FTA อาเซียน-จีน ดัน"น้ำตาลแปรรูปไทย"สินค้ายอดฮิตแดนมังกร

เศรษฐกิจ
15 ก.พ. 67
13:33
773
Logo Thai PBS
FTA อาเซียน-จีน ดัน"น้ำตาลแปรรูปไทย"สินค้ายอดฮิตแดนมังกร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พาณิชย์ ชิงตลาด FTA อาเซียน-จีน ดัน "น้ำตาลแปรรูป"ลุยตลาดแดนมังกร ชี้ 10 ปีมูลค่าการส่งออกสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท เผยสินค้าไทยโดดเด่น ผู้บริโภคต้องการสูง

วันนี้ (15 ก.พ.2567) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไปตลาดต่างประเทศปี 2566 พบว่า จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของไทย ครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 42 ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

โดยเฉพาะสินค้าน้ำตาลแปรรูป เช่น น้ำเชื่อม น้ำผึ้งเทียม คาราเมล หรือสารให้ความหวานอื่น ๆ ที่สามารถนำไปปรุงแต่งอาหาร เครื่องดื่ม และ ยา ถือเป็นสินค้าไทยที่โดดเด่นและมีความต้องการสูงมากในตลาดจีน

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวอีกว่า ปี 2566 จีนนำเข้าน้ำตาลแปรรูป มูลค่า 982.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยครองตลาดนำเข้าอันดับ 1 มูลค่า 853.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.88 ของปริมาณที่จีนนำเข้าจากโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 103.14

จากสถิติการนำเข้าน้ำตาลแปรรูป ย้อนหลัง 10 ปี พบว่าจีนนำเข้าจากไทยมีอัตราเติบโตสูงเฉลี่ยปีละร้อยละ 144.84

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้น้ำตาลแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทยสามารถครองอันดับ 1 ในตลาดจีนได้ คือการได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA อาเซียน-จีน (ASEAN – China Free Trade Agreement: ACFTA)

เนื่องจากในตลาดจีนสำหรับสินค้าน้ำตาลแปรรูป หากไม่ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ ACFTA จะต้องเสียภาษีศุลกากรนำเข้าปกติ (MFN Rate) ในอัตราร้อยละ 30 แต่จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นร้อยละ 0 เมื่อมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศกำกับไปด้วย สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่สินค้าน้ำตาลแปรรูปไทย

ปี 2566 ผู้ประกอบการขอออกหนังสือรับรองฯ Form E สำหรับสินค้าน้ำตาลแปรรูป เพื่อใช้สิทธิพิเศษขอยกเว้นภาษีนำเข้าที่จีน มีมูลค่า 833.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 29,099 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 97.62

อย่างไรก็ตามการนำสินค้าเกษตรเช่นน้ำตาลดิบมาแปรรูป จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าดังกล่าวของไทยและส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย เนื่องจากทำให้สินค้ามีความหลากหลายและมีตลาดที่กว้างขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

โดยน้ำตาลแปรรูปถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ส่งออกไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขัน การชิงความได้เปรียบและใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมีอยู่จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้สินค้าไทยสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับสินค้าน้ำตาลแปรรูป นอกจากตลาดจีนแล้ว อาเซียนถือเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพสูง

เนื่องจากมีประชากรกว่า 6 ร้อยล้านคน ซึ่งแนวโน้มน้ำตาลแปรรูปของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่สำคัญสินค้าน้ำตาลแปรรูปของไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 จากอัตราภาษีปกติ (MFN Rate) อยู่ระหว่างร้อยละ 3-15 ตลาดที่มีศักยภาพสูงในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ เมียนมา และอินโดนีเซีย เป็นต้น

อ่านข่าวอื่นๆ:

ดัน FTA เปิดตลาดการค้า "ภูมิธรรม"ถกอุตฯยานยนต์ แก้ส่งออก

เงินสะพัดตรุษจีน 4.9 หมื่นล้าน นทท.แห่เที่ยวไทยวีคละ 8 แสนคน

มาตรการรัฐดึงเงินเฟ้อ ม.ค.67 ลบ 1.11% ต่ำสุดในรอบ 35 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง