เข้มมาตรการป้องกันเหตุซ้ำ หลังพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 3 คน

สังคม
21 ก.พ. 67
07:10
648
Logo Thai PBS
เข้มมาตรการป้องกันเหตุซ้ำ หลังพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 3 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่เพชรบูรณ์มีเหตุเด็กหญิงจมน้ำเสียชีวิต 2 คน ขณะที่อุบลราชธานีเด็ก 10 ขวบจมน้ำใช้เวลากว่า 3 วันถึงพบร่าง กรมควบคุมโรคเผยสถิติ 5 ปีมีเด็กจมน้ำเกือบพันคน หลายพื้นที่ใน กทม.เปิดสอนว่ายน้ำ ขณะที่ในต่างประเทศบังคับเรียนในโรงเรียน

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 ตำรวจ สภ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เข้าตรวจสอบร่าง เด็กชายอายุ 10 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ร.ร.บ้านม่วงเฒ่า ต.หัวนา อ.เขมราฐ โดยเด็กชายจมน้ำเสียชีวิตที่หาดทรายสูง บ้านลาดเจริญ ต.นาแวง อ.เขมราฐ ตั้งแต่ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา

จากการสอบสวนทราบว่า ในวันเกิดเหตุเด็กชาย พร้อมด้วยพี่สาวอายุ 13 ปี และ ตาของผู้เสียชีวิต ได้มาเล่นน้ำคลายร้อนที่หาดทรายสูง แหล่งท่องเที่ยวตากอากาศของอำเภอ เเต่ได้ไปในจุดวังน้ำวนที่มีทรายดูด ตาได้ช่วยดันตัวพี่สาวให้พ้นวังน้ำวน ก่อนที่ตัวเองจะตามขึ้นมาเป็นคนที่ 2 ช่วงนั้นเป็นจังหวะพอดีที่เด็กชายผู้เสียชีวิต ที่เดินตามลงไปเล่นน้ำในจุดนั้นด้วย ถูกกระแสน้ำวนดูดร่างจมหายไป โดยที่ตาและพี่สาวเข้าช่วยเหลือไม่ทัน ทำให้เสียชีวิตในที่สุด

ด้านนายอำนาจ ชาญกล้า ปลัดอำเภอเขมราฐ กล่าวถึงมาตรการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำในช่วงหน้าร้อนว่า จะติดป้ายเตือนและห้ามลงเล่นน้ำในจุดที่เป็นกระแสนน้ำวน พร้อมให้จัดกำลังอาสาสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาดูแลการลงเล่นน้ำของนักท่องเที่ยว และจัดห่วงยางเพิ่มความปลอดภัย โดยเมื่อ 2 ปีก่อน จุดนี้ก็มีเด็กชาวจังหวัดอำนาจเจริญมาจมน้ำเสียชีวิต 2 คนมาแล้ว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

เด็กหญิงชาวเพชรบูรณ์จมน้ำเสียชีวิต 2 คน 

เจ้าหน้าที่กู้ชีพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่าและอาสามูลนิธิสว่างมงคลศรัทธาธรรมสถานได้ช่วยเหลือเด็กจมน้ำบริเวณสระน้ำหน้าวัดโพธิ์ชัย หมู่ที่ 8 ต.หินฮาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 2 คนเป็นเด็กหญิง คนแรก เด็กหญิงอายุ 12 ปี เรียนชั้น ป.6 และ เด็กหญิงอายุ 10 ปี เรียนอยู่ชั้น ป.4 ทั้ง 2 คนอยู่หมู่บ้านเดียวกัน

จากการสอบสวนพบว่า ในวันดังกล่าวเด็กทั้ง 2 คน พร้อมด้วย เพื่อนอีกคน มีบ้านอยู่ใกล้กัน ได้ชักชวนกันมาเล่นน้ำ แต่เพื่อนซึ่งตัวเล็กกว่า ไม่ได้ลงไปเล่น ขณะที่ ด.ญ.12 ปี และ ด.ญ.10 ปี กำลังว่ายน้ำเล่นอยู่นั้น จู่ๆ ได้จมหายไปในน้ำเป็นเวลานาน เพื่อนที่ไม่ได้ลงเล่นน้ำจึงวิ่งไปบอกญาติๆ ให้มาช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ทันเนื่องจากทั้ง 2 คน จมหายไปเป็นเวลานานกว่า 30 นาทีแล้ว

ญาติไม่ติดใจในสาเหตุของการเสียชีวิต ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้มอบร่างของผู้เสียชีวิตให้ญาตินำกลับไปบำเพ็ญกุศล ตามประเพณีทางศาสนา ต่อไป

กรมควบคุมโรคเผย 5 ปีเด็กจมน้ำเกือบพันคน

กรมควบคุมโรค เผยสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิตช่วงปิดเทอม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 - 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม (เดือน มี.ค. - พ.ค.) จำนวน 953 คน เฉลี่ยวันละ 2 คน เดือน เม.
ย. พบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด 65 คน รองลงมาคือ เดือน มี.ค. 64 คน และเดือน พ.ค. 63 คน แหล่งน้ำที่พบว่าเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ

  • แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ร้อยละ 76.5
  • เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ร้อยละ11.1
  • ทะเลร้อยละ 5.3
  • ภาชนะภายในบ้านร้อยละ 3.5
  • สระว่ายน้ำ สวนน้ำร้อยละ 1.8
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด ร้อยละ 59.4 รองลงมาคือพลัดตกลื่น ร้อยละ 21.5 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง และขาดความรู้เรื่องแหล่งน้ำเสี่ยง กรมควบคุมโรคแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กๆ ไปเรียนรู้เรื่องน้ำ โดยแนะนำเป็นช่วงอายุ

  1. อายุ 6 ปีขึ้นไป ควรได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด
  2. เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่แขน เอื้อมถึงหรือคว้าถึงผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด 
  3. แนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมเสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ

หลายพื้นที่เปิดหลักสูตรสอนว่ายน้ำเยาวชน

ส่วนในที่ชุมชนควรมีการเฝ้าระวังแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในชุมชน ห้ามให้เด็กลงไปเล่นน้ำตามลำพังโดยเด็ดขาด และสถานที่ที่เปิดให้บริการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำที่เพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย กำหนดบริเวณสำหรับเล่นน้ำ มีเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด คอยดูแล แบ่งเขตพื้นที่สำหรับเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำที่ปลอดภัย ติดป้ายแจ้งเตือน เช่น ห้ามลงเล่นน้ำ น้ำลึก น้ำวน และจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำ และป้ายขอความช่วยเหลือเบอร์ 199 หรือหากได้รับบาดเจ็บให้ โทร 1669

การจมน้ำเสียชีวิตไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นและมีรายงานต่อเนื่อง แม้หลายฝ่ายโดยเฉพาะครอบครัวจะเฝ้าระวังก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม ที่อากาศร้อนและเด็กๆ ก็มักจะแอบไปเล่นน้ำ การดูแล เฝ้าระวังจึงจำเป็น สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือการฝึกให้เด็กๆ ว่ายน้ำให้เป็น เอาตัวรอดให้ได้ ซึ่งจากตัวเลขสถิติหลายหน่วยงานก็ตื่นตัวพร้อมช่วยเหลือ กรมพลศึกษา ประกาศรับสมัครคนที่สนใจเรียนว่ายน้ำ และ กีฬาชนิดอื่นๆ เปิดรับสมัครแล้ว ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 18 มี.ค. และเริ่มเรียน 25 มี.ค. - 26 เม.ย. ก็ถือเป็นช่วงปิดเทอมพอดี 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ส่วน กทม.ได้จัดให้มีสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐานสำหรับฝึกหัดว่ายน้ำ และมีครูสอนสำหรับเยาวชน และคนทั่วไปที่สนใจ ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ซึ่งขณะนี้เปิดบริการแล้วอย่างน้อย 6 แห่ง ใช้บริการได้ เพียงสมัครสมาชิกรายปีเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ รวมถึงว่ายน้ำโดยชำระค่าลงสระในราคาเริ่มต้น 10-60 บาท หรือ ถ้าจะส่งไปเรียนเองก็มีก็จะมีค่าใช้จ่ายแพงขึ้น บางพื้นก็หลักหมื่นบาท 

แม้ปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานเปิดหลักสูตรสอนว่ายน้ำให้เยาวชนฟรี แต่ก็อาจไม่ได้ครอบคลุมเด็กทุกกลุ่ม ขณะที่ค่าเรียนว่ายน้ำ ก็อาจเป็นอีกข้อจำกัดในการเข้าถึงของเด็กบางกลุ่มที่ตามฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

โมเดลต่างประเทศ "บังคับ" เรียนว่ายน้ำในโรงเรียน

การทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงหลักสูตรการเรียนว่ายน้ำได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว มีแนวทางน่าสนใจของหลายประเทศ ข้อมูลจาก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD พบว่า ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ได้ "บังคับ" ให้หลักสูตรการเรียนว่ายน้ำ จะต้องอยู่ในการเรียนการสอนนักเรียนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทักษะที่จำเป็นนี้ให้น้อยที่สุด

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ขณะที่บางประเทศอาจมีแนวทางที่แตกต่างไป เช่น สภาความปลอดภัยในการว่ายน้ำแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ โพสต์คลิปการฝึกให้เด็กลอยตัวหากตกน้ำในสื่อสังคมออนไลน์ โดยให้เด็กๆ สวมเสื้อผ้าที่ใส่ปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อจำลองการเอาตัวรอดเหมือนจริงมากที่สุด

สำหรับเนเธอร์แลนด์ เคยบังคับให้การเรียนว่ายน้ำอยู่ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 แต่ได้ถอดออกเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ข้อมูลล่าสุดพบว่ายังมีโรงเรียนประมาณร้อยละ 50 ทั่วประเทศที่มีหลักสูตรนี้สำหรับนักเรียนอยู่ แต่รัฐบาลได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการที่ละเอียดขึ้น คือการกำหนดระดับความสามารถเป็น A, B และ C แทน เพื่อวัดและติดตามความสามารถของเยาวชน

อ่านข่าวอื่น : 

สภาพอากาศวันนี้ เหนือ-อีสาน-กลางระอุ 38 องศาฯ ใต้คลื่นลมสงบ

สามีรับฆ่า "น้องนุ่น" ภรรยา นำร่างเผาที่ปราจีนบุรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง