ร้อนฉ่า! ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย ก.พ.นี้ แตะ 43-44.5 องศาฯ

ภัยพิบัติ
17 ก.พ. 67
14:52
3,106
Logo Thai PBS
ร้อนฉ่า! ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย ก.พ.นี้ แตะ 43-44.5 องศาฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุตุนิยมวิทยา ตอบข้อสงสัย เช้านี้ (17 ก.พ.) ฝนตกหลายพื้นที่ของ กทม.และปริมณฑล สัญญาณเข้าสู่ฤดูร้อนปลายเดือนก.พ.นี้ ระบุอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปีก่อน 1-2 องศาฯ บางพื้นที่อาจแตะ 43- 44.5 องศาฯ

วันนี้ (17 ก.พ.2567) เพจเฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา โพสต์ข้อความระบุว่า หลายคนสงสัยว่าทำไมเช้านี้ที่ กทม.และปริมณฑล ถึงมีฝน ฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น เนื่องมาจากวันนี้ เช้าตรู่มีลมฝ่ายใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ (ลมที่พัดมาจากอ่าวไทย) ซึ่งนำความชื้นเข้ามาปกคลุมภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล

ประกอบกับลมระดับบน มีกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคกลางตอนบนและภาคเหนือ ลมเริ่มเปลี่ยนทิศทางจากเดิมที่เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล

ซึ่ปกติกลางเดือน ก.พ.จะเริ่มปรากฏชัดขึ้น ส่วนจะเข้าสู่ฤดูร้อนตามเงื่อนไขช่วงใด ต้องติดตามประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง คาดว่าจะประมาณปลายเดือนนี้ (ปี 2566 ประกาศการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อน 5 มี.ค.2566)

อ่านข่าว เร่งจับ "เสือโคร่ง" โผล่ชิลกลางหมู่บ้าน-ไม่ปิดเที่ยวคลองลาน

ไทยอุณหภูมิฤดูร้อนสูงกว่าค่าปกติ 1-1.5 องศาฯ 

นายสมควร ต้นจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของไทย พ.ศ.2567 คาดว่าจะเริ่มประมาณต้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนก.พ.นี้ และจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้

นายสมควร กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ปี 2567 อากาศจะร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลจากเอลนีโญ และประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีฝนน้อย ดังนั้นจึงมีอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิสูงที่สุด 43-44.5 องศาเซลเซียส ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมี.ค.ถึงต้นเดือนพ.ค.นี้ 

ภาพรวมปี 2567 อุณหภูมิฤดูร้อนกว่าค่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ มีโอกาสที่อุณหภูมิบางจังหวัด เช่น ลำปาง ลำพูน ตาก ร้อนจัด 43.-44 องศาเซลเซียส

สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย บริเวณประเทศไทยตอนบน 36-37องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1-1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส) 

ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิ 43–44.5 องศาเซลเซียส บริเวณจ. เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลางและตะวันออก อุณหภูมิ 42–44 องศาเซลเซียส บริเวณจ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กทม. นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี  สระแก้ว

ภาคใต้ อุณหภูมิ 40-41 องศาเซลเซียส บริเวณ จ. ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ภูเก็ต กระบี่ตรัง และสตูล

กทม.-ปริมณฑล อุณหภูมิ 40–41 องศาเซลเซียส

อ่านข่าว รายได้ปริศนา! สรรพากร แจงระบบ My Tax Account คลาดเคลื่อน

สถิติปี 2566 ร้อนสุดอยู่ที่ไหน

  • ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2566 อ.เมือง ตาก 44.6 องศาเซลเซียส
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2566 อ.เมือง อุดรธานี 43.2 องศาเซลเซียส
  • ภาคกลาง เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 42.2 องศาเซลเซียส
  • ภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2566 อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 40.4 องศาเซลเซียส
  • ภาคใต้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2566 อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 38.8 องศาเซลเซียส
  • กทม.และปริมณฑล เมื่อวันที่  20 เม.ย.2566 อ.เมือง 40 องศาเซลเซียส

อ่านข่าวอื่นๆ

สภาพอากาศวันนี้ ทั่วไทยเจอฝน 10-20% อากาศร้อนทะลุ 30 องศาฯ

วันหยุดเมษายน 2567 : รื่นเริงเถลิงศกหยุดยาวสงกรานต์ 5 วันรวด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง