กินอาหาร "หน้าร้อน" ให้อร่อย ไม่เสี่ยงอาการ "ท้องร่วง"

ไลฟ์สไตล์
6 มี.ค. 67
11:05
592
Logo Thai PBS
กินอาหาร "หน้าร้อน" ให้อร่อย ไม่เสี่ยงอาการ "ท้องร่วง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อากาศที่ร้อนจัดส่งผลเสียให้ร่างกายหลายด้าน เช่น การขาดน้ำ อาการฮีทสโตรก และโรคอาหารเป็นพิษ-ท้องร่วง ที่จะเกิดได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน เพราะปัจจัยเรื่องอุณหภูมิที่ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ไวขึ้น และทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ

"โรคอาหารเป็นพิษ" เป็น 1 ในโรคที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน เช่นเดียวกับ "โรคท้องร่วง" ที่เป็นผลต่อเนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปะปน

รายงานจากระบบเฝ้าระวังโรค (รง.506) กองระบาดวิทยา และรายงานการเฝ้าระวังเหตุการณ์การระบาด พบว่า ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-3 ก.พ.2567 (ข้อมูล ณ 7 ก.พ.) พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 9,201 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต คิดเป็นอัตราป่วย 14.17 ต่อประชากรแสนคน

การรายงานผู้ป่วยพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบจำนวนการระบาดได้มากในช่วงฤดูร้อน หรือเทศกาลที่มีคนร่วมกิจกรรมกันจำนวนมาก 

อ่าน : "7 โรค" พบบ่อยช่วง "หน้าร้อน" รู้ก่อนป้องกันป่วย

อาหารที่ควรระวังช่วงหน้าร้อน

  1. ยำ ส้มตำ อากาศร้อนจัดๆ คนจะอยากกินอาหารที่มีรสจัดมากกว่าอาหารประเภทกะทิ หรือ รสชาติจืด เมนูอาหารประเภทยำ ส้มตำ หากปรุงไม่สะอาด ก็อาจทำให้อุจจาระร่วง หรือ อาหารเป็นพิษได้ 


  2. อาหารหมักดอง ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ดอง กะปิ แหนม ปลาร้า หากปรุงไม่สะอาดอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียน นอกจากนี้ถ้ามีเชื้อไวรัสก็อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ โดยเฉพาะแหนม นอกจากจะมีโอกาสได้รับพยาธิตัวตืดแล้ว ยังอาจได้รับสารพิษที่มีชื่อว่า ไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
  3. ของดิบ หรือ ของปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ลาบดิบ ซอยจุ๊ ที่อาจจะมีไข่พยาธิ หรือ เชื้อโรคปะปนอยู่ในเนื้อสัตว์มาก่อนอยู่แล้ว หากกินเข้าไปแบบดิบๆ นอกจากจะเสี่ยงโรคท้องร่วงแล้ว ยังเสี่ยงกับโรคที่เกิดจากพยาธิต่างๆ ด้วย ส่วนอาหารญี่ปุ่นประเภทซูชิ ปลาดิบ อากาศที่ร้อน จะเร่งให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ไวและมากขึ้น 

  4. อาหารที่มีส่วนประกอบของมะพร้าว-กะทิ "กะทิ" ถือเป็นอาหารที่ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะบูดง่าย ยิ่งในช่วงฤดูร้อน กะทิ จะบูดไวขึ้น อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม เช่น ขนมไทยต่างๆ แกงกะทิ หรือเมนูที่มีมะพร้าวโรยหน้า ควรกินให้หมดในวันเดียวจะปลอดภัยมากกว่าการเก็บแช่ตู้เย็นแล้วนำมาอุ่นกินในวันถัดไป


  5. น้ำแข็งไส เป็นอาหารที่หากินได้ง่ายทั่วไป มีทั้งที่ขึ้นห้างและตามบ้านเรือนร้านค้า น้ำแข็งไสราดน้ำเชื่อมหรือนมข้มจะขายดีมากๆ ในช่วงหน้าร้อน เพราะกินแล้วสดชื่น ดับกระหาย แต่ต้องระมัดระวังในการเลือกร้านค้า เพราะขั้นตอนในการไสน้ำแข็งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ 


  6. สลัด-สลัดโรล เป็นอีกหนึ่งเมนูที่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันมาก ผักสดที่ใช้ต้องล้างน้ำให้สะอาด เพราะอาจมีการปนเปื้อนของไข่พยาธิ หรือ แบคทีเรียที่มาจากดินได้ และน้ำสลัดที่มีส่วนผสมของไข่ดิบ มายองเนส ก็ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมก่อนนำมากินคู่กับสลัด

  7. อาหารทะเล หน้าร้อนคนชอบไปเที่ยวทะเล และมักสั่งอาหารทะเลสดๆ กิน ข้อแนะนำคือควรทำให้สุกก่อนกิน อย่ากินอาหารดิบเพราะมีความเสี่ยงต่ออาการท้องร่วงมากกว่า ที่สำคัญ หากป่วยจะทำให้เสียบรรยากาศการลงทะเลดับอากาศร้อน


  8. อาหารที่มีแมลงวันเกาะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทไหนก็ตาม แต่ไม่ควรวางไว้ให้แมงวันมาตอมอย่างเด็ดขาด เพราะแมลงวันจะหลั่งสารย่อยอาหารจากปากตัวมันเอง หากคนนำมากินต่อก็จะได้รับเชื้อโรคจากแมลงวันไปเต็มๆ ดังนั้นควรเก็บอาหารที่กินไม่หมด หรือยังไม่ได้กินไว้ในตู้กับข้าว หรือหาฝาชีมาครอบ

     
  9. อาหารค้างคืน ในกรณีที่กินอาหารไม่หมดในวันเดียวจริงๆ ในวันถัดมาหากจะนำมาอุ่นกิน ต้องมั่นใจก่อนว่าอาหารที่นำมากินต่อนั้นไม่บูดหรือเสีย โดยให้สังเกตจาก กลิ่น สี ที่เปลี่ยนไป หรือมีฟองอากาศเล็กๆ ขึ้นมาหรือไม่


  10. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มสุรา ทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย และทำให้ "ตับ" ทำงานหนักมากขึ้น นอกจากนี้แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเร็ว ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เกลือแร่ทางเหงื่อ และทางปัสสาวะได้ง่าย อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำรุนแรง ทำให้ช็อกหมดสติและอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค แนะนำเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง

ที่สำคัญขอให้ยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด

รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำแข็ง และน้ำดื่มที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก หากอาหารที่รับประทานมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ สำหรับผู้ประกอบอาหาร ควรยึดหลักสุขอนามัยของผู้ปรุงและสุขาภิบาลอาหาร

อ่าน : "ผัก - ผลไม้ - สมุนไพรไทย" ฤทธิ์เย็น มีประโยชน์ ช่วยคลายร้อน

ที่มา : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง