“มูลนิธิสืบฯ” ค้านผ่านรายงาน "โครงการอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์"

สิ่งแวดล้อม
20 ก.พ. 67
10:45
379
Logo Thai PBS
“มูลนิธิสืบฯ” ค้านผ่านรายงาน "โครงการอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“มูลนิธิสืบฯ” เปิด 6 เหตุผล ค้าน คชก.ผ่านรายงาน "โครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์” ระบุ กระทบถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าสำคัญ เช่น เสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง วัวแดง ฯลฯ

วันนี้ (20 ก.พ.2567) จากกรณีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทาน ดำเนินโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ.บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี มาตั้งแต่ปี 2566

โดยได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ และส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ตรวจสอบ

ล่าสุด วันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุถึง ความคืบหน้า กรณี “คัดค้านการผ่านรายงานการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์” ว่า

เนื่องจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้คัดค้านการผ่านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี ของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง แมวลายหินอ่อน กระทิง วัวแดง ช้างป่า และพบว่าพื้นที่ก่อสร้างมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันตกอยู่ใน อ.ศรีสวัสดิ์

ถัดไปด้านตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขาอยู่ใน อ.บ่อพลอย หนองปรือ เลาขวัญ และห้วยกระเจา พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีปัญหาเรื่องสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ เช่น ช้างป่า หากมีการขุดเจาะอุโมงค์อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า

2.โครงการยังไม่ได้มีการเข้ามาหารือกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรอย่างเป็นทางการ ตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้เสนอแนะ

3.โครงการไม่ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ 1 และ 7 มีเพียงการใช้ข้อมูลทุติยภูมิประกอบการทำรายงาน และการดำเนินโครงการดังกล่าวต้องมีการสำรวจ เก็บข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า สภาพธรณีวิทยา และสภาพภูมิประเทศ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้ข้อมูลทุติยภูมิอาจทำให้ขาดข้อมูลสำคัญที่ควรนำมาวิเคราะห์ผลกระทบ และวิเคราะห์แนวทางในการแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน

4.โครงการควรศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสัตว์ป่าในโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ของกรมชลประทาน ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อวิเคราะห์ระดับคลื่นความถี่ของความสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะอุโมงค์ว่าระดับความลึกของการขุดเจาะจะมีผลกระทบต่อสัตว์ป่าขนาดใหญ่หรือไม่ และนำเข้าการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ อีกครั้งก่อนผ่านรายงาน

5.หากดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ 1 และ 7 จะตัดผ่านกลางเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ผ่านลุ่มน้ำชั้น 1A เพื่อผันน้ำไปลงอ่างเก็บน้ำลำอีซู พื้นที่ตามแนวอุโมงค์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่หากดำเนินการจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาในพื้นที่แนวอุโมงค์

6.กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี โดยไม่ต้องใช้ทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยตรง และควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครอง

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำจดหมายตอบกลับส่งถึงประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงวันที่ 31 ม.ค.2567 โดยนำข้อความกังวลดังกล่าวเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567

โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติยืนยันตามมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 26/2566 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2566 ให้นำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าว ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุง แก้ไข รายละเอียดข้อมูลตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรีต่อไป

เนื่องจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้พิจารณาตามหลักวิชาการอย่างรอบคอบและครบถ้วนในทุกมิติแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการแจ้งกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะเจ้าของโครงการเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มาของโครงการ

โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ.บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

สภาพปัญหา

เนื่องจาก อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือ และอ.พนมทวน เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ซ้ำซากของ จ.กาญจนบุรี จึงส่งผลให้ราษฎรประสบปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เป็นอย่างมาก และด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว

ลักษณะโครงการ

ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย) พร้อมวางระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ในเขต อ.บ่อพลอย (ฝั่งตะวันออกของลำตะเพิน) อ.ห้วยกระเจา และ อ.เลาขวัญ มีรายละเอียดดังนี้
- อุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ – อ่างเก็บน้ำลำอีซูขยาย (ขยาย) ขนาดอุโมงค์ ø4.20 เมตร ความยาวอุโมงค์ 20,500 เมตร
- ระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซูขยาย (ขยาย) – บ่อพักน้ำหลุมรัง ท่อส่งน้ำเหล็กเหนียว ขนาดท่อ ø2.50 เมตร ความยาวท่อ 14,195เมตร
- บ่อพักน้ำหลุมรัง ขนาด 651 ไร่ ความลึกน้ำ 4.00 เมตร ความจุบ่อพักน้ำ 3.70 ล้านลูกบาศก์เมตร
- ระบบส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรังไปยังพื้นที่รับประโยชน์ คลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ความกว้างก้นคลอง 3.00 เมตร ความลึก 2.20 เมตร ความยาวคลองรวม 94.165 กิโลเมตร

ประโยชน์ที่ได้รับ

1.ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ อ.บ่อพลอย ห้วยกระเจา และเลาขวัญ จ.กาญจนบุรี 2.90 ล้าน ลบ.ม./ปี
2.ปริมาณน้ำเพื่อบรรเทาความขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ อ.บ่อพลอย (ฝั่งตะวันออกของลำน้ำลำตะเพิน) อ.ห้วยกระเจา และ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี 486,098 ไร่

แผนงานก่อสร้าง

โครงการ 5 ปี (พ.ศ. 2568-2572)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง