มากกว่า "สาดน้ำ" สงกรานต์ทั่วโลกเขาสาดอะไรกัน ?

ไลฟ์สไตล์
26 มี.ค. 67
09:09
1,264
Logo Thai PBS
มากกว่า "สาดน้ำ" สงกรานต์ทั่วโลกเขาสาดอะไรกัน ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถ้าพูดถึงเทศกาลชื่อดังช่วงหน้าร้อนเมืองไทย ทุกคนคงพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ "สงกรานต์" ช่วงเวลาที่เราสามารถสาดน้ำใส่กันได้แบบไม่รู้สึกผิด อีกหลายประเทศทั่วโลกก็มีการละเล่นแบบนี้เช่นกัน ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนเก็บกระเป๋าตะลุยเที่ยว "เทศกาลสาด" ทั่วโลกไปด้วยกัน

เทศกาลชมิกุส-ไดน์กุส (Śmigus-dyngus) - โปแลนด์

หรือเรียกอีกชื่อว่า "Wet Monday" จัดที่ประเทศโปแลนด์ในวันจันทร์หลังวันอีสเตอร์ ซึ่งปีนี้ วันอีสเตอร์ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 31 มี.ค.2567 ดังนั้น Wet Monday จะตรงกับวันที่ 1 เม.ย.2567 ชาวโปแลนด์จะออกมาสาดน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน ในอดีต เด็กผู้ชายจะเอาน้ำมาสาดใส่เด็กผู้หญิงที่ตัวเองชอบ แล้วก็ใช้กิ่งต้นหลิวตีเบาๆ แต่ถ้าเด็กผู้หญิงคนไหนมีคนชอบหลายคน ก็จะถูกแกล้งโดยการอุ้มไปโยนลงแม่น้ำให้เปียกมากขึ้นอีกด้วย ถ้าไม่อยากถูกแกล้ง เด็กผู้หญิงต้องให้ไข่อีสเตอร์แก่เด็กผู้ชายแทน แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปก็คงเหลือแต่การสาดน้ำใส่กันเท่านั้น

เทศกาลชมิกุส-ไดน์กุส (Śmigus-dyngus) - โปแลนด์

เทศกาลชมิกุส-ไดน์กุส (Śmigus-dyngus) - โปแลนด์

เทศกาลชมิกุส-ไดน์กุส (Śmigus-dyngus) - โปแลนด์

เทศกาลวาร์ดาวาร์ (Vardavar) - อาร์เมเนีย

จัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี นับจากวันอีสเตอร์ 14 สัปดาห์ (ปีนี้ตรงกับวันที่ 7 ก.ค.) จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเทพธิดาอัสต์ฮิค (Astghik) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ ความงาม ความรัก และความอุดมสมบูรณ์ตามตำนานโบราณ ปัจจุบันชาวอาร์เมเนียนและนักท่องเที่ยวจะออกมาเล่นสาดน้ำกันบนท้องถนนอย่างสนุกสนาน ปีนี้เป็นครั้งแรกในปีนี้เทศกาลสาดน้ำในอาร์มาเนียถูกจัดให้เป็นวันหยุด เพื่อจัดงานในรูปแบบของเทศกาลนานาชาติ ดึงดูดคนหนุ่มสาวจากทั่วทุกมุมโลก ในงานประกอบด้วยการแสดงดนตรีนานาชาติ กิจกรรมทางน้ำสุดอลังการ การแข่งขัน และความบันเทิงอื่นๆ อีกมากมาย

เทศกาลวาร์ดาวาร์ (Vardavar) - อาร์เมเนีย

เทศกาลวาร์ดาวาร์ (Vardavar) - อาร์เมเนีย

เทศกาลวาร์ดาวาร์ (Vardavar) - อาร์เมเนีย

เทศกาลฟิเอสต้า เดล อากวา อี เดล ฆามอน (Fiesta del Agua y del Jamón) - สเปน

เป็นเทศกาลสาดน้ำในช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 23 มิ.ย. เข้าวันที่ 24 มิ.ย.ของทุกปี ในเมือง Lanjarón ของประเทศสเปน เพื่อเฉลิมฉลองให้กับนักบุญจอห์น ผู้ให้บัพติศมา (ศีลล้างบาป) กับพระเยซู ทางการท้องถิ่นจะปล่อยน้ำออกจากท่อดับเพลิง นับเป็นการเปิดเทศกาลสาดน้ำยามเที่ยงคืนขึ้น ฝูงชนค่อยๆ เคลื่อนตัวผ่านเมืองโดยมีกระแสน้ำไหลอยู่ทั่วเมือง บรรดาผู้ที่อาศัยที่อยู่ตามถนนสายหลัก จะใช้สายยาง หรือ ถังน้ำสาดน้ำผู้เข้าร่วมงานจากระเบียง เมื่อสาดน้ำกันอย่างหนำใจแล้ว ทุกคนก็จะมารับประทานแฮมร่วมกัน เทศกาลนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Water and Ham Festival 

นอกจากเทศกาลสาดน้ำในต่างประเทศแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีการละเล่นคล้ายกัน
เพียงแต่เปลี่ยนวัตถุดิบไป 

อ่าน : วธ.ตั้ง "แอนโทเนีย" เป็น "นางมโหธรเทวี" นางสงกรานต์ปี 67

เทศกาลโฮลี (Holi) - อินเดีย

เป็นเทศกาลสาดฝุ่นสีใส่กัน จัดขึ้นในช่วงแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี (ช่วงเดือนมีนาคม) เป็นเวลา2 วัน เพื่อเฉลิมฉลอง ให้กับฤดูใหม่ และชีวิตใหม่ ในวันปีใหม่ของชาวฮินดู ฝุ่นสีที่ใช้ทำมาจากสีธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว(สีส้ม), บีทรูท(สีม่วง) และขมิ้น(สีเหลือง) "เทศกาลโฮลี" ถูกนับเป็นวันหยุดในหลายรัฐของอินเดียและเนปาล เพื่อให้มีการเฉลิมฉลองทางวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ทั้งชาวฮินดูและผู้ที่ไม่ใช่ชาวฮินดูได้ร่วมสาดน้ำและฝุ่นใส่กัน ผู้เข้าร่วมงานจะละเลงฝุ่นสีใส่กัน ทั้งใช้ปืนฉีดน้ำ ลูกโป่ง และยังมี กลุ่มนักดนตรี เล่นตีกลอง ร้องเพลงและเต้นรำ สร้างจังหวะสนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยว

เทศกาลโฮลี (Holi) - อินเดีย

เทศกาลโฮลี (Holi) - อินเดีย

เทศกาลโฮลี (Holi) - อินเดีย

เทศกาลสาดไวน์ ปามะเขือเทศ ปาองุ่น - สเปน

อีกหนึ่งเทศกาลสาดในสเปน จัดที่เมืองฮาโร แคว้นลาริโอฆา ประเทศสเปน เทศกาลสาดไวน์นี้ (Haro Wine Festival) จัดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 ในวันที่ 29 มิ.ย.ของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่ฤดูร้อนของชาวท้องถิ่น เทศกาลนี้ประกอบด้วยพิธีมิสซาที่โบสถ์ เมื่อพิธีมิสซาเสร็จเทศกาลสาดไวน์ก็เริ่มขึ้น โดยผู้ร่วมงานจะสาดไวน์แดงใส่กันอย่างสนุกสนาน ที่เมืองลามิโก ประเทศสเปน ก็มีเทศกาลสาดไวน์แบบนี้เช่นกัน แต่จัดในวันที่ 9 ก.ย.ของทุกปี 

ส่วนวันพุธสุดท้ายของเดือน ส.ค.ในทุกๆ ปี ที่เมืองบุญญ็อล จะมีการจัดงานเทศกาลปามะเขือเทศ (La Tomatina) โดยทางการจะเตรียมมะเขือเทศสุกจนนิ่มจำนวนมากให้ผู้เข้าร่วมมงานได้ปาใส่กัน และมีบางคนที่นำน้ำมะเขือเทศสดมาสาดใส่กันด้วย แต่ในบางพื้นที่อย่างเช่น เมืองมาจอร์กา หมู่เกาะแบลิแอริก ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกองุ่นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสเปน ช่วงหยุดสุดสัปดาห์ในเดือน ก.ย.ก็มีเทศกาลปาองุ่นเช่นกันเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว

เทศกาลสาดไวน์ ปามะเขือเทศ ปาองุ่น - สเปน

เทศกาลสาดไวน์ ปามะเขือเทศ ปาองุ่น - สเปน

เทศกาลสาดไวน์ ปามะเขือเทศ ปาองุ่น - สเปน

สงครามแป้ง - กรีซ

สงครามแป้ง หรือ Flour war เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เป็นเอกลักษณ์ของกรีซ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองกาลาซิดี ห่างจากกรุงเอเธนส์ไปทางตะวันตกประมาณ 200 กม. บรรยากาศเต็มไปด้วยการสาดแป้งที่ใช้ทำอาหารใส่กันอย่างดุเดือด อาวุธคู่กายเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้คือ "ถุงแป้ง" ซึ่งผู้ที่มาร่วมงานก็จะมีถุงแป้งกับตัว เจอใครผ่านไปมาก็หยิบสาดได้เลย ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในวันจันทร์บริสุทธิ์ หรือ คลีน มันเดย์ (Clean Monday) เป็นการสิ้นสุดฤดูคาร์นิวัล และเป็นการเริ่มต้นของการถือศีลอดของชาวกรีกออร์โธดอกซ์

สงครามแป้ง - กรีซ

สงครามแป้ง - กรีซ

สงครามแป้ง - กรีซ

อ่าน : กรีซเปิดศึก "สงครามแป้ง" ประเพณีโบราณเริ่มต้นการถือศีลอด

วนกลับมาที่แถบอาเซียนบ้านเรา ที่มีเทศกาลสาดน้ำอย่าง "สงกรานต์" จัดขึ้นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นั่นเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแถบร้อนเหมือนกัน "สงกรานต์" ถือเป็นประเพณีเดือน 5 ของหลายประเทศแทบอาเซียน ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ที่ถือกันว่า ช่วงเริ่มต้นฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะว่างเว้นจากการทำเกษตร 

อ่าน : เรื่องเล่าตำนาน "วันสงกรานต์" กับ "ประเพณีสงกรานต์" ใน 4 ภูมิภาค

เทศกาลสงกรานต์ "สาดน้ำ" ในอาเซียน

สงกรานต์ของลาว จะอยู่ในช่วงใกล้กับไทย คือ 14-16 เม.ย. มีหลายกิจกรรมที่คล้ายกับของไทย เช่น ทำบุญ สรงน้ำพระพุทธรูป แต่เสน่ห์ของสงกรานตืลาวก็คือไม่มีการเล่นน้ำที่ค่อนไปทางหวาดเสียว โลดโผน 

สงกรานต์ของเมียนมา หรือที่เรียกว่า "ตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ" หรือสั้นๆ ว่า "เหย่บะแวด่อ" ทางการเมียนมาประกาศให้ช่วงสงกรานต์เป็นวันหยุดแห่งชาตินานถึง 10 วัน แต่เดิมเมียนมาจะเล่นน้ำกันอย่างนุ่มนวล แต่ระยะหลังก็เริ่มสาดน้ำแบบของไทย ซึ่งทางการเมียนมาก็ออกกฎห้ามแล้ว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ 

สงกรานต์ของกัมพูชา จัดในช่วงเวลาเดียวกับลาวคือ 14-16 เม.ย. ชื่อเทศกาลโจลชนัมทเมย (Chaul Chnam Thmey) กิจกรรมที่ชาวกัมพูชาจะทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น นำอาหารไปถวายพระ ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระพุทธรูป รวมไปถึงการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ 

สงกรานต์ของชาวไตลื้อในสิบสองปันนา เทศกาลพัวสุ่ยเจี๋ย (จีน: 泼水节) เป็นคำจีนที่เรียกวันสังขาร (ประเพณีปีใหม่) ของชาวไตลื้อในสิบสองปันนา เหมือนกับสงกรานต์ในประเทศไทย โดยจัดใน 13 เมษายนของทุกปี คำว่า "สังขาร" เป็นคำเดียวกันกับ "สงกรานต์" แต่คนในสิบสองปันนาและล้านนาเขียนเป็น "สังขาร" ประเพณีวันสังขารที่สิบสองปันนาเหมือนกับปีใหม่เมืองของล้านนา

ภาพประกอบข่าว - สงกรานต์ในอาเซียน

ภาพประกอบข่าว - สงกรานต์ในอาเซียน

ภาพประกอบข่าว - สงกรานต์ในอาเซียน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง