อุทยานฯ ห้ามทำไร่หมุนเวียน ผลศึกษาชี้ วิถีเกษตรกะเหรี่ยง "รักษ์ป่า"

สิ่งแวดล้อม
27 ก.พ. 67
14:43
734
Logo Thai PBS
อุทยานฯ ห้ามทำไร่หมุนเวียน ผลศึกษาชี้ วิถีเกษตรกะเหรี่ยง "รักษ์ป่า"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ไร่หมุนเวียน” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการทำเกษตรของชาวกะเหรี่ยง คือสิ่งที่ถูกมองว่ากำลังจะสูญหายไป หลังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศใช้ “พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ” มาตั้งแต่ปลายปี 2565

แม้ว่าในชื่อของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะดูเหมือนเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านมีที่ทำกินในกรณีมีที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่จริงๆ แล้วมีเงื่อนไขสำคัญๆ ระบุอยู่ในเนื้อหาอย่างชัดเจนว่า การทำไร่หมุนเวียน จะไม่มีทางเกิดขึ้นอีก คือ

  • ได้สิทธิทำกิน ชั่วคราว ครั้งละไม่เกิน 20 ปี
  • ต้องทำกินในพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้เท่านั้น
  • การจะได้สิทธินั้นจะต้องยอมรับว่าเป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสำรวจภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 มิถุนายน 2541 หรือเป็นไปตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 (17 มิ.ย.2557) หรือแปลความหมายได้ว่า ต้องยอมรับว่าไม่ได้อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยาน ทั้งที่ความจริงอยู่มาก่อน
  • ที่สำคัญคือ จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร” หรือแปลความหมายได้ว่า จะต้องทำกินในที่ดินแปลงเดิมทุกๆปี ห้ามหยุด ห้ามเปลี่ยน ห้ามหมุนเวียน ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงอย่างสิ้นเชิง
  •  ถ้ายอมรับเงื่อนไขนี้ ก็จะต้องเปลี่ยนวิถีที่สืบทอดกันมา แต่ถ้าไม่ยอมรับ ก็จะถูกจับกุมดำเนินคดีฐานบุกรุกป่า
สำหรับชาวกะเหรี่ยง การถูกห้ามทำไร่หมุนเวียน ก็มีค่าเท่ากับสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ เพราะไร่หมุนเวียน คือ หัวใจของปรัชญาการใช้ชีวิตที่ผูกพันกับป่าของชาวกะเหรี่ยง

กะเหรี่ยงห้วยกระซู่ ยืนสิทธิทำไร่หมุนเวียน

ชาวกะเหรี่ยงที่บริเวณห้วยกระซู่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี คือกลุ่มที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า จะขอต่อสู้เพื่อยืนหยัดสิทธิ ที่จะทำไร่หมุนเวียนของพวกเขาต่อไป

แม้ว่าจะมี 2 คน คือ ประไพ บุญเชิด และวันเสาร์ กุงาม ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จับกุมดำเนินคดีไปแล้วด้วยข้อหา บุกรุกป่าและทำให้โลกร้อน เพียงเพราะพวกเขาทำไร่หมุนเวียน

โดยหนึ่งในวิธีการต่อสู้ของพวกเขา คือ การร่วมมือกับหน่วยงานทางวิชาการ ทำการศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่า “ไร่หมุนเวียน” ไม่ใช่วิธีการทำการเกษตรที่ทำลายป่า แต่กลับได้ผลในทิศทางที่ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยอนุรักษ์ป่าได้ดีกว่า

“ไร่หมุนเวียน” ตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง คือ การทำ “ข้าวไร่” โดยใช้พื้นที่เวียนกันไปทั้งหมด 7 แปลง แต่จะทำเพียงปีละ 1 แปลงเท่านั้น เช่น หากในปี 2561 ทำไร่ในแปลงที่ 1 เมื่อถึงปี 2562 ก็จะทำในแปลงที่ 2 ถัดไปทีละแปลงในแต่ละปี

โดยแปลงที่ทำไปแล้วจะถูกทิ้งไว้เพื่อให้ฟื้นคืนสภาพความเป็นป่า ดังนั้น เมื่อถึงปี 2567 ชาวกะเหรี่ยงก็จะทำข้าวไร่ในแปลงที่ 7 ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้น พื้นที่ในแปลงที่ 1 ก็จะฟื้นคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์แล้ว และจะถูกใช้เวียนกลับมาทำไร่อีกครั้งในปี 2568

เราเริ่มทำการศึกษาด้วยการตั้งสมมติฐานมาพิสูจน์ 3 ประเด็น คือ การทำไร่หมุนเวียนทำให้ดินดีขึ้นหรือทำให้ดินเสียอย่างไร ,การเผาจากการทำไร่หมุนเวียน สร้างมลพิษจริงหรือไม่ และการทำไร่หมุนเวียน ถือเป็นความมั่นคงทางอาหารจริงหรือไม่
ดร.นรชาติ วงศ์วันดี นักวิจัยศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ดร.นรชาติ วงศ์วันดี นักวิจัยศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ดร.นรชาติ วงศ์วันดี นักวิจัยศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ดร.นรชาติ วงศ์วันดี นักวิจัยศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายถึงที่มาของการลงพื้นที่ไปทำการศึกษาร่วมกับชาวกะเหรี่ยงที่ อ.หนองหญ้าปล้อง

โดยเรียกโครงการนี้ว่า “การศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงโผล่ว ห้วยกระซู่ จ.เพชรบุรี” และเมื่อใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 1 ปี ด้วยการเก็บตัวอย่างดินจากไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านในพื้นที่ทำไว้ ทีมนักวิจัย ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากๆ

ผลการศึกษาเพื่อหาคำตอบจากสมมติฐานข้อที่ 1 การทำไร่หมุนเวียนทำให้ดินดีขึ้นหรือทำให้ดินเสียอย่างไร ดร.นรชาติ ใช้วิธีเก็บตัวอย่างดินจากแปลงทำไร่หมุนเวียนที่ถูกทำไว้แล้วครบทั้ง 7 แปลง คือ แปลงที่เพิ่งทำในปีที่เก็บ ,แปลงที่ทำไปแล้วและถูก “พักไว้” เป็น “ไร่ซาก” ตั้งแต่ 2-7 ปี

และเมื่อนำดินจากไร่หมุนเวียนไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จะพบการสะสมแร่ธาตุและอินทรีย์วัตถุในปริมาณที่สัมพันธ์กับจำนวนปีของแปลงไร่หมุนเวียนที่ถูกพักไว้ โดยพบการสะสมอินทรีย์วัตถุที่มีสารอาหารในระดับสูงจนไม่มีความสำเป็นต้องเติมสารบำรุงดินใดๆเข้าไปเพิ่มอีกเลย เมื่อไร่ถูกพักไปครบปีที่ 7 ตรงกับภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงพอดี

พูดง่ายๆ คือ เมื่อพักแปลงไร่หมุนเวียนครบปีที่ 7 ดินก็จะมีการสะสมสารอินทรีย์วัตถุและแร่ธาตุต่างๆอยู่ในระดับที่ดีมากๆ ชาวกะเหรี่ยงก็จะสามารถกลับมาทำไร่ในแปลงที่พักไว้ครบ 7 ปี โดยจะได้ผลผลิตที่ดีมากๆ ทั้งที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยและไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ เลย

แต่ถ้าเราดูข้อมูลการสะสมอินทรีย์วัตถุในแปลงที่ถูกพักไว้ 5 หรือ 6 ปี ก็เป็นแปลงที่สามารถทำไร่ได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเช่นกัน แต่จะได้ผลผลิตไม่ดีเท่ากับแปลงที่พักไว้ครบ 7 ปี จึงเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก เพราะช่วงเวลา 7 ปี ของการพักพื้นที่ทำไร่ เป็นถูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวกะเหรี่ยง

ผลการศึกษาเพื่อหาคำตอบจากสมมติฐานข้อที่ 2 การเผาจากการทำไร่หมุนเวียน สร้างมลพิษจริงหรือไม่ ดร.นรชาติ ใช้วิธีทำการศึกษาโดยหาผลการดูดซับคาร์บอนที่เกิดจากการเผาจากพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน

แน่นอนว่า ไม่เผาดีกว่า ... แต่มันมีผลต่อต้นทุน ดังนั้นการเผาก็อาจจะยังมีความจำเป็น

คืนดินให้ธรรมชาติฟื้นฟู วิถีเกษตรไร่หมุนเวียน

ดร.นรชาติ นำเสนอให้เห็นปัจจัยสำคัญที่ต่างออกไป คือ การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงจะไม่ตัดไม้ในไร่แบบถอนรากถอนโคน ไม่เปิดหน้าดินทั้งหมด ดังนั้นต้นไม้ที่เหลืออยู่ในไร่ที่เพิ่งทำเสร็จไปจะมีลักษณะเหลือเป็นตอไม้ เป็นซากไม้ที่ยังมีรากฝังอยู่ในดิน เมื่อเผาก็จะปล่อยคาร์บอนเพียงแค่ 35% เมื่อเทียบกับการเผาไร่ในการทำเกษตรแบบทั่วไป และจะถูกดูดซับโดยไร่แปลงอื่นๆที่ถูกพักไว้

“ถ้าเราปล่อยให้ชาวกะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนแบบ Full Scale คือ มีพื้นที่พอให้เขาหมุนเวียนได้ครบ 7 ปี เมื่อเขาทำไร่ในแปลงที่ 1 และต้องเผาในขั้นตอนเก็บเกี่ยว เราจะพบว่า แปลงที่พักไป 2-3 ปี ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้พอที่จะช่วยดูดซับคาร์บอนได้ แต่พื้นที่ทำไร่ที่พักไปแล้วอีก 4 แปลง คือแปลงที่พักไป 4-7 ปี จะกลายสภาพกลับคืนเป็นป่าแล้ว จึงมีศักยภาพในการช่วยดูดซับคาร์บอนจากแปลงที่ 1 ได้จนหมด เพราะเป็นการเผาที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าการเผาในรูปแบบอื่นอยู่แล้วด้วย"

ผลการศึกษาเพื่อหาคำตอบจากสมมติฐานข้อที่ 3 การทำไร่หมุนเวียน ถือเป็นความมั่นคงทางอาหารจริงหรือไม่

“ชาวกะเหรี่ยงไม่ได้เคยคิดถึงการถือครองที่ดินเป็นของตัวเอง ในความคิดของชาวกะเหรี่ยง เราทำไร่เสร็จแล้ว ที่ดินตรงนั้นเราก็คืนกลับไปให้กลับเจ้าป่าเจ้าเขา คืนกลับไปให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู พวกเราชาวกะเหรี่ยงจึงมีวิถีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งจะคืนที่ดินที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว ให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูไปอีก 7 ปี ไร่ของพวกเราจึงไม่เคยต้องใช้สารเคมี และป่าที่เราอยู่กันมามากกว่าร้อยปี ก็ยังเป็นป่ามาถึงปัจจุบัน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่รัฐอยากเห็นจากเรา” พฤ โอโดเชา

คำกล่าวของ พฤ โอโดเชา ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงจาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่พยายามอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจของผืนป่าวิถีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้การยอมรับจากหน่วยงานของรัฐ แต่นี่เป็นประเด็นเดียวกันกับคำอธิบายของ ดร.นรชาติ เกี่ยวกับสมมติฐานข้อนี้

ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง ไม่ใช่พื้นที่ปลูกข้าวอย่างเดียว แต่การปล่อยให้พื้นที่ทำไร่ได้ฟื้นคืนกลับไปเป็นป่า ก็ทำมันกลายเป็นไร่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีผัก มีพืชผลอื่นๆจำนวนมากที่เป็นอาหารได้อยู่ในแปลง

ดร.นรชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมี กบ เขียด อึ่ง ปู ปลา จิ้งหรีด ตั๊กแตน ตัวตุ่น หรือสัตว์ตัวเล็กๆอีกจำนวนมากที่ใช้เป็นอาหารเพื่อเลี้ยงชีพอยู่ในแปลงไร่หมุนเวียนด้วย เพราะในแปลงไร่หมุนเวียนไม่มีสารเคมีเลย ทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาศัยอยู่ได้ตามระบบนิเวศดั้งเดิมของมัน เมื่อแปลงไร่ถูกพักให้ป่าฟื้นตัว

“เกษตรแปลงรวม”กติกาใหม่ชุมชนอยู่ร่วมป่าอนุรักษ์

เมื่อได้ผลการศึกษาออกมาเช่นนี้ ดร.นรชาติ วงศ์วันดี และ จตุภูมิ มีเสนา นักวิจัยอีกหนึ่งคนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ร่วมทำการศึกษานี้เช่นกัน จึงมีข้อสรุปที่น่าสนใจว่า จะตีพิมพ์ผลการศึกษาโครงการนี้ให้ถูกบันทึกเป็นหลักฐานทางวิชาการอย่างเป็นทางการ

พวกเขาเชื่อว่า การมี “หลักฐานทางวิชาการ” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำให้หน่วยงานของรัฐยอมเปิดพื้นที่สำหรับการสร้างกติกาใหม่ในการอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตป่าอนุรักษ์ได้ มากกว่าการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวแบบที่ทำมาตลอด

“เราต้องไม่ตัด “คน” ออกจากสมการของการอนุรักษ์ธรรมชาติครับ ยิ่งถ้าเราพยายามทำความเข้าใจชาวกะเหรี่ยง เราก็จะรู้ว่า เขาอยู่กับป่าด้วยความเคารพ เขาทำไร่แล้วคืนพื้นที่ป่าให้กลับมาสมบูรณ์ก่อนจะกลับไปทำใหม่ ซึ่งในหลายประเทศที่มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์มากๆ เขาก็ใช้หลักการนี้ คือ การทำ ความเข้าใจชุมชนที่อยู่อาศัยในป่าผ่านภูมิปัญญาการรักษาป่าของพวกเขาเอง และนำมาออกแบบเป็นกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ” จตุภูมิ อีกหนึ่งนักวิชาการในทีมวิจัย กล่าว

นำหลักฐานทางวิชาการ มาวิเคราะห์ เปิดวงพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน และสร้างกติกาที่ดีในการอยู่ร่วมกันไปพร้อมกับการดูแลรักษาป่า” จึงเป็นข้อเสนอจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หลังจากที่ได้ผลการศึกษาในโครงการนี้ออกมา

“ผมเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าวิถีการทำไร่หมุนเวียนเป็นสิ่งที่ดี เรายังต้องยอมรับด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯส่วนหนึ่งก็เป็นคนในพื้นที่ด้วยซ้ำไป แต่พอต้องมาคุยในระดับนโยบายหรือการบังคับใช้กฎหมาย ชาวบ้านก็พูดคุยในระบบคุณค่าของภูมิปัญญาที่พวกเขามี อธิบายได้ในเชิงปรัชญาที่สืบทอดต่อกันมา แต่ฝ่ายรัฐต้องการได้หลักฐานที่จะนำไปใช้อธิบายต่อได้ว่า คุณค่าที่ชาวบ้านพูดถึง มันมีอยู่จริงๆ” ดร.นรชาติ อธิบายสภาพปัญหา

เมื่อเรามีผลการศึกษาแล้ว มีหลักฐานทางวิชาการแล้ว ผมจึงเชื่อว่า นี่จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย มีพื้นที่ตรงกลางสำหรับการพูดคุยในเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น จากเดิม ชาวบ้านก็ยืนยันว่าพวกเขามีภูมิปัญญาที่ดี ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ได้แต่ยืนยันว่าพวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น

นักวิชาการเสนอรัฐมอบชุมชนกะเหรี่ยงดูแลพื้นที่ป่า

ดร.นรชาติ และ จตุภูมิ ยังมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในเชิงการจัดการพื้นที่ไร่หมุนเวียนในเขตป่าอนุรักษ์จากผลการศึกษาโครงการนี้ด้วย

ผลการศึกษาระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงสามารถทำไร่หมุนเวียนในรูปแบบ “เกษตรแปลงรวม” คือ ทั้งชุมชน ทำไร่ในพื้นที่แปลงเดียวกันได้ และเมื่อนำมาคำนวนว่า ชาวบ้าน 1 คน บริโภคข้าวประมาณคนละ 3 ขีดต่อวัน จะได้พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนที่เหมาะสม คือ ชุมชนละประมาณ 80-100 ไร่ ต่อปี รวม 7 แปลง เป็นพื้นที่ประมาณ 700 ไร่

ดังนั้น ใน 1 ปี จะมีพื้นที่กำลังทำไร่หมุนเวียน ประมาณ 100 ไร่ ,มีพื้นที่ทำไร่ซึ่งเพิ่งพักฟื้น (แปลงที่ 2-3) อีก 200 ไร่ และมีพื้นที่ทำไร่ที่ฟื้นตัวเป็นป่าแล้ว (แปลงที่ 4-7) อีก 400 ไร่ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็ยังมีสภาพเป็นป่าทั้งหมด จึงจะมีทั้งข้าวอินทรีย์คุณภาพดี มีความมั่นคงทางอาหารจากพืช ผัก และสัตว์เล็กๆ ละยังมีความสามารถดูดซับคาร์บอนจากการเผาได้อย่างแน่นอน

การศึกษาฉบับนี้ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมด้วยว่า หน่วยงานของรัฐ ควรมอบหมายให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการดูแลรักษาพื้นที่ป่า ในฐานะที่เป็นผู้อาศัยที่มีป่าเป็น “บ้าน” และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภูมิปัญญาการดูแลรักษาป่าที่เข้มแข็ง

ในงานวิจัย พบว่า 1 ครัวเรือน สามารถดูแลพื้นที่ป่าได้ 35 ไร่ ถ้าคิดเป็น 1 ชุมชน ก็จะมีหน้าที่ดูแลป่ารวมกันได้ประมาณ 2,000 ไร่ และถ้า 1 ตำบลมี 5 ชุมชน ก็จะมีคนช่วยดูแลพื้นที่ป่ารวมเป็น 10,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่รัฐเองไม่มีศักยภาพในการดูแลได้ดีพออยู่แล้ว แต่การออกแบบร่วมกันจะทำให้รัฐมีคนช่วยดูแลป่าเพิ่ม โดยที่รัฐไม่ต้องทำอะไรเลย และยังจะได้พื้นที่ป่าคืนมาเพิ่มโดยอัตโนมัติด้วยซ้ำ

ไร่หมุนเวียน เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่เหนื่อยมาก เพราะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรม ชาติวิทยาสูงมาก มีแต่ชาวกะเหรี่ยงที่มีองค์ความรู้เช่นนี้ จึงไม่ใช่ว่าจะไปถ่ายทอดให้คนกลุ่มอื่นมาทำตามได้ง่ายๆ

การทำไร่หมุนเวียน จึงเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ลึกซึ้งมากๆของชาวกะเหรี่ยงที่รัฐควรจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการสร้างกระบวนการให้พวกเขาได้ใช้ภูมิปัญญานี้ในการร่วมดูแลพื้นที่ป่าอย่างเต็มที่ 

แต่รัฐต้องเปิดช่องทางการพูดคุยให้ด้วย ต้องลืมการบังคับใช้กฎหมายแบบเดิมๆไปก่อน ฝั่งชาวบ้านเองก็ต้องนำหลักฐานทางวิชาการมาคุยโดยละทิ้งวิธีการอธิบายแบบเดิมไปก่อนเช่นกัน ซึ่งผมเชื่อว่า ผลการศึกษานี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่ายจะคุยกันด้วยเหตุผลได้ คนอยู่ได้ ป่าก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้” ดร.นรชาติ กล่าวทิ้งท้าย

รายงาน : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง