"เช็งเม้ง 2567" วันไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน มีความสำคัญอย่างไร

ไลฟ์สไตล์
25 มี.ค. 67
16:09
15,911
Logo Thai PBS
"เช็งเม้ง 2567" วันไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน มีความสำคัญอย่างไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เช็งเม้ง 2567 มีประวัติที่มาอย่างไร ตรงกับวันไหน ของไหว้เช็งเม้งต้องเตรียมอะไรบ้าง คนไทยเชื้อสายจีนทำอะไรกันบ้างกับในวันสำคัญนี้

เช็งเม้ง หรือ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันสำหรับชาวไทยเชื้อสายจีน โดยลูกหลานที่แยกย้ายไปทำงานหรือแยกไปมีครอบครัวจะเดินทางกลับมารวมตัว เพื่อไหว้ "สุสาน" หรือ "ฮวงซุ้ย" ของบรรพบุรุษอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

วันเช็งเม้งตรงกับวันที่ 5 เม.ย.ของทุกปี ส่วนเทศกาลเช็งเม้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 - 8 เม.ย. รวม 7 วัน ปัจจุบันเนื่องจากมีปัญหาการจราจร สุสานต่าง ๆ จึงขยายช่วงเวลาของเทศกาลเช็งเม้งให้ยาวขึ้น คือ ประมาณ 15 มี.ค. - 8 เม.ย.

อ่าน : "สารทจีน - เช็งเม้ง - ตรุษจีน" มีความหมายและสำคัญอย่างไร

คำว่า "เช็งเม้ง" ตามสำเนียงแต้จิ๋ว ในภาษาจีนแยกเป็น "เช็ง" หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และ "เม้ง" หมายถึง สว่าง เมื่อนำมารวมกันแล้วหมายถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิของจีน ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มสวยงาม จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการไปไหว้บรรพบุรุษ ณ ที่ฝังศพ แทนการไหว้ป้ายวิญญาณในบ้าน

ในวันเช็งเม้ง ธรรมเนียมปฏิบัติที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนทำนั้น คือ ทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษ ตกแต่งสุสานให้ดูใหม่ กราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ล้อมวงกินอาหารไหว้ร่วมกันเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากลาของไหว้ จุดประทัดเพื่อความเป็นสิริมงคล

เหตุผลที่ต้องมีวันเช็งเม้งนั้น เพราะชาวจีนแต่ก่อนจะไม่เผาร่างของผู้เสียชีวิตแต่จะฝังแทน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าแม้จะตายแต่วิญญาณยังอยู่ ดังนั้นจึงมีการไหว้อาหารและข้าวของเครื่องใช้จำเป็น เสมือนให้พวกท่านได้ไปใช้ในอีกภพภูมิ

การไหว้บรรพบุรุษของชาวจีนในวันเช็งเม้ง ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เพื่อรำลึกถึงคุณความดี ที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำไว้ เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต เป็นการสร้างความสามัคคี

ตำนาน "เช็งเม้ง"

ตำนานการเกิด "วันเช็งเม้ง" มีเรื่องเล่าไว้หลายตำนาน หนึ่งในนั้นคือ จุดเริ่มต้นสมัยราชวงศ์ถัง คาดว่า ผู้คิดค้นคือ "ขุนนางราชวงศ์โจว" ที่เป็นผู้กำหนดพิธีการจัดการงานไหว้หลุมศพ  

ตำนานการทำความสะอาดสุสาน ก่อนเริ่มการไหว้นั้น มาจากพระเจ้าฮั่นเกาจู ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น เนื่องจากพระองค์ระลึกถึงบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงเดินทางไปยังบ้านเกิด แต่จำสุสานของบิดามารดาของตนไม่ได้ จึงอธิษฐานต่อเทพบนสวรรค์ด้วยการโปรยกระดาษสีขึ้นฟ้า เพื่อให้กระดาษปลิวไปตกยังป้ายสุสานใด จะถือว่าสุสานนั้นเป็นสุสานของบิดามารดา

เมื่อทรงทอดพระเนตรป้ายหลุมศพที่กระดาษตกลงไปชัด ๆ ก็พบว่าเป็นหลุมศพของบิดามารดาของพระองค์ หลังจากนั้นประเพณีทำความสะอาดฮวงซุ้ย และทาป้ายชื่อหลุมศพใหม่ จึงเป็นที่นิยมปฏิบัติกันต่อมา

อ่าน : รู้หรือไม่ ชาติใดในเอเชีย เคยไปฟุตบอลโลกมากที่สุด

"เช็งเม้ง" บนความเชื่อ "ขงจื้อ-เต๋า-พุทธ"

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายมุมมองของวัน "เช็งเม้ง" ส่วนหนึ่งในรายการ Thai PBS Podcast ไว้ว่า คนไทยเชื้อสายจีน "วันเช็งเม้ง คือ การรวมญาติ สำหรับคนจีนเรื่องของความเป็นความตาย ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ความเชื่อที่มีมาในอดีตหลัก ๆ มีอยู่ 3 ความเชื่อ ขงจื้อ, เต๋า และ พุทธศาสนา

"ขงจื้อ" พูดถึงการจัดระเบียบสังคม แบ่งโลกเป็น "โลกที่มนุษย์อยู่" กับ "โลกของวิญญาณ" ไม่ได้เชื่อเรื่องเสียชีวิตแล้วเกิดใหม่ แต่เชื่อว่า เสียชีวิตแล้วออกจากโลกปัจจุบันไปอยู่ในโลกของวิญญาณ

"เต๋า" เชื่อในเรื่องของ "โลกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ" ฉะนั้นการตาย คือ การกลับสู่ธรรมชาติ

"พุทธ" พูดถึง นรก กับ สวรรค์ ทำดีก็ไปสวรรค์ ทำชั่วไปนรก และอาจเวียนว่ายตายเกิด กลับมามีชีวิตใหม่อีก

รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า วัฒนธรรม "เต๋า" ที่เห็นในวันเช็งเม้ง คือ การนำศพของบรรพบุรุษกลับสู่ธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า "ฮวงซุ้ย" คือ สุสานของบรรพชน จะต้องถูกวางในทำเลที่ตั้งที่ดีที่สุด ซึ่งฮวงซุ้ยที่ดีที่สุด คือต้อง ข้างหน้าเป็นน้ำ ข้างหลังเป็นภูเขา อยู่บนเนินที่ลาดจากเขาลงในน้ำ 

ลัทธิเต๋าจะสอนในเรื่องธรรมชาติ การหาฮวงซุ้ยจึงต้องหาทำเลทางธรรมชาติที่เหมาะสม และการหาทำเลทำเลที่ดีที่สุดให้บรรพบุรุษ ในการที่จะเข้าสู่โลกของวิญญาณ

ตามวิธีคิดแบบ "ขงจื้อ" ในเมื่อมีโลกของมนุษย์โลกของวิญญาณ โลกของวิญญาณมันต้องมีบางช่วงเวลาที่เขาสามารถปล่อยให้ บรรพบุรุษ หรือ วิญญานกลับมาดลบันดาลให้ลูกหลานสามารถที่จะเจริญรุ่งเรืองได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ 

การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ส่วนใหญ่พอคนจีนเสียชีวิต เชื่อว่า วิญญาณ จะไปอยู่ใน 3 ที่ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ ฮวงซุ้ย เลยกลายเป็นหลุมฝังศพที่ญาติจะต้องไปทำบุญในวันเช็งเม้ง คือ การนำอาหารไปเลี้ยงบรรพบุรุษ 

ในขณะเดียวกัน วิญญาณยังมีป้ายที่เป็นป้ายชื่อ เก็บไว้รวมกันที่วัดจีน ส่วนอีกที่อยู่ที่การชดใช้กรรม เพราะมีอิทธิพลของศาสนาพุทธ คือ ไปสู่สวรรค์ แดนสุขาวดี หรือ ลงสู่นรกเพื่อชดใช้กรรม แต่ไม่ได้พูดถึงการกลับมาเกิดใหม่ 

คำว่าเช็งเม้งเป็นการส่งสัญญานว่า นี้คือ ช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิ ที่ทุกอย่างสวยงาม และประตูสวรรค์ ประตูนรกก็จะเปิด เพราะฉะนั้น บรรพบุรุษ ก็สามารถกลับมาอยู่กับลูกหลานได้ ในช่วงเวลานี้ 

อ่านข่าว : เพิ่มสิทธิบัตรทอง "รักษาภาวะมีบุตรยาก" ส่งเสริมมีลูก

สิ่งที่นิยมปฏิบัติในวันเช็งเม้ง

สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีในวันเช็งเม้ง ที่ทำสืบต่อกันมา ดังนี้

  • ทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษให้น่ามอง เพราะอาจไปกระทบกับตำแหน่งต้องห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ
  • ตกแต่งสุสานให้ดูใหม่ หากป้ายชื่อบรรพบุรุษมีสีซีดแล้วก็ลงสีป้ายชื่อใหม่โดยใช้สีเขียว หรือสีทองขลิบเขียว นำกระดาษม้วนสีรุ้งมาตกแต่งให้สวยงาม 
  • กราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแล
  • กราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ
  • เผากระดาษเงิน กระดาษทอง และจุดประทัด
  • ล้อมวงกินอาหารไหว้ร่วมกัน เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากลาของไหว้ เพื่อแสดงความสามัคคี และจุดประทัด เพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลเช็งเม้ง

"วันเช็งเม้ง" มีของไหว้อะไรบ้าง 

สำหรับของไหว้วันเช็งเม้ง แบ่งออกเป็นของไหว้สำหรับเจ้าที่ และของไหว้สำหรับบรรพบุรุษ 

ของไหว้บรรพบุรุษ

  • ข้าวสวยใส่ถ้วย พร้อมตะเกียบ
  • เหล้า หรือ น้ำชา
  • กระดาษเปิดทาง
  • อาหาร 3 หรือ 5 อย่าง
  • สัตว์ประเภท หมู ไก่ เป็ด หรือปลา
  • กับข้าว และผลไม้ ที่บรรพบุรุษชอบรับประทาน 
  • ขนมไหว้ ได้แก่ ขนมไข่, ซาลาเปา, ฮวกก้วย 
  • กระดาษไหว้เจ้า ได้แก่ กระดาษหงิ่งเตี๋ย, กระดาษเงินกระดาษทอง และกระดาษรูปของใช้ต่าง ๆ
  • ประทัด

อย่างไรก็ตาม เครื่องไหว้ต่าง ๆ อาจแล้วปรับให้เข้ากับยุคสมัย และความสะดวกของผู้ไหว้ 

อ่านข่าวอื่น ๆ

มติเอกฉันท์! ศาลรธน.ไม่รับคำร้องเพื่อไทยหนุนแก้ 112

ผกก.สืบสวนสงขลา ให้ปากคำฐานะพยาน "คดีเว็บพนัน"

"พิพัฒน์" กางไทม์ไลน์ขึ้นค่าแรง 400 บาทรอบ 2 ช่วงสงกรานต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง