"โรคซึมเศร้า" ต้องช่วยกันซึมซับ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเศร้า

ไลฟ์สไตล์
20 ก.พ. 67
15:43
3,712
Logo Thai PBS
"โรคซึมเศร้า" ต้องช่วยกันซึมซับ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเศร้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ซึมเศร้า" ไม่ใช่ความอ่อนแอทางจิตใจแต่เป็นภัยเงียบด้านสุขภาพ ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคนี้สะสมมากถึง 1.2 ล้านคน แต่ได้รับการรักษาเพียงครึ่งเท่านั้น การรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคนี้ต้องใช้ความร่วมมือ ร่วมใจ ทั้งจากผู้ป่วยและคนใกล้ชิด และการกินยาตามแพทย์สั่ง

เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคนบนโลก ที่จะเกิดความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง เสียใจ แต่ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งวันติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการเบื่อหน่าย หมดความสนใจในการงานหรือกิจกรรมที่เคยชอบทำ นั่นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของ "โรคซึมเศร้า" ได้

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

โรคซึมเศร้าเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากความเครียดสะสม ปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ การสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต การมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางชนิด

สาเหตุหลักๆ คือความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองอย่างสาร เซโรโทนิน และ นอร์เอพิเนฟรีน ที่ลดลงกว่าระดับปกติ ที่ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและระดับความสุขในชีวิต

ในสังคมยุคออนไลน์ที่ทุกอย่างถูกส่งต่อและรับกลับอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมออฟไลน์นั้นยิ่งห่างไกลกันมากขึ้น การนั่งข้างกันที่ไม่ได้มีความหมายตามการกระทำ ต่างฝ่ายที่ต่างก้มหน้าเข้าหาโลกโซเชียลในออนไลน์

ยังไม่นับปัจจัยอื่น ทั้งความเครียดสะสม กิจวัตรเดิมๆ ที่ต้องเจอเป็นประจำ เช่น การฝ่ารถติดบนท้องถนน ปัญหาความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งยอดผู้ติดตาม หรือ คอมเมนต์ จากชาวเน็ต ที่มีส่วนทำให้ "คน" ห่างกันมากขึ้นในชีวิตจริง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

เช็กอาการเข้าข่าย "ซึมเศร้า" หรือไม่

"โรคซึมเศร้า" เป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ มีอาการหลักๆ คือ อารมณ์เศร้า ท้อแท้ ซึม หงอย ทั้งที่ตัวเองรู้สึกหรือคนอื่นก็สังเกตเห็น เกิดอาการเบื่อ ไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม ร่วมกับมีอาการเหล่านี้รวมกันอย่างน้อย 5 อาการ ได้แก่

  1. เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป
  2. หลับยาก หลับตื่นๆ หรือหลับมากไป
  3. คิดช้า พูดช้า ทำอะไรช้าลง หรือหงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้
  4. รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยใจ ไม่มีแรง
  5. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  6. สมาธิความคิดอ่านช้าลง
  7. คิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือ อยากทำร้ายตนเอง
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่เกือบทั้งวัน ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สถิติจาก ศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย ระบุว่า มีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสะสมถึง 1.2 ล้านคน (ข้อมูลเดือน ม.ค.2567)

สิ่งสำคัญ "การยอมรับ"

  1. ยอมรับว่า "โรคซึมเศร้า" เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอด้านจิตใจ และไม่ได้เป็นบ้า
  2. ยอมรับว่า ต้องเข้ารับการรักษาทันที ไม่อย่างนั้นจะมีอาการรุนแรงขึ้น
  3. ยอมรับว่า ในขั้นตอนการรักษาจะกินเวลานานตั้งแต่ 6 เดือนจนถึงเป็นปี 
  4. ยอมรับว่า เป็นได้ก็หายได้
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ช่วยซึมซับไม่ให้ซึมเศร้า

อีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยซึมเศร้าจะหายจากโรคได้ คือ "คนรอบข้าง" ที่ต้องเข้าใจและพร้อมให้การช่วยเหลือ เริ่มต้นต้องหาความรู้ สร้างความเข้าใจให้ตัวเองถึงแนวทางปฏิบัติกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จากนั้นจึงให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป ได้แก่

  • ชวนผู้ป่วยลุกมาทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว เพื่อลดโอกาสคิดฟุ้งซ่าน คิดหดหู่ มากไปกว่านั้นการเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยหลั่งสารความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา 
  • รับฟังด้วยความตั้งใจ ด้วยท่าทีสบาย ไม่คะยั้นคะยอ ไม่ตัดสินใจแทน
  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักมีความคิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น การให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึก ต้องให้พวกเขารู้สึกก่อนว่ามีคนอยากรับฟัง และไม่กดดัน หรือตัดสินเขา
  • สร้างความไว้วางใจ และบรรยากาศสบาย จะช่วยให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูดออกมาเต็มที่
  • หากผู้ป่วยมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด 
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

เป็นซึมเศร้าต้องรักษา

การรักษาโรคซึมเศร้า ทำได้ด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยา ในผู้ป่วยบางคนอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค 

  1. รักษาด้วยจิตบำบัด ได้แก่ จิตบำบัดแบบประคับประคอง จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นการปรับความคิดความเข้าใจ จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด ทั้งนี้ ผู้บำบัดจะพิจารณารูปแบบของการบำบัดตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย

  2. รักษาด้วย dTMS (deep Transcranial Magnetic Stimulation) คือการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นสมองในตำแหน่งที่ต้องการ เหนี่ยวนำให้ปล่อยประจุไฟฟ้าเข้าไปปรับสมดุลทุกส่วนที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนที่กระตุ้น ช่วยให้สารเคมีในสมองกลับมาทำงานเป็นปกติ

  3. รักษาด้วยยา จะมีจิตแพทย์เป็นผู้ประเมินอาการ เพื่อพิจารณายาที่ใช้ในการรักษา แล้วนัดติดตามผลการรักษา ก่อนปรับขนาดยาขึ้นทุกๆ 1-2 สัปดาห์ จนเห็นผลการรักษาที่ดี การกินยาจะไม่ทำให้ดีขึ้นทันทีที่กิน ต้องมาพบจิตแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษาเรื่อยๆ เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น ต้องกินยาต่อเนื่องอีก 4-6 เดือน แล้วจึงค่อยลดขนาดยาลงจนหยุดยาได้ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ป้องกันโรคซึมเศร้าในยุคออนไลน์

  1. จำกัดเวลาการใช้สมาร์ตโฟน ควรตั้งกฏไว้ว่าใน 1 วันจะเล่นโซเชียลไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อให้มีเวลาทำกิจกรรมอื่นสร้างสารเอ็นโดรฟินให้ร่างกาย
  2. เสพสื่อที่สร้างสรรค์ รายการประเภทจุดประกายให้ชีวิต เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ตัวเองสร้างแรงบันดาลใจให้อยากออกไปใช้ชีวิตในสังคม โลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
  3. ทำในสิ่งที่รักและสนใจ เช่น ลองทำ Vlog เรื่องที่ถนัดและแชร์ออกไป นอกจากจะสร้างความภูมิใจให้ตัวเองแล้ว ยังสามารถเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นได้อีกด้วย 
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ในร่างกายของเรา มี "ระบบประสาทอัตโนมัติ" ที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่างซึ่งทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ เช่น การกระพริบตา, การหายใจ, การเต้นของหัวใจ, การหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้จะทำงานเองตลอดเวลาตั้งแต่แรกเกิด เพื่อทำให้ร่างกายมีชีวิตต่อไป ถือเป็นกลไกป้องกันตัวเองอย่างหนึ่ง

ภาวะซึมเศร้า คือการต่อสู้ของร่างกายที่ไม่ยอมหยุดการทำงาน กับ จิตใจที่อยากหยุดความเหนื่อยล้าลงทุกอย่าง บางครั้ง การระบาย หรือ การพิมพ์ข้อความ ผ่านโลกโซเชียล อาจคือเสียงขอความช่วยเหลือของร่างกาย ที่พยายามจะบอกในวันที่จิตใจไม่พร้อมจะไปต่อ อย่ามองผ่านกับโพสต์ของคนรอบข้าง เพราะนั่นไม่ใช่เสียงเรียกร้องความสนใจ แต่คือการขอความช่วยเหลือจากคนๆ หนึ่ง  

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ที่มา : ศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย, รพ.เปาโล, กรมสุขภาพจิต

อ่านข่าวอื่น :

วิกฤตป่วย "ทักษิณ" 180 วัน ตั้งแต่กลับไทยถึงพักโทษ

เช็กขั้นตอนใช้สิทธิ "UCEP" เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรี 72 ชม. ทุก รพ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง