ไม่พร้อมเปย์! ค่าครองชีพพุ่งก่อนไม่รอค่าแรง (ไม่)ดีเดย์ 1 มี.ค.

เศรษฐกิจ
27 ก.พ. 67
13:57
993
Logo Thai PBS
ไม่พร้อมเปย์! ค่าครองชีพพุ่งก่อนไม่รอค่าแรง (ไม่)ดีเดย์ 1 มี.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันที่ 1 มี.ค.2567 เป็นต้นไป รายจ่ายครัวเรือนพุ่งกระฉูด ทั้งค่าทางด่วน นมกล่อง ราคาเนื้อหมูปรับตัว และค่าไฟที่เตรียมขึ้นไปพร้อมๆ กับอุณหภูมิที่สูงขึ้นของหน้าร้อน

หลังจากชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญามาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2566 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทางพิเศษและประชาชนแล้ว ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เตรียมปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี โดยจะปรับอัตราค่าผ่านทางในวันที่ 1 มี.ค.2567

อ่าน : กทพ.ปรับขึ้นค่าทางด่วน "ฉลองรัช-บูรพาวิถี" 5 บาท มีผล 1 มี.ค.นี้

หลายคนที่เลือกใช้บริการขนส่งมวลชนหรือขนส่งสาธารณะ อาจมองว่า แม้ค่าทางด่วนที่ปรับตัวขึ้นจะไม่กระทบต่อเงินในกระเป๋าสักเท่าไหร่ แต่ยังต้องเจอกับค่านมกล่องที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยกรมการค้าภายในได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการผลิตนมกล่องกว่า 10 ราย ปรับราคานมพาสเจอไรซ์ นมสเตอริไลซ์และนมยูเอชทีขึ้นได้ ราคาเฉลี่ยกล่องละ 50 สตางค์ ตามต้นทุนน้ำนมดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าผู้ค้าจะเริ่มปรับขึ้นราคานมกล่องเพิ่มขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

ผลิตภัณฑ์นมชนิดอื่น เช่น นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต ถือเป็นสินค้าทางเลือก สามารถพิจารณาปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่แท้จริง โดยไม่ต้องขออนุมัติกรมการค้าภายใน นั่นเท่ากับว่า ผู้บริโภคจได้เห็นนมกล่องขึ้นราคาเร็วขึ้นคาดว่าจะเป็นช่วงกลางเดือน มี.ค. นี้

อ่าน : ร้านค้าจ่อ "ขึ้นราคานมกล่อง" หลังกรมการค้าภายในไฟเขียวผู้ผลิตขึ้น 50 สต.

ขยับไปช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ที่มาตรการตรึงราคาก๊าซ LPG หรือ ก๊าซหุงต้มสำหรับถังราคา 15 กิโลกรัมจะสิ้นสุดลง ต้องลุ้นกันว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะมีแนวนโยบายอย่างไรต่อไป 

ส่วนราคาค่าไฟเฉลี่ยที่อยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วยนั้น ย้ำอีกครั้งว่ามีผลสำหรับเดือน ม.ค. - เม.ย.2567 เท่านั้น ทั้งนี้ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้า 2 งวดที่เหลือของปี 2567 คือรอบเดือน พ.ค.- ส.ค.2567 และ ก.ย.-ธ.ค.2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.20-4.25 บาท/หน่วย คาดว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าน่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้างวด ม.ค.- เม.ย. 2567

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ราคานี้ยังไม่รวมหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ​รับภาระต้นทุนให้ประชาชนไปก่อนรวม 110,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมหนี้ กฟผ. อาจทำให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ดังกล่าวได้ 

อ่าน : กกพ. เคาะขึ้นค่าไฟ งวด ม.ค.-เม.ย.67 อยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย

ส่วนราคาสินค้าบริโภคอย่างเช่นเนื้อหมู สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย ก็ปรับราคาหมูหน้าฟาร์มแบบเงียบๆ ขึ้นกิโลกรัมละ 2 บาท ส่งผลให้ราคาสูงแตะ 80 บาทเข้าไปแล้ว โดยที่สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้นำร่องประกาศราคาแนะนำสุกรล่วงหน้า สุกรซีกกิโลกรัมละ 80 บาท เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา 

ภาระค่าใช้จ่ายที่กำลังเรียงแถวเข้าคิวให้ประชาชนต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายมากขึ้นหลังช่วงเดือน มี.ค. ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หลังจากที่วันที่ 24 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา รมว.คมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สั่งให้ TDRI วิจัยอัตราค่าโดยสารแท็กซี่ ให้เหมาะสมกับอัตราค่าครองชีพปัจจุบัน พร้อมให้กรมการขนส่งทางบก หาสาเหตุและแก้ปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร ต้องรอดูว่าหลังจากทำการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว คนไทยจะได้นั่งแท็กซี่แพงขึ้นหรือเท่าเดิม 

อ่าน : "สุริยะ" สั่ง TDRI ศึกษาค่าโดยสารแท็กซี่ ที่เหมาะสมกับค่าครองชีพ

ยังไม่ชัดว่าในที่ประชุมกระทรวงแรงงานในวันนี้ (27 ก.พ.2567) จะพิจารณาขึ้นค่าแรงรอบ 2 ผ่านเพื่อเป็น "ของขวัญวันสงกรานต์" ดั่งที่เจ้ากระทรวง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ระบุไว้หรือไม่ แต่ตอนนี้ถ้าจะเรียกว่าสินค้าพาเหรดขึ้นราคาล่วงหน้าไปก่อน ไม่รอค่าแรงขั้นต่ำ ก็คงไม่ผิดเพี้ยนอะไร 

อ่าน : ก.แรงงานเตรียมปรับค่าแรงรอบ 2 ลุ้นหลายจังหวัดแตะ 400 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง