"อินทผลัม" ผลไม้มหัศจรรย์แห่ง "เดือนรอมฎอน"

ไลฟ์สไตล์
12 มี.ค. 67
14:39
10,049
Logo Thai PBS
"อินทผลัม" ผลไม้มหัศจรรย์แห่ง "เดือนรอมฎอน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทำความรู้จักกับ "อินทผลัม" ผลไม้ที่นิยมเดือนรอมฎอน โดดเด่นรสหวาน-เพิ่มพลังงาน ช่วงถือศีลอด

เข้าสู่ "เดือนรอมฎอน 2567" ชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ ร่วม "ถือศีลอด" ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก โดยในปีนี้ทาง "สำนักจุฬาราชมนตรี" ประกาศให้วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567

การถือศีลอดมีจุดประสงค์ เพื่อให้อิสลามิกชนได้ตระหนักรู้ถึงความยากลำบาก ได้เรียนรู้อุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต  การถือศีลอดจึงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่าง ๆ ด้วยความเพียร และสติปัญญา

การถือศีลอด จึงเป็นการขัดเกลาจิตใจให้อิสลามิกชนเป็นผู้มีสติหนักแน่น อดทนต่อความหิวโหย อดทนต่อความโกรธ ไม่ปล่อยจิตใจไหลไปตามสิ่งเย้ายวนอารมณ์


อินทผลัม  สมุนไพรจากอัลกุรอาน

เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น วิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ พร้อมน้ำตาลผลไม้ที่ให้พลังงานได้อย่างเต็มเปี่ยมภายในเวลาสั้น ๆ สามารถเก็บได้เป็นเวลานาน ผลให้รสอร่อยทั้งแบบสดและแบบแห้ง ในอดีตอินทผลัมจึงเป็นอีกหนึ่งผลไม้ช่วยชูกำลังที่ช่วยชีวิตคนในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาที่ต้องเดินทางอยู่กลางทะเลทรายและอากาศที่แห้งแล้ง 

สำหรับชาวมุสลิม นอกจากความเชื่อเรื่องการเป็นผลไม้แห่งการประทานพรจากพระเจ้าที่กินแล้วเพิ่มพูนผลบุญได้แล้ว ยังเป็นผลไม้ที่เพิ่มพลังให้กับคนที่อดอาหารมาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนตกดิน เพื่อให้มีกำลังลุกขึ้นไปปฏิบัติศาสนกิจในเดือนแห่งเกียรติยศนี้ได้เป็นอย่างดี

ตลอดช่วงกลางวัน "ผู้ที่ถือศีลอด" จะไม่สามารถกินหรือดื่มสิ่งใด ๆ ได้เลย และมีผลไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวมุสลิมจะรับประทานหลังจาก ถือศีลอดมาทั้งวันในตอนค่ำ โดยเชื่อว่า จะช่วยทำให้ร่างกายที่อ่อนเพลียจากการอดอาหารมาตลอดทั้งวันมีพละกำลังดังเดิม นั้นคือ "อินทผลัม" 

อ่าน : "รอมฎอน 2567" เดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม

หากพูดถึง "อินทผลัม" ทุกคนคงเคยเห็นทั้งในแบบอบแห้ง และแบบผลดิบและผลสุก เมื่อสุกมีรสหวานจัด ให้พลังงานสูง นอกจากนี้ยังคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ ผลอินทผลัมสดสามารถนำมากินได้โดยตรง และสามารถนำไปแปรรูปก็ได้ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับ "อินทผลัม" ให้มากยิ่งขึ้น 

อินทผลัม เป็นพืชในตระกูลปาล์ม มีหลากหลายพันธุ์ เจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งแบบทะเลทราย โดยอินทผลัม มีถิ่นกำเนิดในประเทศอิหร่าน อิรัก ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นปาล์มต้นเดี่ยว แต่อาจมีการแตกก่อบ้าง ลำต้นขนาด 30-50 เซนติเมตร สูงได้ถึง 30 เมตร หากได้รับการเอาใจใส่ให้น้ำสม่่ำเสมอ พบว่า อินทผลัม ที่ปลูกด้วยเมล็ด ใช้เวลาเติบโตเพียงประมาณ 2 ปี และสามารถให้ผลผลิตได้

อินทผลัม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phoenix dactylifera L. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Date Palm ในภาษาอาหรับอินทผลัมมีหลายคำ เช่น อัลบะละฮฺ (لَحُ) หมายถึงผลของอินทผลัมที่ยังไม่สุก อัรรุฏ่อบุ้ (الرُّطَبُ) หมายถึงผลของอินทผลัมที่สุดแล้ว ตัมรฺ (تَمْرٌ) หมายถึง อินทผลัมแห้งที่มีการซื้อขายในตลาด 

สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในการเพาะปลูกและการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น 

  • พันธุ์ Barhee มีถิ่นกำเนิดในอิรัก ปัจจุบัน มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศเหมาะกับการกินผลสด และได้รับการยกย่องให้เป็นแอปเปิ้ลแห่งตะวันออกกลาง
  • พันธุ์ Ajwah มีถิ่นกำเนิดในซาอุดีอาระเบีย เหมาะกับการกินผลแห้งและปรากฏใน คัมภีร์อัลกุรอาน ตลอดจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับพันธุ์อื่น ๆ เพราะมีเนื้อเหนียวและไม่ค่อยหวาน
  • พันธุ์ Deglet Noor มีถิ่นกำเนิดในแอลจีเรียและตูนีเซีย เหมาะกับการกินผลแห้งและมีการส่งออกไปยังต่างประเทศมากที่สุด ได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งอินทผลัม เพราะมีรสชาติไม่หวานมากและไม่แข็งกระด้าง
  • พันธุ์ Mejhool มีถิ่นกำเนิดในโมร็อกโก เหมาะกับการกินผลแห้งและได้รับการยกย่อง ให้เป็นราชินีแห่งอินทผลัมเช่นเดียวกับพันธุ์ Deglet Nour เพราะผลมีขนาดใหญ่ที่สุดและรสชาติหวาน
  • พันธุ์ Khonaizi ไม่ปรากฏถิ่นกำเนิดอย่างแน่ชัด แต่เกษตรกรในโอมานนิยมปลูกพันธุ์นี้เพราะทนต่อความร้อนและความแห้งแล้ง
  • พันธุ์ Khalas มีถิ่นกำเนิดในซาอุดีอาระเบีย ได้รับการยกย่องให้เป็นสายพันธุ์ที่อร่อยที่สุด เพราะมีเนื้อเหนียวและนิ่ม

ขณะที่ ไทยมีการปลูกอินทผลัมหลายสายพันธุ์ แต่เริ่มเพาะปลูกสำเร็จครั้งแรกที่สวนโกหลักของ ดร.ศักดิ์ ลำจวน จ.เชียงใหม่ 

ชาวมุสลิมนิยมกินและให้อินทผลัมเป็นของขวัญช่วงเดือนรอมฎอน

ชาวมุสลิมนิยมกินและให้อินทผลัมเป็นของขวัญช่วงเดือนรอมฎอน

ชาวมุสลิมนิยมกินและให้อินทผลัมเป็นของขวัญช่วงเดือนรอมฎอน

ประโยชน์ของ อินทผลัม

ด้วยความหวานของ "อินทผลัม" หลายคนเข้าใจว่าจะทำให้อ้วน แต่รู้หรือไม่ว่าอินทผลัมเป็นผลไม้ที่ไม่มีคอเลสเตอรอลและมีไขมันต่ำ แถมยังอุดมไปด้วยวิตามิน เช่น วิตามิน A , B1, B2, K, แคลเซียม, แมกนีเซียม รวมไปถึงไฟเบอร์ 

  • ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ในอินทผลัมมีวิตามินแคลเซียมจึงช่วยให้กระดูกแข็งแรง
  • ช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น เพราะมีไฟเบอร์ซึ่งเป็นแหล่งที่มีกากใยอาหารสูงจึงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี
  • ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดในสมอง เนื่องจากในอินทผลัมมีโพแทสเซียมสูงจึงลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้
อินทผลัมผลไม้ที่ไม่มีคอเลสเตอรอลและไขมันต่ำ

อินทผลัมผลไม้ที่ไม่มีคอเลสเตอรอลและไขมันต่ำ

อินทผลัมผลไม้ที่ไม่มีคอเลสเตอรอลและไขมันต่ำ

ข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า อินทผลัมเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีน้ำตาลสูง ใน 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 282 กิโลแคลอรี่  ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 75.03 กรัม (เป็นน้ำตาล 63.35 กรัม ) โปรตีน 2.45 กรัม  ไขมัน 0.39 กรัม นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ สูง โดยเฉพาะโปแทสเซียม (696 มก./100 กรัม ) จึงช่วยให้ร่างกายสดชื่นและฟื้นฟูกำลังได้อย่างรวดเร็ว

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของอินทผลัมมีค่อนข้างมาก โดยพบว่าผลของอินทผลัมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ช่วยปกป้องตับ ไต หัวใจ และป้องกันการตายของเซลล์หัวใจ

อินทผลัมเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง การรับประทานอินทผลัม วันละ 5 - 10 ผล แทนการรับประทานน้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแต่แป้ง และน้ำตาล จึงจะมีประโยชน์และดีต่อสุขภาพมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้อินทผลัมจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ ใครมีปัญหาสุขภาพ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทาน โดยเฉพาะคนที่ มีความบกพร่องในการขจัดโปแทสเซียมออกจากร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เบาหวานและภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อป้องกันภาวะการมีโปแทสเซียมมากเกิน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ดูแลสุขภาพในเดือนถือศีลอด

ดูแลสุขภาพในเดือนถือศีลอด

ดูแลสุขภาพในเดือนถือศีลอด

ดูแลสุขภาพ ในเดือน "ถือศีลอด"

การใส่ใจสุขภาพในช่วงการ "ถือศีลอด" เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย นั้นเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จึงแนะนำวิธีการดูแลตัวเองในช่วง "เดือนรอมฏอน" ดังนี้

  • รับประทานอาหารสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
  • อาหารมื้อเย็นควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย เลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพราะอาหารทำงานหนักขึ้น
  • อาหารมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยออกมามาก การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วจะทำให้กระเพาะอาหารปรับตัวไม่ทัน ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ต้องอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง เพราะการนอนหลังรับประทานอาหารทันที อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับน้ำดื่มควร เป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน

อ้างอิงข้อมูล : กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา, มหาวิทยาลัยแม่โจ้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านข่าวอ่านอื่น ๆ

ดีเดย์ 17 มี.ค.กองสลากฯ เปิดตัว“แผงสลากดิจิทัล” ผ่านเว็บไซต์

“พันธบัตรออมทรัพย์” ยังไม่หมด! จองซื้อได้อีกรอบ 11-13 มี.ค. ผ่าน 4 แบงก์

"เลือกกันเอง" ที่มา สว.ชุดใหม่ ครั้งแรกการเมืองไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง