐานข้อมูลคนพิการเป็นของพัฒนาสังคม การจ่ายเงินเบี้ยความพิการเป็นของกรมบัญชีกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน

นลัทพร เห็นว่า สังคมไทยและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในประเด็นคนพิการ ควรนำปัญหาที่เกิดขึ้นกับนายมณฑลมาขยายผลเพื่อหาทางแก้ไขและสร้างระบบการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม มากกว่าจะแค่อธิบายว่ารัฐทำตามระเบียบอย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น

“ยังมีอีก 2-3 ประเด็นที่อยากสื่อสาร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบที่สุโขทัยขึ้นมาอีก”

ข้อแรก คิดว่า ความพิการบางอย่างที่พิสูจน์ได้ว่า ไม่มีทางหาย เช่น ความพิการจากไขสันหลัง อวัยวะขาด หรืออย่างเราที่พิการมาตั้งแต่กำเนิดและยังไม่มีวิธีรักษา ก็ควรจะได้รับสิทธิความพิการแบบถาวร ไม่ต้องมีวันหมดอายุความพิการ ไม่ต้องไปต่ออายุบัตรใหม่ ไม่ต้องไปยืนยันตัวตนอีก”

ข้อสอง คนพิการที่เข้าทำงานในบริษัทเอกชนที่มีสิทธิประกันสังคม จะต้องถูกบังคับใหเสียสิทธิคนพิการไป และเลือกใช้ได้เพียงสิทธิประกันสังคมเท่านั้น ทั้งที่วัตถุประสงค์ของสิทธิทั้ง 2 ประเภท เป็นคนละเรื่องกัน และอธิบายได้ว่า การให้สิทธิในฐานะคนพิการ คือ ช่วยทุเลาความลำบากจากการเป็นคนพิการ

ส่วนสิทธิประกันสังคมมันคือสวัสดิการในฐานะคนทั่วไป ใช้ในเวลาเจ็บป่วย ทำฟัน คลอดบุตรเป็นต้น

น่าแปลกใจว่ารัฐมีกฎหมายให้สถานประกอบการต่างๆ ต้องมีสัดส่วนในการรับคนพิการเข้าทำงาน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความพยายามช่วยเหลือคนพิการ แต่พอคนพิการเข้ามาทำงานแล้ว กลับถูกตัดสิทธิเดิมที่เขาควรได้รับออกไป

และข้อสาม การรับสิทธิดูแลในฐานะคนพิการ ยังไม่ครอบคลุมหรือตอบโจทย์กับคนพิการอย่างแท้ จริง และไม่ตอบโจทย์กับคนที่ต้องใช้ชีวิตคล้ายคนพิการในช่วงเวลาหนึ่งด้วย เช่น กลุ่มที่มีความพิการต้องใช้รถวีลแชร์ ก็จะมีความต้องการใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ตามความพิการ แต่รถวีลแชร์ที่ได้รับมาจะเหมือนกันหมดทุกคัน ทำให้หลายคนที่ได้รับมาก็ใช้ไม่ได้

ในขณะเดียวกัน คนทั่วไป ซึ่งอาจได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ชั่วคราว เช่น คนขาหัก ก็ไม่ได้รับสิทธิเหล่านี้เลย เพราะไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ เขาก็ต้องไปหาวีลแชร์ หรือไม้ต้ำยันมาใช้เอง ทั้งที่มีความจำเป็นต้องใช้แค่ชั่วคราว การแยกความพิการออกจากฐานข้อมูลเรื่องสุขภาพ ข้อมูลนี้จึงไม่อยู่ในฐานข้อมูลของบัตรประชาชน คนพิการ จึงต้องมีบัตรอีกใบหนึ่ง ส่วนคนบาดเจ็บแต่ไม่พิการก็ต้องดูแลตัวเองไป

นลัทพร สรุปว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจากทัศนคติของหน่วยงานรัฐที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการ ยังคงมองคนพิการเป็นภาระ จึงตอบคำถามว่า ทำไม สถานะคนพิการ ซึ่งเป็นแสดงถึง สถานะทางสุขภาพไม่ถูกนำไปเป็นข้อมูลที่ฝังไว้ในชิปบนบัตรประจำตัวประชาชน แต่ต้องมีบัตรแยกออกมาหนึ่งใบ ไปต่ออายุบัตรใหม่ และไปยืนยันตัวตนความพิการ

อยากรู้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐว่า ที่ผ่านมา มีคนพิการกี่คนที่ได้ประโยชน์เกินเลยไป จากสิทธิที่เขาควรจะได้รับ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของคนพิการทั้งหมด รัฐสูญเสียงบประมาณจากคนพิการที่ได้สิทธิมากเกินไปเป็นเงินเท่าไหร่ต่อปี จึงทำให้รัฐดูจะมีความกังวล ในการจ่ายเงินเบี้ยความพิการจนต้องสร้างเงื่อนไขที่เป็นปัญหาในการปฏิบัติมากถึงขนาดนี้ 

และอาจต้องถามกลับว่า รัฐเคยสำรวจหรือไม่ว่า มีคนพิการกี่คนแล้ว ที่กลายเป็นคนตกสำรวจ ตกหล่น เสียสิทธิที่เขาควรได้จะได้รับ จากเงื่อนไขยุ่งยากของรัฐที่อาจจะทำให้ความพิการของพวกเขา หมดอายุลงไป ทั้งที่ก็ยังพิการอยู่เช่นเดิม” นลัทพร ทิ้งท้าย

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

อ่านข่าว : "เศรษฐา" แถลงแก้หนี้ทั้งระบบ ไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 57% ย้ำแก้จบรัฐบาลนี้

ผบ.ทร.เผยหารือ คกก.ศึกษาจัดซื้อเรือดำน้ำ รอบสอง 14 ก.พ.นี้

โฆษกการเมืองยธ. อ้อมแอ้ม ไม่เห็นรายชื่อ “ทักษิณ-บิ๊กเนม”พักโทษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง