เตือนนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" ชี้รบกวน-ทำลาย

สิ่งแวดล้อม
17 มี.ค. 67
09:41
590
Logo Thai PBS
เตือนนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" ชี้รบกวน-ทำลาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมทะเลฯ แจ้งนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" เกาะสุกร จ.ตรัง ชี้เป็นการรบกวน ทำลาย

วันที่ 16 มี.ค.กรณีเพจแนวหน้าออนไลน์ ได้ลงข่าวว่า ที่เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พบกลุ่ม "กัลปังหาแดง" หรือ "Sea Fan" โผล่พ้นน้ำหลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด เผย 1 ปีมีให้เห็นแค่ไม่กี่ครั้งและเป็นกัลปังหาแดงกลุ่มเดียวใน จ.ตรังที่พบในเขตน้ำตื้น กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร ที่นักท่องเที่ยวแห่ชมความสวยงามตื่นตาตื่นใจ

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยหลังทราบข่าว และแจ้งว่า กัลปังหา (Sea Fan) คือสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง กัลปังหา ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวกัลปังหา (polyp) ที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวนแปดเส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างของกัลปังหา

และอีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้านคล้ายพัดและซี่หวีแล้วแต่ชนิด กิ่งโครงสร้างนี้ตัวกัลปังหาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเองและเป็นสารจำพวกเขาสัตว์ (keratin) ชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้ และจะช่วยพัดพาของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกัลปังหาออกไป

โดยกัลปังหาจะใช้หนวดในการดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงก์ตอน ดังนั้น การรบกวนกัลปังหาและแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น การสัมผัส การเหยียบย่ำ การทำให้เกิดการฟุ้งของตะกอนจะเป็นการรบกวนการหาอาหารและการดำรงชีวิตของกัลปังหาได้

อีกทั้ง กัลปังหามีประโยชน์โดยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิดโดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน แต่ด้วยการที่กัลปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม จึงเกิดค่านิยมผิดๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์นำมาประดับตู้ปลา นำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน หรือแม้แต่นำส่วนที่เป็นแกนในสีดำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง เครื่องประดับ ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากัลปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ในปัจจุบัน สามารถรับรองได้เลยว่ากัลปังหามีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาโรคได้จริงตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ อีกทั้งในระบบนิเวศตามธรรมชาตินั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำลายหรือย้ายกัลปังหาจากแหล่งที่อยู่เดิม ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่มีที่หลบสัตว์นักล่า จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอาจสูญพันธุ์ได้

เตือนนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้

เตือนนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้

เตือนนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" ชี้รบกวน-ทำลาย

นอกจากนี้ กัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโตเพียงแค่ 1 ฟุต และในหนึ่งต้นนั้นมีตัวกัลปังหาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำลายกัลปังหาหนึ่งต้นเท่ากับทำลายตัวกัลปังหาหลายหมื่นหลายแสนตัว และเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย

ดร. ปิ่นสักก์ กล่าวต่ออีกว่า กัลปังหาเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ทำการค้าขาย หรือนำเขา-ส่งออกโดยเด็ดขาด (ทั้งที่ยังมีชีวิต หรือเป็นซาก) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงห้ามครอบครอบ เว้นแต่ผู้ใด้รับอนุญาตให้ครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ประกอบการนำเที่ยว ไม่ควรเข้าใกล้ กัลปังหาแดง เกาะสุกร อันจะเป็นการรบกวนทำลาย มาร่วมด้วยช่วยกัน ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เก็บความประทับใจกลับบ้าน รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่สืบไป

อ่านข่าวอื่น ๆ :

ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ ระดับสีแดง 8 จังหวัด "แม่ฮ่องสอน" หนักสุด

ยกเลิกภารกิจ "จับพลายซัน" แกะรอยข้ามคืน ช้างป่าเตลิด-ปลอกคอ GPS ไม่เสถียร

สั่งปฏิรูปที่ดินโคราช เพิกถอน ส.ป.ก.4-01 ยกเลิกรังวัด 1,279 ไร่

ภาพจาก : มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง