จับตาชาติเอเชียรับมือ "วิกฤตประชากรลด"

ต่างประเทศ
29 ก.พ. 67
14:10
378
Logo Thai PBS
จับตาชาติเอเชียรับมือ "วิกฤตประชากรลด"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาจำนวนประชากรลด เป็นโจทย์ใหญ่และยากของรัฐบาลหลายชาติในเอเชียที่แก้ไม่ได้สักที โดยเฉพาะในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่มีอัตราการเกิดต่ำติดอันดับโลก สาเหตุหนีไม่พ้นเรื่องค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็ก แม้รัฐจะออกนโยบายสนับสนุนให้คนมีบุตรและอัดฉีดเงิน แต่ก็ไม่ได้ผล

แม้ว่าภาพรวมทั้งเอเชียจะไม่ได้มีปัญหาเรื่องจำนวนประชากรสักเท่าไหร่ แต่ถ้ามองลึกลงไป จะพบว่าสถานการณ์ในหลายประเทศกำลังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้

เกาหลีใต้ครองสถิติประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2013 และปัญหานี้ก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ ซึ่งรวมถึงจำนวนเด็กเกิดใหม่ ที่ลดลงจาก 400,000 คนเศษๆ เหลือเพียง 230,000 คน ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอัดฉีดงบประมาณมากกว่า 360 ล้านล้านวอน หรือมากกว่า 9 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นการมีบุตรและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา แต่ก็ไม่สามารถพลิกสถานการณ์นี้ได้ ข้อมูลจากสำนักงานบริการข้อมูลสถิติเกาหลี ชี้ว่า อัตราเจริญพันธุ์ในเกาหลีใต้ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้ว จาก 1.239 ในปี 2015 เหลือเพียง 0.72 ในปี 2023

นั่นหมายความว่า ผู้หญิงเกาหลีใต้ 1 คน มีลูกไม่ถึง 1 คน ทั้งๆ ที่ตัวเลขอัตราเจริญพันธุ์เพื่อรักษาจำนวนประชากรอยู่ที่ 2.1 นั่นคือ ผู้หญิง 1 คน ต้องมีลูก 2 คนขึ้นไป ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า อัตราเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้ในปีนี้น่าจะลดต่ำลงอีก เหลือเพียง 0.68 หรือน้อยกว่าตัวเลขที่ควรจะเป็นเกือบ 3 เท่า

กรุงโซล ปูซาน อินชอน และ แทกู คือ 4 เมืองที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ซึ่งทั้ง 4 เมืองนี้มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ เป็นเมืองใหญ่และมีค่าครองชีพสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่างเมื่อปีที่แล้วกรุงโซลแซงหน้ากรุงโตเกียวของญี่ปุ่น คว้าตำแหน่งเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก

อ่าน : อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ ปี 2023 ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ธนาคารโลกอ้างอิงข้อมูลเมื่อปี 2021 ชี้ว่าเกาหลีใต้มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในเอเชีย ตามมาด้วยสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น และ ไทย จุดที่น่าสนใจ คือ ล่าสุดทางการสิงคโปร์ออกมาประกาศตัวเลขอัตราเจริญพันธุ์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งลดลงเหลือเพียง 0.97 เท่านั้น

นี่นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่ตัวเลขนี้ลดลงต่ำกว่า 1 ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ ระบุว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่คู่รักต้องเลื่อนแผนการแต่งงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้กระทบกับการวางแผนการมีบุตรตามมาด้วย

ส่วนในญี่ปุ่น ประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของโลก กำลังเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายไม่ต่างกัน โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขเด็กเกิดใหม่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เหลือไม่ถึง 760,000 คน แต่กลับมีตัวเลขผู้เสียชีวิตใกล้แตะ 1,600,000 คน ทำให้ประชากรทั้งประเทศลดลงมากกว่า 830,000 คน

อ่าน : อัตราการเกิดญี่ปุ่นปี 2023 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ยังมีคู่รักจดทะเบียนสมรสในญี่ปุ่นไม่ถึง 500,000 คู่ เป็นครั้งแรกในรอบ 90 ปี ซึ่งด้วยวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออก การไม่ได้แต่งงานก็มักตามมาด้วยการไม่มีบุตร โดย สส.ของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่าปัญหาอัตราการเกิดต่ำเรียกได้ว่าเป็นภัยคุกคามของชาติ เพราะกระทบไปถึงเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยในจีน ชี้ว่าอัตราค่าเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 18 ปี ในเอเชียกับชาติตะวันตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเกาหลีใต้และจีน ซึ่งถือเป็น 2 ประเทศ ที่ถ้าต้องการจะเลี้ยงเด็กสักคนต้องใช้เงินมากที่สุดในโลก อย่างในเกาหลีใต้ ต้องถือเงินมากกว่า 7 เท่าของรายได้ต่อปี ขณะที่จีนต้องมีมากกว่า 6 เท่า

ส่วนญี่ปุ่นดีขึ้นมาหน่อย อยู่ที่ 4.26 สูงกว่าสหรัฐฯ เล็กน้อย ขณะที่พ่อแม่ชาวฝรั่งเศสและออสเตรเลียสบายขึ้นมาหน่อย เพราะอัตราค่าเลี้ยงดูเด็ก 1 คน นาน 18 ปี อยู่ที่ราวๆ 2 เท่าของรายได้ทั้งปี ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยที่เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว หรือ GDP ต่อหัวของแต่ละประเทศเท่านั้น

เรื่องเงินเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นค่าเลี้ยงดูเด็ก ค่าครองชีพของพ่อแม่ รวมไปถึงต้นทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือค่าบ้านที่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ แต่เงินไม่ใช่ปัญหาเดียว โดยปัจจุบันผู้หญิงหลายคนเลือกไม่มีลูก เนื่องจากไม่ต้องการเสียสละชีวิตและโอกาสของตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องอาชีพการงาน จึงทำให้หลายบ้านผลักแผนมีลูกออกไปก่อน

อ่าน : "ญี่ปุ่น" เกิดต่ำ กระทบเทศกาลเปลือยกายอายุกว่าพันปี

อย่างเกาหลีใต้เอง ช่วงอายุของผู้หญิงที่มีลูกคนแรก ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 30-34 ปี ตามมาด้วยช่วงอายุ 35-39 ปี ซึ่งช่วงวัยที่เลยเลข 3 แบบนี้ สะท้อนว่าผู้หญิงอาจจะแต่งงานช้าลง หรืออาจจะเลือกความมั่นคงในอาชีพก่อนมีลูกก็เป็นได้

อัตราการเกิดต่ำถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยกเว้นในแอฟริกา แต่สถานการณ์นี้จะรุนแรงแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ซึ่งเอเชียถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่น่าวิตกไม่น้อย ปัญหานี้ต้องเร่งแก้ไข เพราะถ้าเข้าสู่ช่วงที่ประชากรวัยเจริญพันธุ์ลดจำนวนลงแล้ว การเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก

อ่าน : ถูกฉาบด้วยสีดอกเลา "ญี่ปุ่น" ขึ้นแท่นแชมป์ผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง