ผู้ปกครองเด็กหญิง ป.6 แจ้งความเอาผิด หลานถูกเพื่อนรุมทำร้าย

ภูมิภาค
10 มี.ค. 67
20:20
5,650
Logo Thai PBS
ผู้ปกครองเด็กหญิง ป.6 แจ้งความเอาผิด หลานถูกเพื่อนรุมทำร้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เด็กหญิง ป.6 ถูกรุมทำร้ายในห้องเรียน มีอาการปวดศีรษะ สภาพจิตใจย่ำแย่ บวมช้ำตามใบหน้า ด้านผู้ปกครองลั่นเอาผิดถึงที่สุด

วันนี้ (10 มี.ค.2567) จากกรณีเด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ถูกกลุ่มนักเรียนหญิงรุมทำร้ายร่างกายถึงในห้องเรียน เนื่องจากไม่ยอมให้แอบถ่ายในห้องน้ำนั้น

เรื่องนี้ทางเพจ "เป็นหนึ่ง" ระบุข้อความว่า ผู้ปกครองเด็ก ป.6 จ.นครศรีธรรมราช ร้องมาทางเพจเพื่อขอความช่วยเหลือและขอความยุติธรรมให้กับหลานสาวถูกรุ่นพี่รุมทำร้ายร่างกาย

เหตุนี้เกิดขึ้นเมื่อ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างจัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศ นักเรียนผู้ก่อเหตุ ไม่พอใจที่นักเรียนผู้บาดเจ็บให้เท้าปัดโทรศัพท์ขณะพยายามถ่ายภาพในห้องน้ำ จึงตามมาทำร้ายและบันทึกภาพไว้และเผยแพร่ลงในสังคมออนไลน์

สำหรับเหตุการณ์นี้ผู้ปกครองนักเรียนหญิง ชั้น ป.6 ต้องการดำเนินคดีกับกลุ่มนักเรียน ที่ร่วมกันทำร้ายหลานสาวจนได้รับบาดเจ็บ เพราะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และก่อนหน้านี้โรงเรียนพยายามปกปิด และไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา จึงต้องการดำเนินคดี เพื่อให้เป็นบทเรียนว่าไม่ควรมีการใช้ความรุนแรง

ต่อมา ทางเพจได้โพสต์ถึงความคืบหน้า และอัปเดตอาการของนักเรียนหญิงคนดังกล่าวว่า ขณะนี้ มีอาการปวดศีรษะและบวมช้ำตามใบหน้า สภาพจิตใจของน้องแย่มาก ขณะนี้กลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านแล้ว

นักวิชาการตั้งคำถาม โรงเรียนยังเป็นพื้นที่ปลอดภัย 

ด้านนักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า เหตุการณ์รูปแบบนี้ มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น สะท้อนว่า นโยบายพื้นที่ปลอดภัยของกระทรวงศึกษาธิการไม่เป็นผล นอกจากจะทบทวนแนวทางจัดการปัญหานี้ การดูแลเฉพาะความเป็นเลิศด้านการศึกษาไม่เพียงพอ ต้องหันมาดูแลสภาพจิตใจของนักเรียนอย่างใกล้ชิด

ส่วนการเยียวยาจิตใจ เด็กทั้งฝ่ายกระทำ และถูกกระทำ ทำได้หลังเหตุการณ์ผ่านไปพอสมควร โดยต้องออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กมีส่วนร่วม และเห็นใจซึ่งกันและกัน

ส่วนการป้องกันและระงับเหตุรุนแรง รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม มองว่า ครูควรจัดโฮมรูมช่วงเย็น เพื่อให้เด็กตอบความรู้สึกของการมาโรงเรียนในแต่ละวัน เพื่อให้ครูจับสัญญาณปัญหาเบื้องต้น เด็กจะเข้าใจความรู้สึกตัวเอง และรับรู้ความรู้สึกคนรอบข้าง

ส่วนโรงเรียนและพื้นที่เขตการศึกษาต้องไม่นิ่งนอนใจหากเกิดเหตุวิวาทขึ้น ต้องวางกลไกร่วมกับชุมชน เพื่อเข้าระงับเหตุ และไม่นำเรื่องราวส่งต่อในลักษณะการนินทา ขณะเดียวกันในโรงเรียนต้องเพิ่มความรู้ความเข้าใจกฎหมายให้กับนักเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมละเมิดสิทธิผู้อื่น เช่น การโพสต์ภาพ คลิปเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ว่าจะมีผลเสียและบทลงโทษอย่างไร

อ่านข่าวอื่น ๆ

เด็กประสบเหตุรุนแรง เสี่ยงโรค PTSD หมอแนะพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี

สังเกต 6 พฤติกรรมเด็กหลังเผชิญเหตุรุนแรง ป้องกันบาดแผลฝังลึกทางใจ

ห้องสอบสวนเด็ก เมื่อกระบวนการยุติธรรมต้องการ “ข้อเท็จจริงจากเด็ก” มากกว่าการตีตรา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง