"ออปเพนไฮเมอร์" ผู้มอบอำนาจการทำลายล้างให้ "มนุษย์"

ไลฟ์สไตล์
12 มี.ค. 67
16:26
1,253
Logo Thai PBS
"ออปเพนไฮเมอร์" ผู้มอบอำนาจการทำลายล้างให้ "มนุษย์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ครั้งที่ 96 เรื่องราวที่พูดถึงนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นระเบิดปรมาณูที่ใช้โจมตี ฮิโรชิมะ และ นางาซากิ ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่แลกกับความทุกข์ทรมานทางจิตใจของคนสร้าง และทำให้โลกในทุกวันนี้เป็นโลกของ "ออปเพนไฮเมอร์"

หนังสือที่ชื่อ American Prometheus : The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer ที่คริสโตเฟอร์ โนแลน ได้อ่านจนจบ ยิ่งเหมือนเติมเชื้อไฟให้ผู้กำกับหนังชื่อดังตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ที่เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในมุมมองของ "จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์" ผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตันที่พัฒนาระเบิดปรมาณู นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นรุ่นน้องของ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" 

โพรมีธีอุสขโมยไฟจากเทพเจ้าและมอบให้มนุษย์
ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกล่ามโซ่ไว้กับก้อนหินและถูกทรมานชั่วนิรันดร์

คงไม่ต่างอะไรกับชีวิตจริงของ จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ที่ต้องจ่ายค่าทนทุกข์ทรมานด้านมโนธรรมไปชั่วชีวิตของเขากับความสำเร็จที่สามารถไขความลับของระเบิดปรมาณู และมอบอำนาจการทำลายล้างให้กับมนุษย์ 

จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์

จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์

จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์

เด็กชายผู้อ่อนแอสู่อาจารย์ฟิสิกส์ควอนตัม

ออปเพนไฮเมอร์เกิดที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อปี 1904 ครอบครัวของเขาเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากเยอรมนี ในวัยเด็กเขาเป็นคนขี้อาย มักถูกเพื่อนรังแก จึงชอบปลีกตัวอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียว พออายุ 21 ปี ออปเพนไฮเมอร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอีก 2 ปีต่อมา เขาคว้าปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน ในประเทศเยอรมนี ด้านฟิสิกส์เชิงทฤษฎี โดยเน้นการใช้กลศาสตร์ควอนตัม ศึกษาธรรมชาติของนิวเคลียสในอะตอม และทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 

นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญฟิสิกส์เชิงทฤษฎีแล้ว เขายังมีความรู้ทางมนุษยศาสตร์และเข้าใจภาษาต่างประเทศถึง 6 ภาษา รวมถึงภาษากรีกและภาษาสันสกฤต เขาใช้ความรู้ในภาษาโบราณของอินเดีย อ่านและศึกษาคัมภีร์ภควัทคีตาของศาสนาฮินดูอย่างลึกซึ้ง

ต่อมา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1943-1945 เขาได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยและมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามใน "โครงการแมนฮัตตัน" ที่บริเวณ ลอสอาลามอส รัฐนิวเม็กซิโก และใช้เวลาเพียง 2 ปีครึ่ง ก็สามารถประดิษฐ์ "ระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก" ได้สำเร็จ

บิดาแห่งระเบิดปรมาณู

จากสายเลือดชาวยิวที่ฝังใจต่อการกระทำอันโหดร้ายของนาซีเป็นทุนเดิม ประกอบกับการทาบทามของกองทัพสหรัฐฯ ให้เข้าร่วมโครงการแมนฮัตตัน เพราะมีข่าวความพยายามสร้างระเบิดปรมาณูจากทางเยอรมนี ออปเพนไฮเมอร์และนักวิทยาศาสตร์จากเมืองของสหรัฐฯ และอังกฤษ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการแมนฮัตตัน ยอมตัดขาดจากโลกภายนอกเข้าไปอยู่ในพื้นที่ "ลอสอาลามอส" เมืองที่ไม่ปรากฏในแผนที่สหรัฐฯ

โครงการแมนฮัตตัน ที่ลอสอาลามอส รัฐนิวเม็กซิโก

โครงการแมนฮัตตัน ที่ลอสอาลามอส รัฐนิวเม็กซิโก

โครงการแมนฮัตตัน ที่ลอสอาลามอส รัฐนิวเม็กซิโก

ในบันทึกความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เคยเขียนไว้ว่า ตอนปลายปี ค.ศ.1944 เมืองลอสอาลามอสเต็มไปด้วยดาราทางวิทยาศาสตร์ เช่น เอ็นริโก เฟอร์มี, เอมิลิโอ เซอเกร, เฮอร์เบิร์ท แอนเดอร์สัน และ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ เป็นต้น 

ในที่สุด เมื่อวันที่ 16 ก.ค.1945 เวลา 05.30 น. "Trinity" ระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก ก็ระเบิดที่กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก ห่างจากลอสอาลามอสไปทางใต้เกือบ 200 ไมล์ ระเบิดลูกนี้เป็นการทดสอบว่า ระเบิดปรมาณูจะระเบิดจริงตามทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์หรือไม่ และทันทีที่เห็นควันรูปดอกเห็ดขนาดใหญ่ปรากฏขึ้น ต่อจากนั้น 30 วินาทีแรงอัดอากาศก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทันทีทันใด ตามมาด้วยเสียงหนักแน่นติดต่อกัน การระเบิดทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ตรงจุดระเบิด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งไมล์ ออปเพนไฮเมอร์ ผู้ชอบอ่านกวีนิพนธ์ภาษาสันสกฤตได้เอ่ยคำอุทานจากคัมภีร์ภควัทคีตาขึ้นทันที

I have become Death the Destroyer of Worlds.
ตอนนี้ฉันกลายเป็นความตายแล้ว ผู้ทำลายล้างโลก
การระเบิดที่นางาซากิ สงครามโลกครั้งที่ 2

การระเบิดที่นางาซากิ สงครามโลกครั้งที่ 2

การระเบิดที่นางาซากิ สงครามโลกครั้งที่ 2

หลังทฤษฎีถูกพิสูจน์จนสำเร็จ เหล่าผู้มีอำนาจตัดสินใจได้นำผลการทดลองของออปเพนไฮเมอร์เข้าประชุมเพื่อเลือกว่า "เมืองไหนของญี่ปุ่นที่ควรทิ้งระเบิดปรมาณู" แม้ในเวลานั้น "ญี่ปุ่น" และฝ่ายอักษะจะพ่ายแพ้ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว แต่ทาง ปธน.แฮร์รี เอส.ทรูแมน ของสหรัฐฯ ที่ต้องการกำชัยชนะไว้ให้มั่น เลือกใช้การทิ้ง "Little Boy" ใส่เมืองฮิโรชิมะในวันจันทร์ที่ 6 ส.ค.1945 และ "Fat Man" ใส่เมืองนางาซากิในวันพฤหัสบดีที่ 9 ส.ค.1945 เพื่อขู่ให้ผู้แพ้ต้องยอมจำนนจนราบคาบ และญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการในที่สุด 

การระเบิดที่ฮิโรชิมะ สงครามโลกครั้งที่ 2

การระเบิดที่ฮิโรชิมะ สงครามโลกครั้งที่ 2

การระเบิดที่ฮิโรชิมะ สงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อบางอย่างเกิดขึ้น เราอาจย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้

เสียงกู่ก้องร้องไชโยต่อชัยชนะของสหรัฐฯ ที่สามารถกำราบคู่ต่อสู้จนราบคาบ ทำให้ออปเพนไฮเมอร์กลายเป็นคนดัง ถึงกับได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร Time แต่ข่าวความเสียหายของเมืองและตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูทั้ง 2 ลูก กลับไม่ได้ทำให้ออปเพนไฮเมอร์รู้สึกดีใจไปกับความสำเร็จของเขาและทีมนักวิทยาศาสตร์ ความคิดที่ต้องการข่มขู่คู่ต่อสู้ในหยุดสงคราม กลับส่งผลที่มากเกิดการวางแผนของนักวิทยาศาสตร์โครงการแมนฮัตตัน หลายประเทศมหาอำนาจที่รู้ว่าสหรัฐฯ สามารถผลิตอาวุธทำลายล้างโลกได้ ก็วางแผนกักตุนอาวุธไว้บ้าง

"โซเวียต" ในขณะนั้นที่ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ ได้ข้อมูลลับจากห้องทดลองโครงการสร้างระเบิดปรมาณู ทำให้โซเวียตกลายเป็นชาติที่สร้างระเบิดปรมาณูได้ในที่สุด ต่อจากสหรัฐฯ โดย "ทีโอดอร์ ฮอลล์" นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ 1 ในทีมวิจัยระเบิดปรมาณูที่อยู่ในโครงการเดียวกันกับออปเพนไฮเมอร์เป็นผู้ที่ขายความลับของชาติ

ธีโอดอร์ ฮอล์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน สายลับผู้ขายความลับให้โซเวียต

ธีโอดอร์ ฮอล์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน สายลับผู้ขายความลับให้โซเวียต

ธีโอดอร์ ฮอล์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน สายลับผู้ขายความลับให้โซเวียต

ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของ ผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตัน "คิตตี้ ออปเพนไฮเมอร์" ภรรยาของเขาออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า สามีของเธอไม่เคยมีความสุขกับสิ่งประดิษฐ์ที่เขาเป็นคนสร้าง หลายปีหลังจากการระเบิดที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ ออปเพนไฮเมอร์ได้กลับมาพบกับ "ไอน์สไตน์" และบอกว่า เขารู้แล้วว่าการกระทำของเขานำไปสู่การสิ้นสุดของโลก พลังงานปรมาณูจากระเบิดลูกแรก ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่กินเวลานานหลายทศวรรษ มนุษย์และสิ่งแวดล้อมต้องได้รับผลกระทบนี้ไปอีกนาน เขารู้สึกผิดต่อหายนะที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20

20 ปีหลังจากการโจมตีฮิโรชิมะและนางาซากิ ออปเพนไฮเมอร์ปรากฏตัวในสารคดีของ NBC News ในปี 1965 เรื่อง The Decision to Drop the Bomb พร้อมกับพูดว่า

ผมรู้ว่าโลกจะไม่เหมือนเดิม มีบางคนหัวเราะ มีคนไม่กี่คนร้องไห้ คนส่วนใหญ่เงียบ
ตอนนี้ฉันคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลก 

หลังจากออกจากราชการ ออปเพนไฮเมอร์ใช้ชีวิตบั้นปลายที่หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ กับครอบครัว เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ เพราะสูบบุหรี่จัด ในวันที่ 18 ก.พ.1967 ปิดฉากบิดาแห่งระเบิดปรมาณู โดยเขาได้ทิ้งคำกล่าวก่อนสิ้นใจว่า

ข้าพเจ้ารู้สึกผิดที่ทำให้โลกมีระเบิดปรมาณู แต่ไม่เสียใจ

รู้หมือไร่ : การระเบิดที่ฮิโรชิมะมีผู้เสียชีวิต 140,000 คนและที่นางาซากิ 80,000 คน โดยนับถึงปลายปี 1945 จำนวนคนที่เสียชีวิตทันทีในวันที่ระเบิดลงมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่กล่าวนี้ และในระยะต่อมาก็ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยการบาดเจ็บหรือจากการรับกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิดอีกนับหมื่นคน 

อ่าน : ไม่พลิกโผ! "Oppenheimer" คว้า 7 ออสการ์ จากเข้าชิงทั้งหมด 13 รางวัล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง