เที่ยงคืน! ลุ้นขยะอวกาศครึ่งตันผ่านไทยพิกัดราชบุรี-กาญจนบุรี

Logo Thai PBS
เที่ยงคืน! ลุ้นขยะอวกาศครึ่งตันผ่านไทยพิกัดราชบุรี-กาญจนบุรี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุเที่ยงคืนนี้ (9 มี.ค.) ตั้งแต่เวลา 00.00-00.30 น. ลุ้นขยะอวกาศ ขนาดครึ่งหล่นจากสถานี ISS พิกัดผ่าน จ.ราชบุรี-กาญจนบุรี หลังสัปดาห์นี้มีทั้งดาวตกชนิดลูกไฟและดาวตกชนิดระเบิด

วันนี้ (8 มี.ค.2567) เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยแพร่ข้อมูลว่า เปิดหน้าขยะอวกาศขนาดครึ่งตัน จากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่กำลังตกลงโดยระบุเพิ่มเติมว่า เที่ยงคืนวันนี้ (ราว 00.00-00.30 น.) หากมีลูกไฟสว่าง ไสวเคลื่อนไปช้าๆ จากฟ้าตะวันตกยังตะวันออก ให้สันนิษฐานเลยว่าเป็นขยะอวกาศ จากสถานีอวกาศนานาชาติ  

นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า วิถีโคจร (ไม่ใช่จุดตก) ของขยะอวกาศขนาดครึ่งตัน จากสถานีอวกาศนานาชาติ  ขณะเคลื่อนผ่านน่านฟ้าไทยคืนนี้ 00.04-00:13 น. ทั้งนี้ สมาคมดาราศาสตร์ไทยจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบ

ภาพจาก Satflare

ภาพจาก Satflare

ภาพจาก Satflare

ในช่วงสัปดาห์นี้เกิดปรากฎการณ์เกี่ยวกับดาราศาสตร์ 2 ครั้งติดต่อกัน โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา โลกออนไลน์พากันแชร์ลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าเป็นแนวยาว คืนวันที่ 4 มี.ค. ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น.

โดยมีผู้พบเห็นเป็นจำนวนมากหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบรี ชลบุรี สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา จากข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าเป็นดาวตกชนิดลูกไฟ

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" เผยแพร่ภาพจาก sky camera หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา พร้อมระบุว่า ช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 19.00 น. ปรากฏ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้าเป็นทางยาวเหนือหอดูดาวภูมิภาคฉะเชิงเทรา

อ่านข่าว ไขคำตอบ "ดาวตกชนิดลูกไฟ" แสงเขียวเหนือท้องฟ้าไทย

รู้จักขยะอวกาศ

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า  “อวกาศ” เปรียบเสมือนน่านน้ำสากลที่ใหญ่ที่สุด ที่ปัจจุบันมีการส่งดาวเทียมและยานอวกาศจากนานาประเทศทั่วโลก เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการสำรวจทรัพยากร การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ของโลก การติดต่อสื่อสารทางไกล ไปจนถึงด้านความมั่นคงของชาติหรือทางการทหาร

ทำให้ภายในปี ค.ศ.2022 มีดาวเทียมที่ยังคงปฏิบัติภารกิจและโคจรอยู่รอบโลกมากกว่า 5,000 ดวง และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นในทุก ๆ วัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายในปี ค.ศ.2030 จะมีดาวเทียมโคจรอยู่รอบโลกมากถึง 60,000 ดวง

อย่างไรก็ดีตาม แม้จำนวนดาวเทียมที่มากขึ้น อาจสื่อถึงความเจริญทางเทคโนโลยีก็จริง แต่ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะตามมาในไม่ช้าก็คือ “ขยะอวกาศ” ที่เกิดจากดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว ซึ่งดาวเทียม 1 ดวงไม่ได้กลายเป็นขยะอวกาศแค่ 1 ชิ้น

หากปล่อยทิ้งไว้ในวงโคจรรอบโลก มันมีโอกาสที่จะถูกชนเข้ากับวัตถุขนาดเล็กในอวกาศอื่น ๆ รวมไปถึงชนกันเองกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ทำให้จากขยะเพียงชิ้นเดียว ก็กลายเป็นกลุ่มฝูงขยะจำนวนนับไม่ถ้วนที่โคจรอยู่รอบโลกต่อไป

ภาพขยะอวกาศ จาก NASA

ภาพขยะอวกาศ จาก NASA

ภาพขยะอวกาศ จาก NASA

และทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสในการไปชนเข้ากับดาวเทียมดวงอื่น ๆ มากขึ้นไปอีก โดยจากการประเมินในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะมีขยะอวกาศที่ไม่สามารถติดตามได้มากถึง 100 ล้านล้านชิ้นอยู่รอบโลก และจะยิ่งทวีคูณเพิ่มมากยิ่งขึ้นหากยังไม่มีการกำหนดแนวทางการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการพยายามผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาในการควบคุมดาวเทียม เพื่อลดจำนวนขยะอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับสนธิสัญญาเพื่อปกป้อง High Seas หรือน่านน้ำสากล ที่กว่า 170 ประเทศจากทั่วโลกพร้อมใจกันหาข้อตกลงร่วมกันและลงมือปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดการรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติโดยปราศจากการควบคุม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง