สถาบันพระบรมราชชนก ระบุเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง ไม่แตกต่าง 4 ปี

สังคม
24 ก.พ. 67
14:13
14,620
Logo Thai PBS
สถาบันพระบรมราชชนก ระบุเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง ไม่แตกต่าง 4 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถาบันพระบรมราชชนก แจง เรียนหลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง ไม่ต่าง 4 ปี ยันหลักสูตรพิจารณารอบด้าน คงหัวใจการเรียนพยาบาล ต้องมีภาคปฏิบัติขึ้นวอร์ด ครบตามชม.เรียน และมี 3 สถาบันเปิดสอนไปแล้ว เตรียมหารือผู้ทรงคุณวุฒิทบทวนหลักสูตร หลังหลายฝ่ายกังขาคุณภาพ

วันนี้ (24 ก.พ.2567) นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวถึงกรณีการเปิดหลักสูตรเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง ในผู้จบการศึกษาปริญญาตรี ว่า หลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข รวมถึงสภาการพยาบาลก็มีความห่วงใยในเรื่องนี้ ทางคณะพยาบาล ของสถาบันพระบรมราชชนก และผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการพยาบาลจะได้มีการหารือข้อห่วงใย เรื่องของคุณภาพการเรียนในหลักสูตรนี้ ในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตามเรื่องของการหลักสูตรการเรียนพยาบาล 2 ปี ครึ่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทางคณะพยาบาลทั่วประเทศ ได้มีการหารือร่วมกันและพิจารณา จนเกิดหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ขึ้น โดยเริ่มมีการเรียนไปแล้ว ในมหาวิทยาลัยรวม 3 แห่ง ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ,มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :  สธ.เปิดโอกาส ป.ตรีทุกสาขา เรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง แก้ปัญหาขาดแคลน

นพ.วิชัย กล่าวว่า การเรียนหลักสูตรพยาบาลนี้ เน้นกลุ่มคนเรียนวิทยาศาสตร์-สุขภาพ มีการเจาะลึกข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และภาคปฏิบัติ โดยคงหัวใจหลักของหลักสูตรไว้ คือ การขึ้นวอร์ด หรือ เวรปฏิบัติ ที่ต้องมีชั่วโมงการเรียนที่ครบถ้วน เพราะคือทักษะสำคัญของการเป็นพยาบาล

ยืนยันว่า ทางสถาบันพระบรมราชนกที่มีวิทยาลัยมากถึง 30 แห่ง ยังคงคุณภาพการเรียนการสอนเหมือนเดิม ไม่ได้ละวางหรือปล่อย โดยหลักสูตรพยาบาล 4 ปี กับ 2 ปีครึ่ง เนื้อหาและคุณภาพไม่แตกต่างกัน หากแต่นำบางวิชาที่ได้เรียนไปในพื้นฐานของปริญญาตรีมาเทียบโอน ส่วนวิชาการเป็นหัวใจ ยังต้องเรียนเสมอ

สำหรับข้อห่วงใยเรื่องของชั่วโมงการทำงาน และค่าตอนแทน ที่พยาบาลทุกคนอยากได้รับ นพ.วิชัย กล่าวว่า ทราบว่า รมว.สาธารณสุข กำลังเตรียมพิจารณาเรื่องนี้

แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า พยาบาลส่วนใหญ่ที่มีอายุการทำงานนาน มีประสบการณ์มาก หรือมีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักจะขอย้ายตัวเองมาขึ้นวอร์ดเช้า ทำงาน 8 ชั่วโมง หรือหันไปทำอาชีพอื่น เนื่องจากประสบการณ์การทำงานจนเชี่ยวชาญสามารถเป็นครูพยาบาลได้ มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยหลายแห่งต้องการตัว

ต้องยอมรับว่า บางคนพลาดหวังจากตำแหน่งราชการ หรือการเงินเดือน ด้วยอายุที่มากขึ้น ภาระครอบครัว จึงหันไปทำอาชีพอื่นได้

น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect และอดีตพยาบาลที่ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุขภาครัฐ กล่าวว่า เข้าใจในเจตนาของภาครัฐที่ต้องการเพิ่มจำนวนคน เพื่อชดเชยคนที่ออกไป แต่ไม่แน่ใจว่า จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ เนื่องจากหากเพิ่มคนเข้าไป แต่ไม่ได้แก้ไขเรื่องค่าตอบแทน ภาระงาน การบรรจุอัตรากำลัง สุดท้ายคนจบ 2 ปีครึ่งก็อาจไม่การันตีว่าจะอยู่ในระบบ แต่อาจไหลออกนอกระบบเหมือนพยาบาลที่จบ 4 ปีเช่นกัน

น.ส.สุวิมล กล่าวว่า หลักสูตรพยาบาล 4 ปี ก็ดูว่าค่อนข้างหนัก จึงไม่แน่ใจว่า 2 ปีครึ่งจะตัดทอนวิชาไหนออกไปหรือไม่ ทั้งเรื่องที่เป็นพื้นฐาน การตรวจร่างกาย การปฏิบัติการพื้นฐานต่าง ๆ ไม่แน่ใจว่าจะเข้มข้นเท่ากับ 4 ปีหรือไม่ หรือการเฉพาะเจาะจงดูแลคนไข้แต่ละช่วงวัย ที่จะได้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติด้วยใช่หรือไม่ เวลาค่อนข้างสั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: แพทย์ฝึกหัด "เกาหลีใต้" แห่ลาออก ค้านแผนเพิ่มโควตา นศ.แพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง