เมื่อ "ผู้ร้าย" คือ "ชายที่รัก" คดีฆาตกรรมอำพราง "นุ่น ชลลดา"

อาชญากรรม
21 ก.พ. 67
14:34
2,877
Logo Thai PBS
 เมื่อ "ผู้ร้าย" คือ "ชายที่รัก" คดีฆาตกรรมอำพราง "นุ่น ชลลดา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ส่วนใหญ่แล้ว ผู้กระทำมักจะเป็นคนรักหรือคนใกล้ชิดเสมอ สถิติชี้วัด จาก พม. ปี 2566 พบ 67.31 % เป็นความรุนแรงในครอบครัว ในคดีของ “นุ่น” พบว่า ถูกกระทำอยู่บ่อยครั้งและครั้งสุดท้ายที่พรากชีวิตไปตลอดกาลก็มาถึงในวัยเพียง 27 ปี เท่านั้น

กลางดึกคืนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ “นุ่น ชลลดา” จัดงานเลี้ยงฉลองครบรอบวันเกิดให้กับสามี โดยมีกลุ่มเพื่อนร่วมฉลองพร้อมหน้าพร้อมตา

นุ่น โพสต์ อวยพรสามี ด้วยข้อความ ว่า“สุขสันต์วันเกิดนะที่รัก เป็นแฟนที่น่ารักของเขาแบบนี้ตลอดไปนะ ร่ำรวย ๆ การงานราบรื่น สมหวังทุกปรารถนานะ” ซึ่งใช้ภาพ พ่อ แม่ ลูก ที่แสนน่ารัก แนบใต้ข้อความและนี่คือ ความหวังดีสุดท้าย ที่เธอได้มอบให้ชายผู้เป็นสามี

หลังงานเลี้ยงจบลงทุกคนแยกย้ายกันไป จนข้ามวันเพื่อนสนิทของนุ่น ที่ร่วมงานเลี้ยงวันเกิด โพสต์ตามหานุ่น หลังจากขาดการติดต่อซึ่งผิดปกติเพราะนุ่นจะเคลื่อนไหวในโซเชียลเป็นประจำ

โกหกหน้าตาย หลังทำร้าย “นุ่น”เสียชีวิต

เพื่อนของนุ่นพยายามสอบถามจาก “ทอย” และได้รับคำลวงว่า “ประมาณตี 3 นุ่นลงจากรถและหายไปเลย”

เมื่อถามว่า ทำไมตี 3 ยังไม่กลับบ้าน ทอยสร้างเรื่องต่อว่า “ไปหาอะไรกินกัน แถว ถ.แจ้งวัฒนะ”

เพื่อนเริ่มจับพิรุธ เพราะในคืนงานเลี้ยง ทอย กับ นุ่น มีปากเสียงกันในระหว่างแยกย้ายกลับ

เมื่ออ้างว่า นุ่น ลงจากรถไป ข้ามวัน ทอยยังไม่มีอาการร้อนใจในการติดตามหานุ่น บอกให้ไปแจ้งความ ก็ไม่ไปในทันที ทั้งยังบอกว่า “โลเคชั่นสุดท้ายที่พบนุ่น คือที่สระแก้ว สนใจจะไปหาด้วยกันไหม”

กระทั่ง 19 ก.พ. ทอยเข้าแจ้งความกับตำรวจว่าภรรยาหายตัวไป คำให้การ ยังคงยืนยันว่า ทะเลาะกันระหว่างทางกลับบ้าน จากนั้นนุ่นลงจากรถไปและขาดการติดต่อไป ทั้งยังอ้างว่าที่ผ่านมานุ่นเคยพยายามหนีไปหลายครั้งและทุกครั้งนุ่นไม่เคยแจ้งว่าหนีไปไหนแต่เชื่อว่า นุ่นยังมีชีวิตอยู่

"วงจรปิด"ชี้ชัด ทอยทำร้ายนุ่น-พยาน "ยัน" โกหกเรื่องเวลา

กล้องวงจรปิด เปิดเผยส่วนหนึ่งของเหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นุ่นถูกทอยทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง โดยเหตุเกิดขึ้นริมถนน

นอกจากวัตถุพยาน ยังมีพยานบุคคล ที่เห็นเหตุการณ์ด้วย พยานระบุว่า ฝ่ายหญิงถูกทำร้ายนอนไม่ได้สติและเหตุเกิดขึ้นย่านแจ้งวัฒนะ ในช่วงเวลาประมาณตี 1 ไม่ใช่ตี 3 และไม่ใช่ย่านเมืองทองธานี ตามที่ ทอยบอกตำรวจแน่นอน พยานยังจดจำรถยนต์ของทอย ได้เป็นอย่างดี

เมื่อพบมูลเหตุต้องสงสัยการสืบสวนเรื่องนี้จึงมุ่งไปที่ประเด็นฆาตกรรม ทั้งตำรวจและสื่อมวลชนเกาะติดเหตุการณ์และติตดตามหานุ่นที่หายไปและขาดการติดต่ออย่างสิ้นเชิง

วันที่ 20 ก.พ. มีผู้พบเบาะแสสำคัญในพื้นที่คาบเกี่ยวปราจีนบุรี-สระแก้ว มีร่องรอยเผาไหม้บางอย่าง กลางสวนยางพารา ริมถนนบ้านมาบเหียง หมู่ 10 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ตำรวจ สภ.ระเบาะไผ่ เข้าตรวจสอบ พบคล้ายโครงกระดูกมนุษย์

มีสร้อยข้อมือทองคำรูปพรรณอยู่กองเถ้าถ่าน ประกอบกับพิกัดตรงกับสัญญาณโทรศัพท์มือถือของนุ่น ทำให้ตำรวจมั่นใจและขอหมายจับกับศาล เพื่อดำเนินคดีนายทอย

หลังการจับกุมและสอบปากคำ นายทอย ให้การรับสารภาพ ว่าทำร้ายนุ่น จนเสียชีวิต เช้าวันที่ 18 ก.พ. พาร่างไร้วิญาณของ นุ่น ขึ้นรถไปพร้อมลูกเล็ก วัย 1 ขวบ มุ่งหน้าสู่ปราจีนบุรีและเผาร่างนุ่น เพื่ออำพราง ทำลายศพ

เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว "ผู้หญิง"แชมป์ถูกกระทำ

ข้อมูลสถิติจากการให้บริการสายด่วน 1300 โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ชี้ให้เห็นว่า อัตราเกิดความรุนแรงยังคงเป็นฝ่ายหญิงที่ถูกกระทำมากกว่า

ปีงบประมาณ 2566 มีการร้องเรียนถูกกระทำรุนแรง 4,127 คน แยกเป็นหญิง 3,024 คน ชาย 1,103 คน ในจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นความรุนแรงในครอบครัว 2,778 คน คิดเป็น 67.31 % ซึ่งเป็นการถูกทำร้ายร่างกาย 2,488 คน

ปีงบประมาณ 2565 มีการร้องเรียนถูกกระทำรุนแรง 2,943 คนแยกเป็นหญิง 2,298 คน ชาย 645 คน และในจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นความรุนแรงในครอบครัว 2,233 คน คิดเป็น 75.87 % เป็นการถูกทำร้ายร่างกาย 1,982 คน

ปีงบประมาณ 2564 มีการร้องเรียนถูกกระทำรุนแรง 3,111 คน เป็นหญิง 2,348 คน ชาย 763 คน ในจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นความรุนแรงในครอบครัว 2,379 คน คิดเป็น 76.47 % ซึ่งเป็นการถูกทำร้ายร่างกาย 2,121 คน

ปีงบประมาณ 2563 มีการร้องเรียนถูกกระทำรุนแรง 2,309 คน
แยกเป็นหญิง 1,823 คน ชาย 486 คน ในจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นความรุนแรงในครอบครัว 1,635 คน คิดเป็น 70.80 % ซึ่งเป็นการถูกทำร้ายร่างกาย 1,389 คน

สถิติความรุนแรงในครอบครัว ปี 2566

สถิติความรุนแรงในครอบครัว ปี 2566

สถิติความรุนแรงในครอบครัว ปี 2566

จับสัญญาณอันตราย ป้องกันรุนแรง "ชีวิต" หายนะ

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล หน่วยงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด ระบุว่า ความรุนแรง มักเกิดจากการกระทำของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ากระทำกับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า ในครอบครัวฝ่ายชายมักเป็นผู้กระทำต่อฝ่ายหญิง

โดยสัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง คือ 

  • การหึงหวง
  • การบังคับให้แต่งตัวมิดชิด โดยไม่เคารพสิทธิในร่างกายของผู้อื่น
  • การเช็คโทรศัพท์มือถือ เป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่าย และอาจจะถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการแสดงออกถึงความรัก
  • การข่มขู่ พฤติกรรมนี้แสดงถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต และเป็นการละเมิดสิทธิ ไม่ใช่พฤติกรรมการแสดงออกว่ายังรัก
  • การให้แยกตัวออกจากเพื่อนหรือห้ามไปไหนกับคนอื่น
  • การทำลายข้าวของ เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงอำนาจ ว่า สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย
  • เมาเหล้าแล้วกระทำความรุนแรง ซึ่งนำมาสู่การขาดสติและด้วยพฤติกรรมที่คิดว่า ตนเองมีอำนาจก็อาจนำไปสู่การกระทำความรุนแรง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้
  • การทำร้ายร่างกายตัวเองและพูดว่าทำไปเพราะรัก

หากคุณกำลังเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ อย่าละเลยหรือปล่อยผ่านไป แต่ควรเปิดเวทีพูดคุย ตกลงร่วมกัน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะหากปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำๆ อีกฝ่ายอาจจะเข้าใจไปว่า ทำได้โดยปกติ

และสุดท้ายอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างไม่ทันตั้งตัว ดังนั้งทุกคน ช่วยกันหยุดความรุนแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นได้ อย่ามองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ขอให้เข้าใจว่า ความรุนแรง คือ อาชญากรรม!

รายงาน : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง