จับตา! บอร์ดนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถกเคาะเพิ่มเวลาขาย

สังคม
19 ก.พ. 67
11:34
4,181
Logo Thai PBS
จับตา! บอร์ดนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถกเคาะเพิ่มเวลาขาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมพิจารณายกเลิกข้อห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. โดยอาจนำร่องยกเลิกในบางจังหวัดก่อน

วันนี้ (19 ก.พ.2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งมีประเด็นการพิจารณาคือการยกเลิกข้อห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. อาจจะนำร่องยกเลิกในบางจังหวัดก่อน รวมถึงยกเลิกข้อบังคับการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งได้ประกาศใช้มาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยสาเหตุอ้างว่า พบว่าไม่มีข้อเสียโดยตรงต่อปริมาณการดื่ม หรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

ก่อนที่จะมีการหารือในวันนี้ (19 ก.พ.) คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หารือประเด็นดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งการหารือของคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า ไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดเพิ่มหรือลดเวลาขายได้ แต่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความเห็นที่จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2 เรื่องคือ เรื่องความเหมาะสม มีการหยิบยกการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสุขภาพ โดยใช้ข้อมูลอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ 2567 ที่พบว่าร้อยละ 25 ของอุบัติเหตุทั่วประเทศเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

และอีกเรื่องคือเรื่องข้อกฎหมาย หากจะขยายเวลาจำหน่ายจะต้องพิจารณาถึงกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 และประกาศคณะปฏิวัติ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2515 มาประกอบการพิจารณา

เดิมประเทศไทยจำกัดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ อนุญาตให้ขายได้ 2 ช่วง ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และอีกช่วงคือตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น. ขายได้รวม 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในการหารือรอบนี้จะพูดคุยถึงการยกเลิกช่วงห้ามขายตั้งแต่เวลา 14.00-17.00 น. เท่ากับเวลาขายจะเพิ่มเป็นประมาณ 14 ชั่วโมง

แนวคิดเรื่องการขยายเวลาขาย เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับแนวคิดนำร่องขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงที่ให้เปิดได้ถึง 04.00 น. แต่จำกัดเวลาขยายแอลกอฮอล์ได้ถึง 02.00 น. ด้วยสมมติฐานที่ว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจกลางคืนและเสริมการท่องเที่ยว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นการศึกษามูลค่าที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพียงแต่ที่น่าจะชัดเจนในขณะนี้คืออาจไม่ขยายเวลาในการเปิด หรือเวลาจำหน่ายแอลกอฮอล์สถานบันเทิงยามค่ำคืน

แต่เรื่องการขยายเวลาขายช่วงกลางวัน สืบเนื่องจากข้อเรียกร้องของฝั่งธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจสถานบริการยามค่ำคืนอีกเช่นกัน ซึ่งมองว่าการขยายเวลาขายจะมีประโยชน์และคุ้มค่าในการปรับเปลี่ยนแนวคิดมากกว่า ซึ่งหากปลดล็อกก็อาจจะขายได้มากขึ้น เพียงแต่ต้องชั่งน้ำหนักกับความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าไม่น่าจะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มาในทางเศรษฐกิจ

อ่านข่าว : 4 จังหวัดปิดผับตี 4 ทำยอดเสียชีวิตเมาแล้วขับเพิ่ม 100 คน/ปี

ก่อนหน้านี้ นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้อมูลปรากฏชัดจากการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนถึง 04.00 น. ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด เพียงเหตุผลเดียวเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนเดือน ม.ค.เดือนเดียวในปี 2567 เทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2566 พบข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีน้ำเมาเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นชัดเจน โดย กทม.เพิ่มถึง 46.6% ภูเก็ตเพิ่ม 35.7% เชียงใหม่เพิ่ม 22.5% ส่วนชลบุรีและเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มกว่า 10%

ตามมาด้วยข้อมูลของ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่พบว่า การขยายเวลาปิดสถานบริการในเวลา 04.00 น. ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กทม. เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และเกาะสมุย ซึ่งมีสถานบริการขึ้นทะเบียนประมาณ 1,800 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 ฐานข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเดือน ม.ค.2567 ในพื้นที่นำร่องรวม 205 คน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.2566 ที่ยังไม่มีนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 49 คน คิดเป็น 31%

เฉพาะช่วงเวลา 02.00-05.59 น.หลังมีนโยบาย พบการเสียชีวิต 18 คนเพิ่มจากปีก่อน 8 คน หรือเพิ่มขึ้น 80% แนวโน้มนี้เหมือนกันทั้ง 4 จังหวัด จึงยืนยันได้ว่านโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สถานบริการ เกิดผลกระทบรุนแรงคือเพิ่มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเวลาเช้าตรู่อย่างน้อยที่สุด 8 คนต่อเดือน หรือประมาณ 100 คนต่อปี

หากมีการขยายเวลาขาย อาจยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อความสูญเสียอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่อุบัติเหตุ แต่ยังรวมถึงโรคภัย หรือการกระทำอันเกิดจากการขาดสติเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่รวมภาระทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่อาจเพิ่มสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่ควรนำไปรวม หากจะประเมินความคุ้มค่าของการปรับเปลี่ยนมาตรการที่มีในด้านเศรษฐกิจ

อ่านข่าวอื่นๆ

"ทักษิณ" ออกจากบ้านจันทร์ส่องหล้า นั่งรถเข็น พบ อสส.​แจงคดี ม.112

ยังไม่จบคดี ม.112 อัยการนัด "ทักษิณ" 10 เม.ย.นี้

กทม.เปิดตลาดนัดแก้หนี้ คนลงทะเบียน 9,342 แก้ยอดหนี้กว่า 90 ล้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง