Neo-สลิ่ม โจทย์ยาก “ทักษิณ-เพื่อไทย” วันที่คนรุ่นใหม่ ไม่เอา

การเมือง
18 มี.ค. 67
17:13
484
Logo Thai PBS
Neo-สลิ่ม โจทย์ยาก “ทักษิณ-เพื่อไทย” วันที่คนรุ่นใหม่ ไม่เอา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

จบไปแล้ว ทริป “ทักษิณ ชินวัตร” ออนทัวร์เชียงใหม่ โชว์ให้เห็นใครศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยแท้จริง สะท้อนหลายนัยทางการเมือง ความเคลื่อนไหวในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ใช่แค่ปรากฎการณ์ ช้างเหยียบนา-พระยาเหยียบเมือง มีคนเสื้อแดง แห่แหนต้อนรับเท่านั้น อีกด้านหนึ่งยังตอกย้ำให้เห็นสังคมเห็นว่า “ยุติธรรมสองมาตรฐาน” นั้นมีอยู่จริง

แม้ทักษิณ ในวัย 75 ปี จะบอกว่า “วันนี้กลับมา ใครไม่ชอบหน้า ก็ต่างคนต่างอยู่ไป” แต่ความเป็นจริง ทำเช่นนั้นได้จริงหรือไม่ และหากฝ่ายอนุรักษ์ต้องการเส้นทางลัด โดยใช้ให้เพื่อไทย เป็นตัวแทนต่อสู้กับพรรคก้าวไกล หากมองเฉพาะช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ต้องออกไปไกล มีคำถามว่า สุดท้ายแล้ว ผู้คนในประเทศยังจะฝากความหวังไว้กับทักษิณ และพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่

ทวงคืนพื้นที่-การเมืองที่ไม่เป็นทางการ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ว่า ท้ายที่สุดเส้นบรรจบทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะเป็นการแย่งชิงอำนาจกัน ส่วนจะเป็นมิตร-ศัตรู หรือก้าวข้ามมาจับมือกันในการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะทางการเมือง

แต่ในวันนี้ ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเดินทางกลับ จ.เชียงใหม่ ของนายทักษิณ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คือ การทวงคืนพื้นที่เมืองหลวงของพรรคเพื่อไทยกลับคืนมาให้ได้

จ.เชียงใหม่ ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้เราได้เห็นผู้นำทั้ง 3 รุ่น คือ รุ่นเก่าอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร -นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้นำรุ่นกลาง คือ นายเศรษฐา ทวีสิน และผู้นำรุ่นใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทั้งหมดไปรวมตัวอยู่ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน

“ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นมาก ๆ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นอกจากจะเป็นบ้านเกิดของทักษิณแล้ว ในอดีตพรรคเพื่อไทย เคยกวาด สส.ยกจังหวัดมาแล้ว แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สส.เพื่อไทย เหลือแค่ 2 ที่นั่ง เสียให้พรรคก้าวไกลถึง 7 ที่นั่ง และส่วนพรรคพรรคประชารัฐได้ 1 ที่นั่ง”

รศ.ดร.ยุทธพร ตั้งข้อสังเกตว่า การพบปะคนเสื้อแดง และการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ตามจุดต่าง ๆ คือ เป้าหมายหลักที่พรรคเพื่อไทย ต้องการปักธงคืนให้ได้ เชื่อว่า หลังจากนี้จะได้เห็นนายทักษิณ เดินหน้าไปยังสนามเลือกตั้งในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ภาคอีสาน และอีกหลาย ๆพื้นที่

สิ่งที่จะเห็นคือ การเมืองที่ไม่เป็นทางการเกิดขึ้น ซึ่งไม่เหนือความคาดหมาย

ไม่ว่าจะเป็นภาพหลุดที่ปล่อยออกมา การลงพื้นที่ ควบคู่กับการลงพื้นที่ของนายเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนำนโยบายต่าง ๆ ไปขับเคลื่อน เช่น E-Formula ที่เพิ่งเดินทางไปดีลกับต่างประเทศ การไปเตรียมความพร้อมจัดแข่ง ABB Formula World Championship ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นปี2568 ที่ จ.เชียงใหม่ และนโยบายอื่น ๆ อีกหลากหลาย

ภาพการลงพื้นที่แพกคู่ ทักษิณ-เศรษฐา เชื่อว่า ไม่ถึงขนาดนั้น นายเศรษฐา ต้องลงพื้นที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ภาพที่จะเห็นจากทักษิณคือ นายทักษิณอาจต้องเดินทางไปคนเดียวในหลาย ๆ พื้นที่ เกิดขึ้นแน่นอน

ส่วนนายพิธา ที่ต้องไป จ.เชียงใหม่ เพราะต้องขึ้นไปตรึงพื้นที่ เขาได้ สส.มา 7 เขตเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็น สส.หน้าใหม่ทั้งหมด จึงต้องสกัดเพื่อไม่ให้เกิดกระแสทักษิณฟีเวอร์ เราจึงเห็นภาพนายพิธาขึ้นไปดับไฟป่า

Neo-สลิ่ม จุดเปลี่ยนเทใจกลายเป็น “ด้อมส้ม”

รศ.ดร.ยุทธพร บอกว่า การต่อสู้ทางการเมืองในอนาคตเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะพบกับศึกหนัก เนื่องจากพบว่า ฝ่ายอนุรักษ์ส่วนหนึ่งไม่น้อยมาสนับสนุนพรรคก้าวไกล หรือเรียกว่า Neo-สลิ่ม หรือ “สลิ่มใหม่” คนกลุ่มนี้ในอดีตอยู่กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม และเคยมีประเด็นทางการเมืองกับ ”ทักษิณ”

แต่ปัจจุบันอาจเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทัศนคติ และค่านิยมทางการเมือง ไปสู่ความต้องการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง การเมือง เศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกับนโยบายของพรรคก้าวไกล จึงทำให้คนกลุ่มนี้หันมาสนับสนุนพรรคก้าวไกล

กลุ่ม Neo-สลิ่ม วันนี้มีความทันสมัยและหัวทันสมัยขึ้น เขาเปลี่ยนมาเลือกพรรคก้าวไกล เพราะมีนโยบายบางส่วนสอดรับกัน เชื่อว่าเป็นการรวมตัวหรือเคลื่อนไหวทางธรรมชาติ ไม่ได้มีการวางแผน เขียนบทอะไร

ในขณะที่พรรคการเมืองที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์, รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ ความนิยมของพรรคการเมืองเหล่านี้ จะถูกคนรุ่นใหม่มองว่า เป็นการเมืองที่ล้าหลังไปแล้ว หากจะสู้ต่อต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย เพราะไม่สามารถสู้เพียงลำพังกับพรรคก้าวไกลได้

ส่วนอนาคตของพรรคเพื่อไทยในวันข้างหน้า แม้จะมี “ทักษิณ” แต่ รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า เป็นโจทย์ยากมาก ๆ หากจะสู้กับพรรคก้าวไกล และการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เชื่อว่า พรรคเพื่อไทย จะได้ สส.ลดลงกว่าเดิม แม้พรรคก้าวไกลอาจจะถูกยุบพรรคการเมือง

แต่ไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะอยู่ในนามพรรคใหม่ หรือไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม คะแนนเสียงของเขาก็จะมาอันดับ 1 แต่เขาก็จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ตรงนี้ คือ โจทย์สำคัญ ซึ่งในทางยุทธศาสตร์จำเป็นที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันจะต้องจับมือกันต่อไป

หากมองข้ามช็อตเป็นไปได้ ว่า พรรคก้าวไกลจะมีคะแนนเป็นพรรคอันดับ 1 ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับ 2 ส่วนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นการเมืองสนามเล็ก จะเป็นตัวชี้ชัดได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนบุคคล ผลงานของตัวผู้สมัคร การทำพื้นที่ การช่วยเหลือ การรู้จักมักคุ้น ระบบหัวคะแนน เครือข่ายคะแนนเสียง อีกทั้งเป้าหมายของผู้เลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติมีความแตกต่างกัน 

ไม่ได้วัดที่กระแสการเมืองระดับชาติอย่างเดียว นอกจากนี้ยังไม่มีเรื่องการลงคะแนนล่วงหน้า การลงคะแนนนอกเขต ดังนั้นผู้ใช้สิทธิน้อยทุกพื้นที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เสียงจัดตั้งมีความหมาย

อย่างไรก็ตาม หากจะมองว่า กลุ่มอนุรักษ์ ไม่มีทางเลือก... และอย่างไรเสีย ก็คงต้องเทเสียงที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็เป็นไปได้ หากหากยุทธศาสตร์ของเขาสอดรับกันและไปกันได้มากกว่า

ไม่เปลี่ยนม้ากลางศึก - “เศรษฐา” ไดัไปต่อ

สำหรับการปรับ ครม.ของรัฐบาลเพื่อไทยนั้น ดร.ยุทธพร กล่าวว่า เกิดขึ้นแน่นอนหลังจากรัฐบาลทำงานครบ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อประเมินศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานของรัฐมนตรี สลับจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสม แต่เชื่อว่า จะไม่มีการเปลี่ยนม้ากลางศึก โดยการให้นายเศรษฐา ทวีสิน ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งคงเกิดขึ้นยาก

เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล เหตุเพราะต้องเลือกนายกฯ ใหม่ ขณะผู้ที่มีสิทธิเป็นตัวเลือกนายกฯ มีจำนวนลดลง และยังเกิดแรงกระเพื่อมจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ว่า จำนวน 314 เสียง ยังอยู่เต็มจำนวนหรือไม่ หรืออาจมีการต่อรองอะไรมากขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกันการที่นายกฯ ลาออก ก็จะส่งผลต่อการปรับ ครม.เพราะ ครม.ต้องหมดสภาพไปโดยปริยาย และแต่ละพรรคการเมืองจะต้องเกิดการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี

ดูจากสมการแล้ว ไม่ง่าย และมีความเสี่ยงมากกว่า ขณะเดียวกันนายทักษิณ ยังสามารถให้คำแนะนำในเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายได้อยู่แล้ว ดังนั้นพรรคเพื่อไทย จึงไม่จำเป็นต้องปรับเศรษฐาออก ดังนั้นจึงไม่สำคัญว่าใครจะเป็นนายกฯ

ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และกองทัพธรรม ซึ่งยังคงปักหลักชุมนุมยาวอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล ดร.ยุทธพร ระบุว่า คปท.เคลื่อนไหวกดดันเรื่องนายทักษิณมานานแล้ว ตั้งแต่ยังรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ

คนกลุ่มนี้โดยต่อยอดมาจากกลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มพันธมิตรในอดีต ซึ่งคนในสังคมบางส่วนยังคงติดใจประเด็นระบอบทักษิณ หรือยุติธรรม 2 มาตรฐาน แต่ไม่ได้มีน้ำหนักอะไรมากเหมือนในอดีต เมื่อมีการเคลื่อนไหวอาจส่งผลต่อการเกิดม็อบใหญ่ขึ้นมาได้

ปัจจุบันกลุ่มมวลชนหลักที่เคลื่อนไหว ส่วนใหญ่คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และเขาไม่ได้ติดใจเรื่อง “ทักษิณ” ว่าเป็นประเด็นใหญ่สำหรับเขา ดังนั้นการเมืองก้าวข้ามทักษิณไปมากพอสมควรแล้ว

ขณะเดียวกัน สว.วันชัย ในอดีตต่อต้านทักษิณ ก็ออกมาระบุว่า จำเป็นต้องอาศัยพรรคเพื่อไทยต่อสู้กับพรรคก้าวไกล และประเด็นนี้ จึงทำให้ฝ่ายอนุรักษ์หลายส่วนต้องเปลี่ยนมุมคิด แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง