สธ.เผยช่วงหน้าร้อนปี 66 พบเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน 37 คน

ภัยพิบัติ
7 มี.ค. 67
12:19
1,414
Logo Thai PBS
สธ.เผยช่วงหน้าร้อนปี 66 พบเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน 37 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรคเผยช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2566 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน 37 คน โดยพบมากสุดในเดือน เม.ย. พร้อมแนะกลุ่มเสี่ยง-คนทำงานกลางแจ้งป้องกันฮีทสโตรก

วันนี้ (7 มี.ค.2567) พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน หลายพื้นที่มีอากาศร้อนอบอ้าวและค่าดัชนีความร้อนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกรมอุตุฯ คาดการณ์ว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยอาจสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส

ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยจากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) ที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายและเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

อ่านข่าว : ร้อนฉ่า! กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนมี.ค.-เม.ย.ร้อนจัดเกิน 40 องศาฯ 

ข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือน มี.ค.- พ.ค.ของทุกปี พบรายงานผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ระหว่างปี 2560-2566 จำนวน 24, 18, 57, 12, 7, 8 และ 37 คน ตามลำดับ

ในปี 2566 ระหว่างวันที่ 5 มี.ค.- 22 พ.ค. มีรายงานการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนรวม 47 คน ในจำนวนนี้ป่วย 10 คนและเสียชีวิต 37 คน พบมากสุดในเดือน เม.ย. ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย

สำหรับผู้ป่วย 10 คน มีอายุระหว่าง 13-75 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 30%) รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 20) จากข้อมูลยังพบว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวร่วมด้วย (ร้อยละ 10) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจและหลอดเลือด และเป็นผู้ป่วยติดเตียง กิจกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การทำกิจกรรมกลางแจ้ง การดื่มสุรา ทั้งนี้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยขณะอยู่กลางแจ้งถึงร้อยละ 80

ส่วนผู้เสียชีวิต 37 คน มีอายุระหว่าง 17-81 ปี ประกอบอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 27) ภาคกลางมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อนสูงที่สุด (ร้อยละ 35) นอกจากนี้พบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวร่วมด้วย (ร้อยละ 31) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจและหลอดเลือด มีพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การดื่มสุรา อีกทั้งพบว่าเป็นการเสียชีวิตกลางแจ้ง (ร้อยละ 62)

อาการ "ฮีทสโตรก" วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

โรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนสูงมาก โดยเฉพาะที่มากกว่า 40 องศาเซลเซียส จนทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ มีอาการตัวร้อน วิงเวียน ปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ภาวะขาดน้ำ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง เป็นลม อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก พูดจาสับสนได้ หากพบผู้เริ่มมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็นและให้ดื่มน้ำมากๆ

ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจและให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669

อ่านข่าว : รู้จัก "ฮีทสโตรก" ภัยความร้อนเกิน 40 องศาฯ ตายเฉลี่ย 33 คนต่อปี 

พญ.จุไร ยังแนะนำวิธีป้องกันฮีทสโตรก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมทั้งเด็กและหญิงตั้งครรภ์ หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป
2. ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่
3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศร้อน อับและถ่ายเทไม่ดี
5. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ เพราะจะสะสมความร้อนได้ ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อนและไม่รัดแน่นจนเกินไป
6. ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก รถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10-20 นาที
7. ไม่ควรอยู่กลางแจ้งคนเดียว ควรอยู่เป็นกลุ่ม เพราะหากมีอาการผิดปกติจะได้มีคนช่วยเหลือได้ทัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้อนนี้อีกนาน! กทม.35 องศาฯ

ไทย "ร้อน" แตะ 40 องศาฯ 6 มี.ค.ค่าดัชนีความร้อนพุ่ง 51.4

ร้อน ร้อน แบบนี้ แนะ 6 วิธีคลายร้อน ช่วงอุณหภูมิสูงแตะ 40 องศาฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง