2567 คืนสู่ยุคจำกัดเสรีภาพสื่อ?

การเมือง
14 ก.พ. 67
13:53
186
Logo Thai PBS
2567 คืนสู่ยุคจำกัดเสรีภาพสื่อ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เรื่องเสรีภาพสื่อกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง จากกรณีนักข่าว 2 คน นายณัฐพล เมฆโสภณ จากสำนักข่าวประชาไท และนายณัฐพล พันธ์พงสานนท์ นักข่าวและช่างภาพสำนักข่าว Spacebar ถูกตำรวจ สน.พระราชวัง จับกุมตัว

ตามหมายจับของศาลอาญา ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว เหตุเกิดวันที่ 28 มี.ค.2566

วันที่ 13 ก.พ.2567 ทั้งสองคนถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออนุญาตฝากขังครั้งแรกที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เป็นเวลา 12 วัน และคัดค้านการประกันตัว เกรงว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 จะกระทำผิดซ้ำ ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังได้ ก่อนที่ทนายความของผู้ต้องหา จะยื่นขอประกันตัวชั่วคราว ตีหลักทรัพย์คนละ 3.5 หมื่นบาท

อ่านข่าว : ทนายยื่นค้านฝากขัง "ตะวัน-แฟรงค์" คุมเข้มศาลอาญา

ในการบรรยายค้านการประกันตัวของตำรวจ อ้างภาพจากกล้องวงจรปิด ว่ามีการนัดแนะพบปะกับผู้ก่อเหตุล่วงหน้า 1 วัน แต่นักข่าวทั้ง 2 คนปฏิเสธ ยืนยันไปทำข่าวตามภาระหน้าที่ ไม่ได้สนับสนุนการพ่นสี และรู้ล่วงหน้าเพียง 10 นาที

ประกอบกับนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวสื่อทั้ง 2 คน พร้อมออกแถลงการณ์ มีความกังวลต่อเสรีภาพของสื่อ การใช้มาตรการทางกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพของสื่อ ยิ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดต่อการทำหน้าที่

รวมทั้งแสดงความกังวลต่อกลุ่ม ศปปส. กรณีการใช้ความรุนแรงในกิจกรรมที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม ของน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องหา คดีมาตรา 112

ตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า เมื่อเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น ต่อไปจะไม่มีสื่อใดกล้ารายงานเรื่องผู้ชุมนุม และไม่อยากให้เด็กนิเทศฯ ที่จบไป ต้องทำแค่ข่าวพีอาร์ หรือข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล

อ่านข่าว : "คปท.-กองทัพธรรม" บุก รพ.ตำรวจค้าน "ทักษิณ" มีชื่อพักโทษ

เป็นความเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาส่วนหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีข่าวเรื่องก่อกวนขบวนเสด็จของตะวัน ผู้ต้องหาคดีอาญา มาตรา 112 ที่มีการขยายผลและถูกถอนการประกันตัว และนำตัวไปคุมขังที่ สน.ฉลองกรุง และส่งศาลฝากขัง วันที่ 14 ก.พ.2567

ทั้งนี้เป็นคนละกรณีกับการทำหน้าที่ของสื่อ แต่อาจถูกมองว่า มีความเชื่อมโยงถึงกัน โดยอิงบนความเชื่อว่า เป็นคนรุ่นใหม่ไปทำหน้าที่เป็นสื่อ ย่อมมีแนวทางตรงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แสดงออกทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียล ซึ่งอาจไม่ใช่ตรรกะที่เป็นจริง และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง

ขณะที่องค์กรสื่ออย่างสภาวิชาชีพข่าววิทยุฯ และสมาคมนักข่าววิทยุฯ ออกแถลงการณ์ห่วงใยการกระทำที่เข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพ ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ ขณะที่กระบวนการทำข่าว เป็นเรื่องจำเป็นที่สื่อต้องนำมาเสนออย่างถูกต้องรอบด้าน ให้ได้รับความน่าเชื่อถือ

อ่านข่าว : "ทักษิณ" กลับจันทร์ส่องหล้าฉลุย พักโทษ 6 เดือน พ้นโทษ ส.ค.

ทั้งในอดีตที่ผ่านมา คนทำสื่อต้องต่อสู้และเผชิญกับความยากลำบากจากกฎเกณฑ์และกฎหมายจากผู้มีอำนาจมาตลอด ไม่ว่าจะในรัฐบาลปกติ ที่นอกจากใช้ตำรวจสันติบาลตรวจสอบอย่างเข้มข้นแล้ว บางยุคสมัยยังใช้กลไกรัฐ อย่าง ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสื่อ

ขณะที่ในช่วงการทำรัฐประหาร จะมีกฎระเบียบและคำสั่งพิเศษออกมาจำกัดเสรีภาพสื่ออยู่เนือง ๆ ล่าสุดคือคำสั่ง คสช .หลังการรัฐประหาร 2557

การจำกัดเสรีภาพของสื่อหากเกิดขึ้นอีกในปีนี้ เท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลอง กลับไปสู่อดีตที่เป็นความมืดดำ เป็นอดีตที่เลวร้ายสำหรับคนทำสื่อ และส่งผลถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรอบด้าน ไม่มีโอกาสไปถึงการรับรู้ของประชาชน

เสรีภาพสื่อจึงมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง