"พรรคก้าวไกล" ลุ้นเหนื่อย “ยุบพรรค” อย่ามองข้าม “ตายสิบเกิดแสน”

การเมือง
13 มี.ค. 67
14:25
1,258
Logo Thai PBS
"พรรคก้าวไกล" ลุ้นเหนื่อย “ยุบพรรค” อย่ามองข้าม “ตายสิบเกิดแสน”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่เกินจากที่คาดหมาย กกต.ส่งเรื่องเรื่องพรรคก้าวไกล เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขมาตรา 112 ที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังใช้อยู่เพื่อวินิจฉัยยุบพรรค

เพราะก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค (ขณะนั้น) และพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิเสรีภาพเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีเจตนาเพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน กระทบต่อความมั่นคง ห้ามไม่ให้รณรงค์ หรือแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวอีก

บ่งบอกถึงอนาคตข้างหน้า ของทั้งนายพิธา พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคชุดนายพิธา เป็นหัวหน้าพรรค รวมถึง 44 ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ที่ลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย

ส่อเค้าจะโดนข้อกล่าวหาทำผิดจริยธรรม สส.อย่างร้ายแรง มีบทลงโทษหนักกว่าคดีอาญา สำหรับนักการเมือง

ถือเป็นเรื่องพูดในวงกว้าง ตั้งแต่ กกต.เร่งรีบพิจารณา และมีมติฟันนายพิธา และพรรคก้าวไกลใช้เวลาสั้นและเร็วมาก หากนับตั้งแต่ 1 ก.พ.2567 ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้ยุบพรรคก้าวไกล ไล่เลี่ยกับการยื่นของนายธีรยุทธ์ สุวรรณเกษร คนที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปม มาตรา 112 เมื่อนับถึง 12 มี.ค. รวมเวลา 41 วันเท่านั้น

ยังไม่นับกรอบเวลาที่สำนักกฎหมายและคดี ของกกต. จะยกร่างคำร้องเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาเพียง 2 วัน เต็มที่ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ จะเสร็จสิ้นและยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะคดีนี้ไม่มีข้อกฎหมายที่ซับซ้อน

จึงมีเสียงวิพากษ์ว่า กกต.ทำเร็วมาก ต่างจากคำร้องอื่น ๆ เช่น คำร้องเรื่องทุจริตเลือกตั้ง สส.ที่อืดเป็นเรือเกลือ แต่ในอีกด้านหนึ่ง กกต.ก็โดนเร่งรัดเรื่องคดียุบพรรคก้าวไกล เทียบกับยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งใช่เวลาเพียง 6 วัน

กกต.รวบรัดเร่งรีบโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้อง ได้ชี้แจงจึงอาจขัดต่อหลักนิติธรรม ดังที่แกนนำพรรค อย่าง นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค และนายรังสิมันต์ โรม ตั้งคำถาม

ในอีกด้านหนึ่ง เป็นเรื่องใหญ่ที่ได้ สส.มากที่สุด จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เท่ากับเป็นเสมือนฉันทามติของประชาชน อันอาจเกิดจากชอบนโยบายหลายเรื่องของพรรค และเชื่อใจว่าจะได้เห็นการเมืองแบบใหม่

แต่กลับโดนกล่าวหา ถูกสกัดมาตลอด ตั้งแต่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กระทั่งถึงยุบพรรค และจะมีงานงอก ถูกร้องเรียนเรื่องจริยธรรมของ สส.44 คน ที่เข้าชื่อหนุนร่าง ไม่แคล้วจะถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมือง ต้องการสกัดและขจัดพรรคแนวทางแบบเสรีนิยม ที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และกลุ่มอำนาจเก่า

แม้ก่อนหน้านี้ จะมีกูรูการเมืองหลายคนเชื่อว่า กลุ่มอำนาจเก่าจะยังปล่อยพรรคก้าวไกลไว้ในระบบการเมือง ไม่ต้องถึงขั้นทำลายล้าง แค่คอยสกัดไม่ให้ทำนอกลู่นอกทาง และไม่ให้เติบโตถึงขั้นได้อำนาจการบริหารประเทศ เพื่อเป็นข้ออ้างเป็นวิถีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา ที่มีการถ่วงดุลคานอำนาจ ป้องกันข้อครหาเผด็จการรัฐสภา

แต่ถึงขณะนี้ อาจหวังล้มเลิกแผนดังกล่าว เพราะกระแสโลกาภิวัฒน์เปลี่ยนไปเร็วมาก ไม่ต่างจากความคิดของรุ่นใหม่ ไปไกลจนอาจเกินกว่าจะควบคุมได้ แม้ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะพยายามขจัด หรือการนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลได้ แต่ก็สามารถตั้งพรรคการเมืองใหม่รองรับได้อยู่ดี เหมือนเมื่อครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ตั้งพรรคก้าวไกลขึ้นมาแทนได้

ที่น่าสนใจนับจากนี้ คือแผนรับมือของพรรคก้าวไกล ในกรณีปลายทางที่จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 เดือนจากนี้ อาจถึงขั้นโดนยุบพรรค และนายพริษฐ์ วัชรสินธ์ โฆษกพรรค ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค และจะเป็นแกนนำรุ่นต่อไป หากพรรคก้าวไกลถูกยุบและกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์

นายพริษฐ์ แย้มในทีด้วยว่า พรรคพร้อมรับทุกฉากทัศน์ เท่ากับมีแผน 2 แผน 3 สำรองอยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องตัวบุคคลสำหรับเป็นแกนนำรุ่นต่อ ๆ ไป จะไม่ขาดคน

แม้จะเหมือนทุกขลาภของพรรคก้าวไกล แต่ฝ่ายอำนาจเก่าก็ใช่ว่าจะได้เปรียบ เพราะแม้จะสะดัดหรือยุบพรรคได้ก็ไม่จบ

มิหนำซ้ำ อาจเกิดปรากฏการณ์ “ตายสิบเกิดแสน”

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง