"เศรษฐา" ประกาศวิสัยทัศน์ประเทศ 8 ข้อ หนุนเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว

การเมือง
22 ก.พ. 67
11:10
3,617
Logo Thai PBS
"เศรษฐา" ประกาศวิสัยทัศน์ประเทศ 8 ข้อ หนุนเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกรัฐมนตรี ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” 8 ข้อ หนุนเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว พร้อมยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมโลก

วันนี้ (22 ก.พ.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยี และการเงิน

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

นายกฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศไทย ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดปี โครงสร้างที่พร้อมต่อยอด และที่สำคัญ คือ ศักยภาพของคนไทย

โดยวิสัยทัศน์แรก นายกฯ ประกาศตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก แต่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนไทยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร เนื่องจากรายได้หลักของคนไทยมาจากการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

เฟ้นหา Soft Power ชูจุดขายเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ให้โดดเด่นในสายตาประชาคมโลก ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม งานเทศกาล คอนเสิร์ต งานภาพยนตร์ งานศิลปะ อาหาร วัฒนธรรม และที่น่าจับตามองคือ กีฬา และศิลปะป้องกันตัว ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนไทย รวมถึงจะผลักดันบางจังหวัดให้เป็นมรดกโลก อย่าง จ.น่าน

และรัฐบาลจะเปิดอิสรภาพสู่การเดินทางระดับภูมิภาค อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ปลดล็อกทุกข้อจำกัด ข้อกังวลของการท่องเที่ยว ผ่านการเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ อย่าง จีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางในภูมิภาค และใน CLMV พร้อมทั้งแก้ไขกฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคการท่องเที่ยว

วิสัยทัศน์ที่ 2 ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) รัฐบาลจะผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก ด้วยเพราะระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งศาสตร์การดูแลสุขภาพแผนไทยที่มีชื่อเสียง บุคลากรที่มีคุณภาพและ Service Mind ทั้งยังสามารถดูแลได้ครอบคลุมตั้งแต่เกิดไปจนถึงวัยชรา และรักษาได้ทุกโรค ที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล จนกลายเป็นอีกจุดขายดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลในปี 2566 พบว่า การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สร้างเม็ดเงินได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้รัฐบาลจะเดินหน้าพัฒนาระบบประกันสุขภาพของคนไทย จาก 30 บาทรักษาทุกโรค ยกระดับไปเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้คนไทยเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นทั้งในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน ใช้ AI เชื่อมฐานข้อมูลทั้ง 77 จังหวัดด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งในขณะนี้นำร่องไปแล้ว 4 จังหวัด และคาดว่าจะครบทุกจังหวัดในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้รัฐบาลจะเพิ่มจำนวนหมอ และพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งจะพัฒนาคุณภาพ ยกระดับชีวิตบุคลากรให้ดีกว่าเดิม และจะผลักดันการแพทย์แผนไทย นวดแผนไทย สปาแผนไทย สมุนไพร รวมทั้งจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทำใบรับรองประกาศนียบัตร และผลักดันให้ไปเปิดศูนย์ Wellness Center ได้ในต่างประเทศ

วิสัยทัศน์ที่ 3 ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) รัฐบาลจะยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน” ดูแลความมั่นคงทางอาหารของโลก พร้อมเป็นครัวของโลกที่สามารถปรุงอาหารทุกประเภทส่งออกไปยังตลาดโลก ด้วยเพราะประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ มีอุตสาหกรรมที่ครบวงจรตั้งแต่การปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การประมง การแปรรูป การปรุงอาหาร สูตรอาหาร จึงทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเรื่องรสชาติที่มีความโดดเด่นอร่อยติดอันดับโลก 

วิสัยทัศน์ที่ 4 ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกให้เชื่อมถึงกัน ด้วยจุดแข็งทางภูมิศาสตร์รายล้อมไปด้วยประชากรกว่า 280 ล้านคน ติดอันดับ 5 ของประชากรโลก และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว ทำงาน ในทุกระดับ ทุกราคาที่เลือกได้ รัฐบาลมีแผนจะพัฒนาสนามบินให้รองรับการ Transit ของสายการบิน และเตรียมปรับเปลี่ยนเส้นทาง ตารางบินให้เหมาะสม เพื่อเพิ่ม Transit Capacity ให้สูงขึ้น 

วิสัยทัศน์ที่ 5 ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพระบบคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ โดยรัฐบาลมีแผนจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก ตั้งแต่การปรับปรุงสนามบินทั้งระบบ ขยายถนนทั้งถนนหลัก ถนนรอง ในปี ซึ่งภายในปี 2593 จะต้องขยายทางหลวง Motorway 10 เท่า จากปัจจุบัน 250 กิโลเมตร ให้เป็นเกือบ 2,500 กิโลเมตร และทางหลวงแผ่นดิน 4 เลน จาก 20,000 กิโลเมตรให้เป็น 23,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อตั้งแต่ชายแดนภาคเหนือที่ติดกับเมียนมา สปป.ลาว เชื่อมต่อไปยังชายแดนไทย-มาเลเซีย

ส่วนระบบราง จะพัฒนารถไฟรางคู่ เพิ่มระยะทางอีก 2,000 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ระบบรางระหว่างเมืองมีระยะทางรวม 5,500 กิโลเมตรภายในปี 2573 ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าทั้งกรุงเทพฯ และภูมิภาคจะมีระยะทางเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ครอบคลุมเส้นทางเกือบ 700 กิโลเมตร มีรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสู่ 3 สนามบินและจะเชื่อมไปยังชายแดนหนองคายพร้อมทั้งเชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง สำหรับส่งสินค้าจากอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมอาหาร

เปิดตัวเป็นศูนย์กลางคมนาคมของอาเซียน เชื่อมจีน ยุโรป และเป็นศูนย์กลางขนส่งผ่าน Land Bridge เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทรอันดามัน-อ่าวไทย 

วิสัยทัศน์ที่ 6 ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต มีเป้าหมายจะได้แผนการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ได้หารือพูดคุยกับบริษัทยานยนต์ไปมากกว่า 10 ราย และมีการตอบรับจะลงทุนในประเทศไทยแล้วมากกว่า 150,000 ล้านบาท 

วิสัยทัศน์ที่ 7 ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) รัฐบาลตั้งเป้าดึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Digital for all Technology Innovation AI ให้มาขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยี High Tech ต่าง ๆ ทั้งการลงทุนโรงงานผลิต Semiconductor, การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing, การวิจัยและนำ AI มาใช้งานในประเทศไทย รวมถึงดึงบริษัท Deep Tech ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยเช่นกันผ่านโมเดล Sandbox

ซึ่งรัฐบาลจะมีเงินสนับสนุนบริษัทที่ต้องการผ่านกองทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และจะทำ Matching Fund เติมทุนให้กับบริษัทที่มีศักยภาพด้วย 

วิสัยทัศน์ที่ 8 ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) รัฐบาลตั้งเป้าจะเปลี่ยนให้ไทยเป็น Financial Center of Southeast Asia ขับเคลื่อนโดยระบบการเงินที่แข็งแกร่ง ดึงสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุน สร้างย่านการเงิน Wall Street ของอาเซียนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และพัฒนา Infrastructure รองรับระบบการเงินแห่งอนาคตขับเคลื่อนด้วย Blockchain ที่ไร้ตัวกลาง และเตรียมปลดล็อก Digital Asset ต่าง ๆ ให้สามารถแปลงเป็นผลผลิตในโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงเชื่อมต่อระหว่างสินทรัพย์ในโลกปัจจุบันให้มาอยู่บนโลกดิจิทัลได้อีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลจะเริ่มพัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน Carbon Credit Trading ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องมีหน่วยงาน กฎระเบียบ รองรับการก้าวไปสู่ยุคการเงินสมัยใหม่เช่นกัน

ปิดท้ายด้วย พื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Foundation to Success) นายกฯ เศรษฐา ยังเผยทิ้งท้ายว่า การจะทำทุกอย่างให้สำเร็จได้นั้น มีเป้าหมายอย่างเดียวคงไม่พอ การเป็นศูนย์กลางต่าง ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคน เป้าหมายความเจริญทางเศรษฐกิจ จะต้องมาพร้อมกับการพัฒนาทางสังคมด้วยกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของภาครัฐ (Transparency) ความเท่าเทียมกัน (Equality) ทั้งเพศสภาพ การประกอบอาชีพ การรักษาพยาบาล รองรับทั้งผู้สูงวัย ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก วัฒนธรรมที่เปิดกว้าง (Soft Power) พร้อมต่อยอด เปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ โดยไม่ละเลยอัตลักษณ์และตัวตน จนสามารถสร้างรายได้ให้ตนเอง โอกาสทางการศึกษา (Education) ความปลอดภัย (Safe & Security) และ พลังงานสะอาด (Green Society) ประชาชนและภาคธุรกิจจะต้องเข้าถึงพลังงานสะอาดและราคาถูก

อ่านข่าวอื่นๆ :

จับกระแสการเมือง : 21 ก.พ.2567 "ฮุนเซน" มิตรแทร่ ทักษิณ -"เศรษฐา" หย่าศึก 2 กระทรวง

สภาฯ คว่ำร่างกฎหมาย "เปลี่ยนคำนำหน้านาม"

บอร์ดอีวี เคาะมาตรการหนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ดันไทยศูนย์กลาง EV

ข่าวที่เกี่ยวข้อง