How to ช่วยเหลือ "คนถูกงูกัด" ก่อนส่งถึงมือหมอ

สังคม
16 ก.พ. 67
15:21
7,802
Logo Thai PBS
How to ช่วยเหลือ "คนถูกงูกัด" ก่อนส่งถึงมือหมอ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีอาสาสมัครถูกงูจงอางกัดจนหมดสติ ล่าสุดอาการทรงตัวอยู่ในการดูแลของแพทย์ สิ่งแรกที่ผู้ป่วยทำคือ "มีสติ" และขอความช่วยเหลือจากเพื่อนช่วยพยุงอาการจนส่งถึงมือแพทย์ได้ "การปฐมพยาบาลเบื้องต้น" ถือเป็นทักษะที่ทุกคนควรรู้ไว้ จะใช้ได้ในยามฉุกเฉิน

"งู" อาจเป็นสัตว์ที่น่ารักสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์แปลก กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมมีความรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติของงูเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนทั่วไป "งู" เป็นสัตว์อันตรายที่ไม่ว่าจะเป็นงูที่มีพิษหรือไม่มีพิษ ก็ไม่ควรเข้าใกล้ การจัดที่อยู่อาศัยให้โล่งโปร่ง ไม่เก็บของที่ไม่จำเป็นไว้จนบ้านรก จึงเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดที่จะลดความเสี่ยงเจองูได้

งูมีพิษ-ไม่มีพิษมีรอยเขี้ยวแบบไหน ?

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อถูกงูกัดให้สังเกตที่รอยเขี้ยว

ถ้างูไม่มีพิษ รอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว
ส่วนงูมีพิษ จะมีรอยเขี้ยว 2 จุดชัดเจน มีเลือดซึมออกจากแผล บริเวณรอบๆ รอยเขี้ยวมีสีคล้ำ หรืออาจพองเป็นถุงน้ำ

พิษของงูจะส่งผลต่อร่างกาย แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

  1. พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และ งูทับสมิงคลา
    อาการ เริ่มจากแขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด

  2. พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด (Hematotoxin) ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และ งูกะปะ
    อาการ เริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล เลือดออกจากอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เหงือก ไอ อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด เกิดจากภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

  3. พิษต่อกล้ามเนื้อ (Mytotoxin) ส่วนใหญ่จะเป็นพิษจากงูทะเล
แต่ไม่ว่าจะถูกงูมีพิษประเภทใดกัด สิ่งแรกที่ต้องทำคือ 
ตั้งสติ อย่าตกใจ ร้องเรียกความช่วยเหลือ เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด 
ภาพประกอบข่าว : งูกัดคน

ภาพประกอบข่าว : งูกัดคน

ภาพประกอบข่าว : งูกัดคน

รู้จัก "จงอาง" งูพิษอันตรายถึงตายใน 15 นาที

"งูจงอาง" จัดอยู่ในสกุล Ophiophagus ซึ่งเป็นงูเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุลนี้ มีรากศัพท์จากภาษาละตินแปลว่า "กินงู" เพราะงูในสกุลนี้ กินงูอื่นเป็นอาหาร พบในประเทศอินเดีย เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย สำหรับประเทศไทยพบมากในป่า จ.นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และในป่าทุกภาค แต่ชุกชุมทางภาคใต้มากที่สุด ในภาษาใต้เรียกว่า งูบองหลา ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

งูจงอางเป็นงูพิษที่มีลักษณะหัวกลมมน เกล็ดบริเวณส่วนหัวใหญ่ มีเขี้ยว 2 เขี้ยวที่ขากรรไกรด้านบน หน้าตาดุดัน จมูกทู่ ปกติงูจงอางจะเลื้อยช้าแต่จะมีความว่องไวและปราดเปรียวเมื่อตกใจ ถ้าพบเจอสิ่งใดแล้วไม่หยุดชูคอขึ้น จะเลื้อยผ่านไปเงียบ ๆ แต่ถ้าขดตัวเข้ามารวมเป็นกลุ่มแล้วยกหัวสูงขึ้น แสดงว่าพร้อมจู่โจมสิ่งที่พบเห็น

งูจงอางมีพฤติกรรมการฉกกัดแบบติดแน่น กัดแล้วจะย้ำเขี้ยว น้ำพิษมีสีเหลือง เหนียวหนืด พิษงูทำลายประสาทเช่นเดียวกับงูเห่าแต่เกิดอาการเร็วและรุนแรงกว่า เนื่องจากมีน้ำพิษปริมาณมาก เพราะงูจงอางมีขนาดโตกว่างูเห่า ผู้ถูกกัดจะมีอาการหนังตาตก ขากรรไกรแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ แน่นหน้าอก ตาพร่า อ่อนเพลีย เป็นอัมพาต อาจตายเพราะอาการหายใจล้มเหลว น้ำพิษของงูจงอางสามารถฉีดออกมาได้ถึง 380-600 มก. ในการฉกกัดแต่ละครั้ง ซึ่งอาจมีปริมาณมากถึง 10 เท่าของงูเห่า ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ ที่อันตรายคือกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจหยุดทำงาน ดังนั้นหากถูกกัดจะถึงแก่ความตายอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 15 นาที

ภาพประกอบข่าว : งูจงอาง

ภาพประกอบข่าว : งูจงอาง

ภาพประกอบข่าว : งูจงอาง

ห้ามทำเด็ดขาด! ขันชะเนาะ-ดูดพิษด้วยปาก 

การขันชะเนาะหรือการเอาผ้าผูกรัดอวัยวะที่อยู่เหนือแผลที่ถูกงูกัดเพื่อป้องกันพิษแล่นเข้าสู่หัวใจ ไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และถ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้อีกด้วย วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัดให้ทำดังนี้ 

  1. ตั้งสติให้ดี ผู้ป่วยที่ถูก "งูพิษ" กัดอาจ "ไม่ได้รับพิษ" เพราะงูไม่ปล่อยพิษออกมา หรืองูพิษตัวนั้นได้กัดสัตว์อื่นมาก่อนและไม่มีน้ำพิษเหลือ 

  2. ล้างแผลงูกัดด้วยน้ำสะอาด แอลกอฮอล์ และ ทิงเจอร์ เท่านั้น เพราะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ บริเวณปากแผล ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้ กรีดแผล ดูดแผลด้วยปาก ใช้บุหรี่หรือไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษา แต่กลับจะมีผลเสียคือเพิ่มการติดเชื้อ เนื้อตาย และจะทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาลโดยไม่จำเป็น 

  3. นอนนิ่งๆ จัดท่าให้ส่วนที่ถูกงูกัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ และอย่าเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็น เพื่อชะลอการดูดซึมพิษงูเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองและเส้นเลือดดำไหลเวียนเข้า "หัวใจ" ให้หาไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดแล้วใช้ผ้าพันให้แน่นพอประมาณเหนือแผลงูกัด ประมาณ 5-15 ซม. แต่ไม่ควรทำการขันชะเนาะ เพราะอาจทําให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเนื้อตายได้

  4. รีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลที่ใกล้และเร็วที่สุด ระหว่างการนำส่งสถานพยาบาล ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการปั๊มหัวใจ (CPR) เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นานพอจนได้รับการรักษาจากแพทย์-พยาบาล

    ผู้ป่วยที่ถูกงูที่มีพิษต่อระบบประสาทกัด อาจเป็นอัมพาตทั่วตัวคล้ายกับเสียชีวิต ห้ามหยุดให้การช่วยเหลือ และให้รีบส่งผู้ป่วยไปสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ผู้ประสบเหตุหรือผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ หากเป็นไปได้ ให้แจ้งแพทย์ให้ทราบถึงชนิดงู บริเวณที่ถูกกัด และเวลาที่เกิดเหตุ แต่หากทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะจะทำให้เสียเวลาในการรักษาโดยไม่จำเป็น ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรือเคยมีประวัติแพ้ยาหรือสารใดๆ ให้แจ้งแพทย์ทราบด้วย

ผู้ถูกงูกัดไม่จำเป็นต้องได้รับเซรุ่มแก้พิษงูทุกราย ปัจจุบันใช้การดูรอยกัดและลักษณะแผลเพื่อกำหนดการใช้เซรุ่มต้านพิษงู โดยแพทย์จะให้เซรุ่มแก้พิษงูเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

อ่าน : ส่งกำลังใจช่วย "อั๋น ทีมอสรพิษ" งูกัดเส้นเลือดดำ

สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม จังหวะปั๊มหัวใจ CPR

การทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) ใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่ "หมดสติและหัวใจหยุดเต้น" ผู้ช่วยเหลือต้องรีบทำ CPR ทันทีภายในเวลา 4 นาทีแรกหลังจากผู้ป่วยหยุดหายใจ ป้องกันเซลล์สมองขาดออกซิเจน 

การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน

เมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและภาวะหยุดหายใจขึ้นแล้ว ประชาชนผู้ให้การช่วยเหลือ สามารถใช้หลักการจำขั้นตอนที่สำคัญ 4 หลักการสั้นๆ ได้แก่

  1. ประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยว่ามีสติหรือไม่ โดยการปลุกเรียกและดูการเคลื่อนไหวที่หน้าอกว่าหายใจหรือไม่
  2. ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ฉุกเฉิน ตามเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ : เครื่องเออีดี (AutomatedExternal Defibrillator : AED)
  3. ปฏิบัติตามขั้นตอน
    • การช่วยกดหน้าอก
    • การเปิดทางเดินลมหายใจให้โล่ง
    • การช่วยหายใจ
  4. การช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติโดยใช้เครื่องเออีดี

เทคนิคในการกดหน้าอก

  1. วางมือลงบนตำแหน่งที่ถูกต้อง ระวังอย่ากดลงบนกระดูกซี่โครง เพราะจะเป็นต้นเหตุให้ซี่โครงหัก
  2. แขนเหยียดตรงอย่างอแขน โน้มตัวให้หัวไหล่อยู่เหนือผู้หมดสติ โดยทิศทางของแรงกดดิ่งลงสู่กระดูกหน้าอก
  3. กรณีผู้ใหญ่ กดหน้าอกให้ยุบลงไปอย่างน้อย 2 นิ้ว (5 ซม.) 
    ภาพประกอบข่าว : การวางมือเพื่อทำ CPR ผู้ใหญ่

    ภาพประกอบข่าว : การวางมือเพื่อทำ CPR ผู้ใหญ่

    ภาพประกอบข่าว : การวางมือเพื่อทำ CPR ผู้ใหญ่

  4. กรณีเด็ก กดหน้าอกให้ยุบลงอย่างน้อย 1/3 ของความหนาของทรวงอกเด็ก 
  5. กรณีทารก กดหน้าอกให้ยุบลงอย่างน้อย 1/3 ของความหนาของทรวงอกทารก
    ภาพประกอบข่าว : ตำแหน่งและนิ้วที่ใช้ CPR เด็กทารก

    ภาพประกอบข่าว : ตำแหน่งและนิ้วที่ใช้ CPR เด็กทารก

    ภาพประกอบข่าว : ตำแหน่งและนิ้วที่ใช้ CPR เด็กทารก

  6. ในจังหวะปล่อยต้องคลายมือขึ้นมาให้สุด เพื่อให้หน้าอกคืนตัว กลับมาสู่ตำแหน่งปกติก่อนแล้วจึงทำการกดครั้งต่อไป อย่ากดทิ้งน้ำหนักไว้ เพราะจะทำให้หัวใจคลายตัวได้ไม่เต็มที่ ห้ามคลายจนมือหลุดจากหน้าอก เพราะจะทำให้ตำแหน่งของมือเปลี่ยนไป
เคล็ดลับการกดหน้าอก ต้องกดให้เร็ว ให้ลึก และให้แรง ด้วยจังหวะตามเพลง "สุขกันเถอะเรา" 
สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม อย่ามัวอาลัยคิดร้อนใจไปเปล่า ... 

การทำ CPR จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้ผู้หมดสติได้ เมื่อพบผู้หมดสติต้องรีบให้การช่วยเหลือทันที และเมื่อช่วยเหลือแล้ว ถ้าเป็นไปได้ "อย่าหยุดปั๊ม" หรือให้เรียกคนที่ทำ CPR ได้มาปั๊มหัวใจแทน วนกันไปเรื่อยๆ จนกว่าหน่วยแพทย์กู้ชีพ หรือ ผู้ใช้เครื่อง AED เป็นจะมาถึง  

รู้หมือไร่ : หลักสูตร CPR ในปัจจุบันหลังยุคโควิด-19 ผู้ให้การช่วยเหลือหากไม่ต้องการเป่าลมเข้าปาก ก็สามารถทำได้ แต่ต้องปั๊มหัวใจไปเรื่อยๆ จนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง 

อ่าน : 10 ชนิด "งูพิษ" ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก

ที่มา : ศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง