เปิดอก รมว.กลาโหม ปฏิรูปกองทัพฉบับ "สุทิน คลังแสง (สารคาม)"

การเมือง
14 มี.ค. 67
22:30
308
Logo Thai PBS
เปิดอก รมว.กลาโหม ปฏิรูปกองทัพฉบับ "สุทิน คลังแสง (สารคาม)"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม่ได้มียศนำหน้า หากเป็นนักการเมืองฝีปากกล้า “สุทิน คลังแสง” ในวัย 63 ปี เจ้าของฉายา “คลังแสงสารคาม” ถูกรับเลือกให้มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือเป็นพลเรือนคนที่ 6 หากไม่นับรวมอดีต รมว.กลาโหม ภายใต้ร่มเงาของพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย 3 คน คือ นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอดีตนายกฯที่ควบตำแหน่งรมว.กลาโหม

การที่ “สุทิน” ได้รับเลือกให้เป็น สนามไชย 1 ไม่ใช่แค่เหตุผลปรองดอง ระหว่างกองทัพและฝ่ายการเมือง หากอีกนัยหนึ่งคือ เพื่อลดช่องว่างและแรงปะทะระหว่าง “ประชาชน” กับ “กองทัพ” แม้ภาพจำของ สส.ลูกมหาสารคามของกองทัพ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน นำทีมอภิปรายคัดค้านงบประมาณรัฐบาล โดยเฉพาะงบกองทัพมาโดยตลอด

รายการคุยนอกกรอบกับ “สุทธิชัย หยุ่น” เปิดใจแบบเอ็กคลูซีฟ หลัง “สุทิน” เข้ามาบริหารงานกองทัพในรอบ 7 เดือน จากบทบาทนักการเมือง สู่รัฐมนตรีกำกับดูแลทหารทั้งกองทัพว่า เปลี่ยนไปอย่างที่หลายคนกล่าวไว้หรือไม่

“หลายคนแซวผมว่า “พี่สุทิน เปลี่ยนไป” ตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่เหมือนโฆษกกองทัพ เข้าข้างกองทัพ อวยทหาร ซึ่งที่เขาว่าเรา เราก็เข้าใจเขานะ พอมาเจอความจริงที่ไม่เหมือนที่เราเคยพูดไว้ในขณะเป็นฝ่ายค้าน ก็ยากที่จะสื่อสารให้เขาเชื่อตามเรา ดังนั้นก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ เชื่อว่าสักวันจะเข้าใจผมและกองทัพมากขึ้น”

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “สุทิน” บอกว่า ได้เห็นข้อเท็จจริง ของกองทัพอีกด้าน ในขณะเป็น สส. ไม่เคยได้ทราบ ทำให้เข้าใจกองทัพมากขึ้น

“เตรียมพร้อม” เหตุผลของการมีกองทัพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ถึงเหตุผลที่ต้องมีกองทัพ กับข้อกังขาของสังคมที่มองว่าบ้านเมืองที่ยังอยู่ในความสงบ นั่นเพราะทุกประเทศจะต้องเตรียม พร้อมหากเกิดสง ครามที่ไม่คาดคิด เช่น เหตุสู้รบครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีในอิสราเอลและฉนวนกาซา ที่มีการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการสู้รบของประเทศยูเครน กับรัสเซีย ที่ก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะรบกัน

ภาพ : กองทัพบก Royal Thai Army

ภาพ : กองทัพบก Royal Thai Army

ภาพ : กองทัพบก Royal Thai Army

มีคำถามว่า เหตุใดต้องของบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เกือบทุกปี ทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้มีสงคราม? คือ สิ่งที่สังคมยังค้างคาใจ กับกระแสต่อต้านถึงการของบของกองทัพ “สุทิน ” บอกว่า ตัวเองก็เคยคิดแบบนี้เหมือนกัน กระทั่งวันที่เข้ามานั่งควบคุมกองทัพ จึงได้ทราบว่า

การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะต้องสั่งล่วงหน้า 5-10 ปี ต้องผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ต่อปี ใช่ว่าอยากซื้อแล้วซื้อได้เลย และอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้เท่ากับกำลังรบ เปรียบเทียบของแต่ละประเทศเพื่อเป็นอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ การค้า และการเจรจาอื่นๆ

ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามมาก คงหนีไม่พ้น “ประเทศไทย นายพลมีเยอะเกินความจำเป็นหรือไม่” รมว.กลาโหม กล่าวว่า ได้พบความจริงที่เป็นปัญหาคือ นายพล ซึ่งไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหลัก หรือเรียกว่า ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ เกิดในยุคที่ประเทศไทยรับนักเรียนเตรียมทหารจำนวนมาก

เนื่องด้วยสถานการณ์ตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เหตุปะทะชายแดนไทย-เวียดนาม หรือเรียกว่า สมรภูมิช่องบก, เหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ปี 2523, เหตุการณ์ความขัดแย้งเขตแดนไทย-ลาว “สมรภูมิร่มเกล้า” ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2527 รวมถึงความขัดแย้งระหว่างเขมรแดง และเวียดนาม ที่อยู่ใกล้กับแนวชายแดนของไทย

“เมื่อสงครามเหล่านั้นไม่มีแล้ว ก็เกิดการคงค้างของนายพล วันนั้นเขาจำเป็น แต่วันนี้มันไม่มีปัญหาแล้ว ไม่มีความตึงเครียด ก็เลยดูไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นตำแหน่งเขาก็หายไปกับสถานการณ์”

“ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” ปิดโอกาสยามสงคราม

ในฐานะ รมว.กลาโหม มองว่า ความเป็นประเทศสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ ต้องมีฝ่ายความมั่นคง และการทำงานฝ่ายความมั่นคงก็ต้องมีกองทัพและทหาร หากสถานการณ์จำเป็นที่จะต้องสู้รบ เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าในวันข้างหน้าจะไม่เกิด ขณะในยามสงบก็ปรับทหารมาใช้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอื่นได้ ส่วนการแก้ปัญหาด้านการลดกำลังพล โดยเฉพาะจำนวนนายพล ที่มากเกินไป นั้น

จะปลดทันทีก็ไม่ได้ ไล่ออกเลยก็ไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องหาทางออกที่ดีที่สุดคือ ค่อยๆ ปรับลดลง เพื่อไม่ให้กระทบขวัญกำลังใจ ไม่อยากให้เขาเหล่านั้นรู้สึกว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล พอบ้านเมืองสงบ เขาก็เลยไม่มีค่า

สำหรับการเกณฑ์ทหาร สุทิน บอกว่า จะใช้วิธีการสมัครใจ หากสมัครใจแล้วยังกำลังพลยังขาด จึงค่อยมีการเกณฑ์

เมื่อถามว่า “ทำไมจึงออกกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารเลยไม่ได้” รมว.กลาโหม กล่าวว่า มันจะเป็นการปิดโอกาสตัวเองในวันข้างหน้า บทเรียนที่มีให้เห็นเหมือนประเทศรัสเซีย พอเจอสงครามแบบไม่คาดคิด แต่กลับเรียกทหารมาไม่ได้ ทำให้หลายประเทศต้องรื้อฟื้นกฎหมายเกณฑ์ทหารมาใช้

การรณรงค์ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจมีผู้เข้ามาสมัครจำนวนมากเมื่อเทียบกับช่วงปีที่แล้ว คาดอีก 2-3 ปี จะไม่มีการเกณฑ์ทหารแต่จะเป็นการสมัครใจล้วนๆ ด้วยสวัสดิการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งเงินเดือนได้เต็ม ไม่มีการหัก

และข้อสำคัญมาเป็นทหารก็เรียนหนังสือได้ด้วย จะทำให้ได้ทหารที่มีคุณภาพมากกว่าการบังคับมา ในอนาคตอาจจะลดสัดส่วนทหารใหม่ จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ปีละ 200,000 แสนนาย ปัจจุบันลดลงมาเหลือปีละ 85,000 นาย ส่วนจะลดลงกว่านี้อีกได้หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ภาพ : กองทัพบก Royal Thai Army

ภาพ : กองทัพบก Royal Thai Army

ภาพ : กองทัพบก Royal Thai Army

ขณะที่งบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ได้มีนโยบายให้แต่ละเหล่าทัพเขียนเหตุผล และจัดซื้อเท่าที่จำเป็น หากมีการซื้อแล้วก็จะต้องพิจารณาซื้อภายในประเทศเป็นอันดับแรก แต่หากประเทศ ไทยไม่สามารถทำได้ หรือไม่สอดคล้องตามคุณสมบัติหรือลักษณะตามต้องการ ก็พิจารณาซื้อจากต่างประเทศ แต่ต้องมีการตกลงกับคู่ค้าให้ซื้ออะไหล่ที่ไทย ซึ่งมีศักยภาพในการผลิต แทนการไปซื้อจากที่อื่น

รมว.กลาโหม ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของนโยบายที่อาจจะเกิดขึ้นในปี2567 หรือปี 2568 คือ การจัดซื้ออาวุธแบบเป็นแพ็คเกจของเหล่าทัพ เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการซื้อแบบกองทัพใคร กองทัพมัน โดยอำนาจสามารถทำได้

แต่ในทางยุทธศาสตร์ มองว่า ในอนาคตอาจจะทำร่วมกันยาก …ในหลายประเทศมีหน่วยซื้ออาวุธหน่วยเดียว หากเหล่าทัพต้องการอะไรก็จะแจ้งความประสงค์มา แล้วองค์กรก็จะทำหน้าที่มองภาพรวมของสถานการณ์วันข้างหน้าว่าควรจะซื้อหรือไม่ หรือเหล่าทัพไหนมีความจำเป็นที่จะได้งบซื้ออย่างไร

“แรกๆ ที่ผมเข้ามาอยู่ก็เคยถามนะ หากเกิดศึกสงครามขึ้นมา แล้วรบร่วมกันได้ไหม เครื่องมือใช้ด้วยกันได้ไหม เชื่อมข้อมูลกันได้ไหม เช่น โดรนทัพอากาศ ถ้าไปพบข้าศึกสามารถเชื่อมข้อมูลมาที่รถถังได้ไหม อาวุธสามารถสอดรับประสานกันได้หรือไม่ มองว่ามันคือความจำเป็นในอนาคต”

ส่วนปัญหาที่เจ้าของรหัสเรียกขาน “สนามไชย 1” ยอมรับว่า หนักใจหนีไม่พ้น เรื่องฝูงบินสำคัญของกองทัพอากาศจะหมดอายุในปี 2570 แม้จะเห็นว่าจอดอยู่หลายลำ แต่ใช้งานได้จริงเพียงไม่กี่ลำ อย่างเครื่องบินลำเลียง C-130 ที่เป็นพระเอกกองทัพไทย พอจะใช้งานจริงในการไปรับคนไทยกลับจากประเทศอิสราเอล ใช้ได้เพียง 4-5 ลำ จากจำนวน 13 ลำ มั่นใจจริงๆ 4 ลำ อีก 2 ลำยังเสี่ยง

ถามว่าทำไมไม่ซ่อม… หมดอายุซ่อมแล้ว เนื่องจากซ่อมไปแล้ว อีกทั้งอายุการใช้งานจริงก็หมด อายุซ่อมก็หมด แม้จะหมดปี 2570 แต่ต้องตั้งงบปี 2567 เพื่อวางมัดจำรอบแรกปี 2568 รอบสองปี 2569 และจ่ายปี 2570 ถึงจะได้เครื่องมา
ภาพ : กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force

ภาพ : กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force

ภาพ : กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force

“ถ้าไม่ตั้งงบซื้อได้หรือไม่ ไม่เอาได้ไหมฝูงบินต่างๆ ตอบเลยว่า “ไม่ได้” เพราะไม่รู้สถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อยู่ดีๆ อาจจะมีลูกหลงทางเมียนมาเข้ามา ยิ่งกำลังรบเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านมีมาก เรามีน้อย คุยกันยาก เจรจาทางการค้าข้อต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลก็ไม่ได้ เป็นความรู้ใหม่ที่เรารู้ ดุลถ่วงแห่งอำนาจ ซึ่งมีทั้งการเมือง การทูตการทหาร และเศรษฐกิจด้วย”

งบกองทัพ 2567 “ยังไม่ได้บทสรุปเรือดำน้ำ”

สุทิน เล่าว่า ในการชี้แจงของบประมาณกองทัพปี 2567 ในรัฐสภาล่าสุด มีคำถามมากมาย บางส่วนก็จะให้ตัดงบหลายอย่าง แต่ก็ได้ชี้แจงไปว่า หากยังมีข้อกังวลตรงไหน จะให้กองทัพเขียนคำชี้แจงมาให้อีกครั้ง ที่ผ่านมาการของบประมาณกองทัพ เมื่อไปอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของกรรมาธิการ และกองทัพจะต้องตอบคำถามให้ได้ แต่ด้วยความที่ทหารเป็นคนพูดน้อย ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ หลายงบจึงถูกตัดออกไป

“อาจจะต้องฝึกวิธีพูดให้กับแม่ทัพนายกอง และการปรับวิธีคิดใหม่ เนื่องจากทหารเขาคิดว่า หากลงมือทำให้เห็นแล้วก็ไม่ต้องพูดเยอะ …แต่ผมก็บอกไปว่า “คุณไม่พูดไม่ได้” โซเชียลมีเดียแต่ละวันเดินหน้าไปเร็ว จะทำให้เกิดการเสียเปรียบ อย่างเช่นเรื่อง ส.ส.หนีเกณฑ์ทหาร พอทหารพูดน้อย คนอื่นพูดเยอะ มันพลิกกลับมาว่า กองทัพเป็นจำเลยขายใบ สด. 43 แต่หากพูด ก็พูดเท่าที่ความจริงมี”

สุทิน คลังแสง

สุทิน คลังแสง

สุทิน คลังแสง

เมื่อถามว่า “เรือดำน้ำ” อยู่ในงบประมาณปี 2567 หรือไม่?... “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ยืนยันว่า เรือดำน้ำยังไม่ได้อยู่ในงบประมาณปี 2567 เนื่องด้วยอยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการศึกษาหาทางเลือกที่ดีที่สุด หลังก่อนหน้านี้สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งหนังสือความเห็นมาที่กองทัพเรือ หลังมีการทำหนังสือถามความเห็นในเชิงข้อกฎหมายไป ซึ่งอัยการให้ความเห็นว่า หากจะเปลี่ยน แปลงสัญญาจากเดิม ในสาระสำคัญตามการตัดสินใจของกองทัพเรือ จะต้องนำเข้า ครม.

จากการสอบถามกองทัพเรือ ยังยืนยันต้องการ “เรือดำน้ำ” มากกว่า “เรือฟริเกต” จึงได้ให้แนวทางตามนโยบาย 3 ข้อ คือ ความต้องการของกองทัพเรือ, ผลประโยชน์ของประเทศ, และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยขั้นตอนสุดท้าย หากผลสรุปทุกฝ่ายมีความต้องการเรือดำน้ำ ทางกองทัพเรือก็จะทำหนังสือยื่นมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหากเห็นชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็จะเสนอต่อ ครม.

ปฏิรูปกองทัพแบบฉบับ “สุทิน คลังแสง(สารคาม)”

“เราไม่อยากไปชี้เอาทุกอย่าง เพราะว่าเราก็ต้องคำนึงถึงศักยภาพของกองทัพ ปฏิรูปอย่างไรก็ตาม ต้องไม่อ่อนแอ”

สุทิน ย้ำว่า ไม่อยากใช้คำปฎิรูป แต่ให้ใช้พัฒนาร่วมกัน ตลอดเกือบ 7 เดือนของการทำงาน ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ให้เกียรติกันและกัน แม้ตัวเองจะเข้ามาปรับนโยบายต่างๆ แต่เป็นไปในทิศทางคล้ายกัน จึงไม่หักกัน และไม่เกิดการปะทะ โดยเฉพาะตัวเองก็ต้องมองให้มากกว่าเดิม ต้องมองจากตอนที่เป็นฝ่ายค้าน และต้องคิดให้รอบคอบ เพราะทำเล่นๆ ไม่ได้ เกี่ยวข้องกับงบประมาณมหาศาล

…เมื่อถามว่าวิธีคิดและปฏิบัติของ “สุทิน” จะไม่ตรวจสอบเรื่องของงบประมาณ หรือการคอรัปชัน ที่หลายคนสงสัย เพราะไม่ต้องการสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเองกับกองทัพหรือไม่

“สุทิน” กล่าวว่า การตรวจสอบมีอยู่แล้ว แต่ใช้เป็นการวางนโยบาย แล้วสร้างระบบที่เข้าไปตรวจสอบได้ เพราะการปฏิรูปกองทัพมีหลายด้าน ด้านสำคัญก็คือการทำให้องค์กรมีความโปร่งใส สุจริต ซึ่งเมื่อทำในกรอบใหญ่ก็จะไม่กระทบความรู้สึก

“ใช่ ผมถูกส่งมาให้ปฏิรูปกองทัพ แต่ไม่ใช่เป็นการไล่บี้ หรือตั้งใจมองความผิดพลาดของบุคคล แต่เป็นการวางนโยบายอีกแบบ เพื่อป้องกันการทุจริต”

“ใช้ลูกล่อ มากกว่าลูกชน”ลดโอกาส “รัฐประหาร” ในอนาคต

เมื่อถามว่า ลักษณะการทำงานในแบบการใช้ลูกล่อมากกว่าลูกชน ลดโอกาสการทำรัฐประหารในอนาคตได้หรือไม่… สุทิน เชื่อว่า ด้วยบุคลิกของตัวเองที่ไม่ได้แข็งกร้าว หรือกดดันกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่คิดว่าหลักสำคัญคือโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางอำนาจในระบบราชการ เปลี่ยนไปมาก อำนาจประชาชนมีมากขึ้น

ส่วนอำนาจทางทหารหน่วยที่เคยใช้ยึดอำนาจก็ไม่ได้อยู่ที่เดิมแล้ว ไม่สามารถใช้ในผลประโยชน์ที่ออกนอกลู่นอกรอบได้ง่ายๆ อีกทั้งยังมีบทเรียนทางสังคมที่ทำให้เห็นว่า การยึดอำนาจที่ผ่านมาหลายครั้ง ไม่ได้พิสูจน์ว่าสามารถแก้ปัญหาอะไรได้

แต่กลับทำให้ประชาชนสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรที่ควรจะเหมาะกับประเทศ ฉะนั้นการจะออกมายึดอำนาจจะต้องคำนึงถึงประชาชน จึงมองว่าในอนาคตโอกาสจะเกิดรัฐประหารจะเกิดน้อย

แม้ไม่เคยคิดจะรับตำแหน่งรมว.กระทรวงกลาโหม แต่เมื่อมาอยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว เจ้าของรหัสสนาม ไชย 1 บอกว่า พอมาอยู่แล้ว ก็คิดว่า ตัดสินใจไม่ผิด ได้ทำงานแบบท้าทาย ไม่เคยคิดว่า จะได้ทำ รวมถึงยังได้มาทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานในอีกแบบหนึ่ง

จากเคยอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรแบบครู เมื่อมาอยู่ในองค์กรของทหาร จึงรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานให้กับประเทศ ถือได้ว่าชีวิตหนึ่งของการเป็นนักการเมืองที่ต้องการอยากแก้ปัญหาให้กับประเทศ การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือว่าที่สุดแล้วในชีวิต

“สิ่งหนึ่งของการเข้ามาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้เปลี่ยนวิธีคิด มองปัญ หาแตกต่างไปจากตอนที่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านเยอะ ต้องชั่งน้ำหนักต้องฟังมากขึ้น และต้องเข้าใจเรื่องงบประมาณ ขณะเดียวกันต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนของปัญหา เพราะเป็นการทำงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง”

ภาพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ภาพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ภาพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“ไม่เคยคิดที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่พอมาอยู่แล้วก็คิดว่าตัดสินใจไม่ผิด ได้ทำงานแบบท้าทายสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ รวมถึงยังได้มาทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกแบบหนึ่ง จากเคยอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรแบบครู

สุทิน บอกว่า การมาอยู่ในองค์กรของทหาร ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะมีความท้าทาย ได้พูดคุยกับคนอีกกลุ่ม ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เข้าใจมากขึ้น ได้มาทำงานใหญ่ให้กับประเทศ ภูมิใจที่ได้ทำงานให้กับประเทศ

ถือได้ว่า ชีวิตหนึ่งของการเป็นนักการเมืองที่ต้องการ อยากแก้ปัญหาให้กับประเทศ และการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ ที่สุดแล้ว

พบกับรายการคุยนอกกรอบ กับ “สุทธิชัย หยุ่น” ได้ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง