รู้หรือไม่ พ.ร.บ.รถยนต์ กับ ภาษีรถยนต์ ต่างกันอย่างไร ทำไมต้องต่อทุกปี

ไลฟ์สไตล์
27 ก.พ. 67
10:04
4,073
Logo Thai PBS
รู้หรือไม่ พ.ร.บ.รถยนต์ กับ ภาษีรถยนต์ ต่างกันอย่างไร  ทำไมต้องต่อทุกปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้หรือไม่ ป้ายสี่เหลี่ยมที่ติดหน้ารถ หรือ ภาษีรถยนต์ มีความสำคัญอย่างไร รวมถึงมีขั้นตอนในการได้มาอย่างไร ต้องไปจ่ายที่ไหนและหากไม่ต่อภาษีรถยนต์จะผลอะไรบ้าง

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่ควรให้ความสำคัญ นอกจากการปฏิบัติตามกฎจราจร คือ การต่อ "ภาษีรถยนต์" นั้นเพื่อที่รัฐจะนำเงินไปพัฒนาถนนและระบบคมนาคมให้ดี 

การไปต่อทะเบียน หมายถึง การต่อภาษีรถยนต์ ซึ่งแตกต่างกับการต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ มีเพียงสิ่งเดียวที่เหมือนกัน คือ ต้องจ่ายทุกปี และหากไม่ต่อก็จะมีโทษตามกฎหมาย

ภาษีรถยนต์

จุดประสงค์ในการต่อ : เพื่อไปดูแลรักษาระบบคมนาคมและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ระยะเวลาที่ต้องชำระ : ชำระก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ทุกปี

หากไม่ต่อจะมีโทษหรือไม่ : ผิดกฎหมาย ปรับและระงับทะเบียน

ต่อแล้วจะได้อะไร : ป้ายภาษี หรือที่เรียกว่าป้ายวงกลม ป้ายสี่เหลี่ยม

พ.ร.บ.รถยนต์

จุดประสงค์ในการต่อ : เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝัน เช่น บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในรูปแบบของค่ารักษาพยาบาล หรือเงินชดเชยอื่น ๆ และเป็นเอกสารเพื่อใช้ประกอบการต่อภาษีรถยนต์

ระยะเวลาที่ต้องชำระ : ชำระทุกปี

หากไม่ต่อจะมีโทษหรือไม่ : ผิดกฎหมาย ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ต่อแล้วจะได้อะไร : เอกสารกรมธรรม์ พ.ร.บ. รถยนต์

อธิบาย คือ ในการที่จะจ่ายภาษี ต้องต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ ก่อน เพื่อนำเอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ ไปต่อภาษี โดยภาษีรถยนต์ คือ ค่าใช้จ่ายที่เจ้าของรถทุกคนต้องชำระทุกปี เพื่อนำเงินไปดูแลรักษาระบบคมนาคมและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนระยะเวลาที่ผู้ขับขี่ต้องต่อภาษี เช็กได้จากวันหมดอายุที่เขียนไว้บน "ป้ายภาษี" ที่หน้ารถได้เลย

อ่าน "ฟรีแลนซ์" รายได้ไม่แน่นอนแต่มีเงินออมเก็บเป็น "บำนาญ" ได้

ไม่ต่อภาษีรถยนต์ ถูกปรับ - ระงับการใช้รถ

การต่อภาษีรถยนต์ เป็นการจ่ายภาษีประเภทหนึ่งสำหรับผู้ใช้รถ เพื่อภาครัฐจะนำเงินในส่วนนี้ไปใช้เพื่อสนับสนุนงานด้านคมนาคมต่าง ๆ เช่น นำไปปรับปรุงถนนหนทาง หากไม่ต่อภาษีอาจมีโทษตามระยะเวลาที่ขาดต่อไป ดังนี้

หากขาดต่อ 1-3 ปี

มีโอกาสจะโดนตำรวจโบก เสียค่าปรับ และยังต้องเสียค่าปรับกับกรมขนส่ง 1% ต่อเดือน

หากขาดต่อเกิน 3 ปี

รถจะถูกระงับทะเบียน ต้องนำรถไปทำเรื่องเพื่อจดทะเบียนภาษีรถยนต์ใหม่ และอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าตรวจสภาพรถ หรือค่าป้ายใหม่

เช็กอัตราค่าใช้จ่าย รถแต่ละประเภท

สำหรับรถแต่ละประเภทมีอัตราค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บภาษีในอัตราต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ รถยนต์ พ.ศ. 2522 เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซีซี) และรถยนต์ประเภทอื่นจัดเก็บเป็นรายคัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. จัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซีซี)

รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน

  • 600 ซีซีแรก ซีซีละ 0.50 บาท
  • 601 – 1,800 ซีซี ซีซีละ 1.50 บาท
  • เกิน 1,800 ซีซี ซีซีละ 4.00 บาท

รถของนิติบุคคลที่มิได้เป็นผู้ให้เช่าซื้อ

  • จ่ายภาษี 2 เท่า

รถที่จดทะเบียนมาแล้ว 5 ปี

จะได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อ ๆ ไป ดังนี้

  • ปีที่ 6 ร้อยละ 10
  • ปีที่ 7 ร้อยละ 20
  • ปีที่ 8 ร้อยละ 30
  • ปีที่ 9 ร้อยละ 40
  • ปีที่ 10 ขึ้นไป ร้อยละ 50

2. จัดเก็บเป็นรายคัน

  • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
  • รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
  • รถพ่วงข้างจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
  • รถพ่วงชนิดอื่น คันละ 100 บาท
  • รถบดถนน คันละ 200 บาท
  • รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท

3. จัดเก็บตามน้ำหนัก

4. รถพลังงานไฟฟ้า

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ให้เก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
  • รถพลังงานไฟฟ้าอื่น ๆ ให้เก็บภาษีครึ่งหนึ่งของการเก็บรายคันและตามน้ำหนัก

ต่อภาษีรถยนต์ได้เมื่อไหร่

การต่อภาษีรถยนต์สามารถทำได้ตลอดปี ขึ้นอยู่กับวันหมดอายุของป้ายวงกลมที่ระบุไว้หน้ารถ และสามารถต่อล่วงหน้าได้มากถึง 90 วันก่อนครบกำหนด แต่หากใครกลัวลืม สามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เพื่อรับการแจ้งเตือนก่อนครบกำหนดจ่ายภาษี โดยแอปฯ จะตั้งค่าเตือนผู้ใช้บริการถึง 3 รอบ คือ

  • ก่อนหมดอายุ 3 เดือน (90 วัน)
  • ก่อนหมดอายุ 1 เดือน (30 วัน)
  • ณ วันที่หมดอายุ (แจ้งเตือนครั้งสุดท้าย)

เอกสารที่ต้องเตรียม ก่อนต่อภาษีรถยนต์คืออะไรบ้าง

1.หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ (ถ้ามี) หรือใบแทน

2.หลักฐานการจัดให้มีประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

3. หลักฐานการผ่านการตรวจสภาพรถ สำหรับรถยนต์ที่มีเงื่อนไขดังนี้

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย. 2) ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3) ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถจักรยานยนต์ (รย.12) ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป

โดยนับอายุรถเริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก และสามารถเช็กอัตราค่าตรวจสภาพได้ ที่นี่

ที่ไหนต่อภาษีรถยนต์บ้าง

หากเช็กวันหมดอายุแล้ว สามารถไปต่อภาษีได้ 2 ช่องทางคือ ตามจุดบริการต่าง ๆ หรือช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

จุดบริการ

  • สำนักงานขนส่ง / บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax)
  • ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5
  • ที่ทำการไปรษณีย์
  • ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ
  • ธนาคารเพื่อการเกษตร และ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ
  • ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ช่องทางออนไลน์

  • ต่อภาษีผ่าน เว็บไซต์ โดยสามารถต่อได้เฉพาะรถที่ตรงตาม เงื่อนไข เหล่านี้ เช่น เป็นรถที่ไม่ติดแก๊ส ไม่ถูกระงับทะเบียน เป็นต้น
  • ต่อภาษีผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax, mPay และ Truemoney Wallet

ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ง่าย ๆ

เมื่อเลือกวิธีชำระเงินได้แล้ว ขั้นตอนการจ่ายภาษี ดังนี้

กรณีที่ 1 จ่ายตามจุดบริการ

1.เตรียมเอกสารตามข้างบนให้เรียบร้อย

2.ยื่นขอคำขอต่อทะเบียนรถ ณ สถานที่ที่รับต่อภาษีรถยนต์ เช่น ตามสำนักงานขนส่ง หรือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส

3.ดำเนินการตรวจสภาพรถ ณ จุดที่กำหนด (หากดำเนินการนอกขนส่ง จำเป็นต้องขอเอกสารตรวจสภาพรถก่อน)

4.ชำระค่าธรรมเนียม โดยสามารถเช็กยอดภาษีได้จากเว็บไซต์ของกรมขนส่ง

รับเครื่องหมายแสดงการจ่ายภาษี หรือหรับป้ายวงกลมมาติดหน้ารถ

** หากต่อภาษีที่ 7-11 จะมีค่าธรรมเนียมการจัดส่งเอกสาร และสามารถรอรับเอกสาร เช่น ใบเสร็จ และป้ายภาษี ได้ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ **

กรณีที่ 2 จ่ายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์

1. เข้าเว็บไซต์กรมขนส่งทางบก (e-Service)

2. ลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน (กรอกชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ให้จัดส่งเอกสาร และเบอร์โทรศัพท์)

3.กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถ

4. กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการเอาประกัน ตาม พ.ร.บ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (กรณี พ.ร.บ. ที่มีความคุ้มครองมากกว่า 3 เดือน)

5. เลือกวิธีชำระเงิน ได้แก่

  • หักบัญชีเงินฝาก เช็กธนาคาร/หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ คลิก ที่นี่
  • ชำระด้วยบัตรเครดิต/บัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ VISA , MASTERCARD
  • พิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถแล้วนำไปชำระ ณ เคาน์เตอร์หรือตู้ ATM ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
  • กรมการขนส่งทางบก จะส่งใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายแสดงการจ่ายภาษี และ กรมธรรม์ พ.ร.บ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ผู้ชำระเงินทางไปรษณีย์

6. กรมการขนส่งทางบก จะส่งใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายแสดงการจ่ายภาษี และ กรมธรรม์ พ.ร.บ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ผู้ชำระเงินทางไปรษณีย์

7.เจ้าของรถสามารถนำใบคู่มือจดทะเบียนรถไปบันทึกได้ ณ หน่วยงานทะเบียนกรมการขนส่งทางบก ทั่วประเทศ

** หากต่อภาษีออนไลน์ จะมีค่าธรรมเนียมการจัดส่งเอกสาร ค่าธรรมเนียมธนาคารหรือค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต **

ขาดต่อภาษีเกิน 3 ปี ต้องทำอย่างไร

หากขาดต่อภาษีเป็นเวลามากกว่า 3 ปีขึ้นไป ทางขนส่งจะดำเนินการระงับทะเบียนทันที แต่ก็อย่าได้กังวลใจไป มาลองอ่านวิธีต่อภาษีและทำตามไปพร้อม ๆ กันได้เลย

หากผู้ขับขี่ยังคงต้องการใช้รถคันเดิม ต้องยื่นขอจดทะเบียนรถใหม่ ชำระภาษีรถยนต์ย้อนหลังตามจำนวนปีที่ขาดไปพร้อมทั้งเสียค่าปรับ คืนป้ายทะเบียนเดิม และทำการจดทะเบียนรถใหม่ ก็เป็นอันเสร็จสิ้น โดยมีเอกสารและขั้นตอนดังนี้

ใช้เอกสาร อะไรบ้าง

1.หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ (ยกเว้นรถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน)

2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

3.หลักฐานการได้มาของรถ เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษีของทุกทอดที่มีการซื้อขาย เว้นแต่การจำหน่ายช่วงแรก (จากบริษัทผู้ผลิต) ไม่ต้องใช้

4.หนังสือแจ้งการจำหน่ายจากบริษัทผู้ผลิต กรณีเป็นรถนำเข้าต้องใช้หลักฐานการนำเข้าได้แก่ ใบรับรองการนำเข้า (แบบ 32) จากกรมศุลกากร, ใบเสร็จรับเงินค่าอากรขาเข้า, บัญชีแสดงรายการสินค้า (INVOICE)

5.พ.ร.บ.รถยนต์

6.กรณีไม่ได้มาดำเนินการด้วยตนเอง

  • หนังสือมอบอำนาจ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ

ขั้นตอน

1. ยื่นแบบคำขอจดทะเบียนพร้อมหลักฐานประกอบคำขอ

2. นำรถเข้าตรวจสภาพ ณ งานตรวจสภาพรถ

3. ตรวจสอบการบรรจุรถในบัญชี ขส.บ.11

4.ชำระเงินค่าธรรมเนียมและจ่ายภาษีรถ ดังนี้

  • ค่าจดทะเบียนรถใหม่ 315 บาท
  • ค่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ 100 บาท
  • ค่าแผ่นป้ายทะเบียนรถ ป้ายละ 100 บาท
  • หลักฐานการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
  • อัตราภาษีของรถแต่ละประเภท
  • ค่าธรรมเนียมการตรวจสภาพรถยนต์ 50 บาท

5.รับแผ่นป้ายทะเบียนรถ เครื่องหมายแสดงการจ่ายภาษีและหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ

รถที่จอดรถทิ้งไว้ ไม่ได้ใช้งานนาน ผู้ขับขี่ต้องทำอย่างไร

สำหรับรถที่จอดรถทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน เลิกใช้รถไปแล้ว หรือรถสูญหาย ผู้ขับขี่ก็ต้องไปแจ้งไม่ใช้รถ ณ สำนักงานขนส่งที่รถนั้นจดทะเบียนอยู่ ไม่เช่นนั้นหากปล่อยไว้เป็นเวลานานเกิน 3 ปี ทะเบียนก็จะถูกระงับ ต้องจ่ายภาษีและค่าปรับถึงแม้จะไม่ได้ใช้ขับขี่ก็ตาม โดยมีเอกสารและขั้นตอนดังนี้

ใช้เอกสารอะไรบ้าง

1. ใบคู่มือจดทะเบียนรถ

2. สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีเป็นนิติบุคคล ใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

3.แผ่นป้ายทะเบียนรถ

4.แบบคำขอแจ้งไม่ใช้รถ ซึ่งกรอกรายการและลงลายมือชื่อเจ้าของรถเรียบร้อยแล้ว

5.กรณีไม่ได้มาดำเนินการด้วยตนเอง

  • หนังสือมอบอำนาจ
  • บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ

ขั้นตอน

  • ยื่นคำขอแจ้งไม่ใช้รถ พร้อมหลักฐานและแผ่นป้ายทะเบียนรถ
  • ชำระค่าธรรมเนียม ค่ายื่นคำร้อง 25 บาท/คัน
  • รับใบเสร็จรับเงิน และใบคู่มือจดทะเบียนรถ

สุดท้ายให้ทุกคนจึงควรสังเกตวันหมดอายุที่ป้ายป้าษีหน้ารถยนต์ เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าปรับหรือเดินเรื่องต่อภาษีใหม่ นอกจากนี้ขับขี่รถบนท้องถนนควรใจเย็น และเคารพกฎจราจรเพื่อความปลอดภัย ตั้งสติก่อนสตาร์ท และขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพในทุกเส้นทาง 

อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)

อ่านข่าว

รู้ยัง! เงินสมทบประกันสังคม "ลดหย่อนภาษี" ได้

"ผัก - ผลไม้ - สมุนไพรไทย" มีประโยชน์ ช่วยคลายร้อน

สมอ.เตือนเลือกซื้อ "พาวเวอร์แบงก์" เน้นมาตรฐานก่อนราคาถูก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง