กกต.เปิดศูนย์ต้าน Fake News ถึงฤดูข่าวลวงรับเลือกตั้ง สว.

การเมือง
1 เม.ย. 67
16:03
104
Logo Thai PBS
กกต.เปิดศูนย์ต้าน Fake News ถึงฤดูข่าวลวงรับเลือกตั้ง สว.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กกต.จะไม่ให้เกิดข่าวเท็จ (Fake News) ข้ามคืน ในช่วงเลือกตั้งวุฒิสมาชิก (สว.) หลังจากหมดวาระ 11 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ภายใน 2 เดือน โดยการใช้โปรแกรม “จับข่าวเท็จ” ยันจะตรวจสอบและชี้แจงทันที พร้อมดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อสยบข่าวเท็จ

เมื่อเช้าวันนี้ (1 เม.ย.2567) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กกต.เปิดศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ Fake News

นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง บอกว่า พร้อมพูดคุยและตอบปัญหา เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ต่อประชาชน ในห้วงที่กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้น

ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศ อย่างเป็นทางการ

ท่ามกลางข้อมูลข่าวว่า จะมีชมรมเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีข่าวลือว่า มีพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดห้ามไว้ กกต.พร้อมดำเนินการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มข้น

โดยให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบกระบวนการ ตั้งแต่ระดับอำเภอ 928 แห่ง ที่นายอำเภอและเลขานุการ พร้อมกรรมการระดับอำเภอ จะเป็นผู้ดำเนินการเบื้องต้น และนับแต่นี้จะมีข่าวจริงและไม่จริงออกมา ซึ่งสำนักประชาสัมพันธ์ กกต.จะชี้แจงตอบคำถาม

……………………..
หากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2566 หรือเลือกตั้ง สส. ศูนย์ COFACT หรือ cofact.org พบว่า มีประเด็นข่าวลวงหรือ Fake News จำนวน 5 ลักษณะด้วยกันคือ

1.สร้างความเกลียดกลัวอิสลาม
ถูกนำมาใช้โจมตีทางการเมือง เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธ รวมทั้งกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ขบวนการกลืนชาติ” ที่บ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเพื่อให้ไทยกลายเป็น “รัฐอิสลาม”

2.อ้างผลงาน
การให้ข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนเกี่ยวกับโครงการหรือนโยบายของรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นผลงานความสำเร็จของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง เป็นข้อมูลบิดเบือนที่นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกขั้วการเมืองนิยมนำมาใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

3.โยนความผิดให้รัฐบาลในอดีต
กรณีที่ชัดเจนที่สุดของการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเพื่อกล่าวหาพรรคการเมืองคู่แข่งว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาบางอย่าง คือ การเผยแพร่ข้อมูลโดยแกนนำ รทสช. ที่ระบุว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันมีราคาแพง เนื่องจากเร่งอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซื้อไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์จากบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่เมื่อปี 2555

4.ใช้ทฤษฎีสมคบคิดเชื่อมโยงแบบผิดๆ
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองไทยโดยใช้องค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือ ซึ่งความเชื่อนี้ถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้งอย่างเป็นระบบโดยเชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566

5.ให้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนนโยบายของคู่แข่ง
ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนเป็นเนื้อหาข่าวลวงทางการเมืองที่พบได้บ่อย ทั้งข้อมูลเท็จที่สร้างขึ้นเพื่อทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง และการบิดเบือนนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อทำลายความนิยม อย่างเช่นกรณีข่าวลวงเรื่องพรรคก้าวไกลมีนโยบายตัดบำนาญข้าราชการ และการบิดเบือนว่านโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกลจะทำให้ประเทศไทยไม่มีกองทัพปกป้องประเทศ เป็นต้น

ข่าวลวงเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งจากประชาชนทั่วไป ที่เชียร์พรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือข่าวลวงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งอาจจะได้รับการตรวจสอบ หรือพิสูจน์ความจริง หรือบางข่าวแทบไม่ได้รับการพิสูจน์เลยว่าจริงหรือเท็จ

นอกจากนี้ยังมี Fake News ที่เกิดจากการพูดของผู้คน แหล่งข่าว ที่พูดแล้วกลับระบุว่า ไม่ได้พูด ไม่เคยให้สัมภาษณ์ เป็นต้น
…………………………….
สอดคล้องกับ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า การเปิดศูนย์ฯ Fake News เจตนาและต้องการทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งศูนย์นี้ตั้งมาตั้งแต่ 2562 ในการเลือกตั้งครั้ง สส. ครั้งที่แล้ว มีข่าวเท็จเกือบ 100 ข่าว และยังมีข่าวเท็จแต่ละวันอีก จึงต้องให้ข้อเท็จจริงและกฎหมาย

ในวันนี้ขอนำเสนอรูปแบบเพื่อความรวดเร็ว ต่อไปนี้จะไม่ให้เกิดข่าวเท็จข้ามคืน จะเรียกประชุมเพื่อแก้ข่าวทันที ด้วยบางข่าวเกิดจากข่าวจริงที่มาขยายจนเป็นเท็จ

กระทั่ง การเลือกตั้งปี 2566 ข่าวเท็จลดลง การเปิดศูนย์เพื่อป้องกันและป้องปราม มีโปรแกรมเจาะข่าวลึก แม้เป็นข่าวใต้ดินหรืออวตาร กกต.ก็ไม่ปล่อย และคาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีคนไม่ประสงค์ดี ให้ข้อมูลข่าวเท็จ ก่อนเลือก สว. จึงตั้งศูนย์แถลงข่าวประสานกับประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ

สำหรับกรรมการดำเนินการ ศูนย์ปฏิบัติงานของคณะกรรมการการต่อต้านเท็จ 9 คน และมีเจ้าหน้าที่ประจำที่ศูนย์ 5 คน ที่มีการฝึกใช้โปรแกรม “จับข่าวเท็จ” ที่นำระบบมาจากบริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ ในการตรวจสอบข้อมูลในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่กล่าวถึง กกต. และเกี่ยวกับการได้มาได้มาซึ่ง สว. โดยมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขชี้แจงข่าวเท็จได้ทันท่วงที ทันต่อไวรัลที่จะกระทบกระบวนการ

จะเห็นว่า มีข่าวเท็จที่ค้าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งปี 2562 ปี 2566 เกินเกินหนึ่งวันหรือไม่ เมื่อมีข่าวต่อต้านข่าวเท็จ เราจะแก้ข่าวทันที อย่างที่บอกช่วงเวลานอกเวลาราชการ กลางคืนเมื่อมีการปล่อยข่าวแล้วก็ประชุม ไม่ต้องกลัว เราประชุมเสาร์-อาทิตย์ด้วย ศูนย์นี้ไม่มีวันหยุด

หากทราบต้นตอที่มาของข่าวเท็จ จะมีการแจ้งความดำเนินคดี เช่นเมื่อปี 2562 ที่ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังพบว่า มีคนกลุ่มหนึ่งกระทำผิด แต่เมื่อสอบสวนอ้างว่าไม่รู้ และกรณีที่อ้างว่าถูกปลอม Facebook

ส่วนในกรณีที่มีตัวตนชัดเจน ตรวจสอบได้ ยืนยันดำเนินคดีถึงที่สุด โดยจะทำทันทีอย่างเฉียบพลันอย่างหนักแน่นเพื่อสยบข่าวเท็จ โดยไม่ได้เน้นจับความเคลื่อนไหวไปที่นักการเมืองหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่จะรับฟังทุกข่าวที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นธรรม และเบื้องต้นรับทราบว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มใดบ้าง

กกต.จับตา ผู้สมัคร สว.ที่มาแค่โหวต ยอมรับทำบัตรเลือก สว.ยาก เตรียมหารือพรุ่งนี้ ชี้ปัญหาตรวจคุณสมบัติเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกอำเภอจะต้องมีประสิทธิภาพ แนะเคลียร์ตัวเองถือหุ้นสื่อก่อนสมัคร

จับตาคนสมัครจริง กับสมัครเพื่อใช้สิทธิ

นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวต่อว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า ระดับอำเภอ จะมีผู้มาสมัครเท่าไหร่ แต่จะมีผู้มาสมัคร 2 ประเภทคือ ประเภท 1 สมัครเป็น สว.จริง ๆ เพื่อรับเลือก และอีกประเภทคือสมัครเพื่อใช้สิทธิเลือก ซึ่งประเภทที่ 2 นี้เป็นสิ่งที่เราต้องจับตามอง

โดย 928 อำเภอ ๆ ละ 20 กลุ่ม จำนวนผู้สมัครเราประเมินไม่ได้ แต่เราจะเห็นภาพชัด เมื่อขึ้นมาระดับจังหวัด จะมีคนเข้ามาเต็มที่ คือ 928 ×20 × 3 เพราะจะเข้ามากลุ่มละ 3 คนประมาณ 50,000 คน ซึ่งจำนวนนี้ค่อนข้างที่จะแน่นอน

และเมื่อขึ้นมาระดับประเทศคือ 77×20×2 ก็จะเหลือประมาณ 3,000 กว่าคน ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือก 200 คน และสำรอง 100 คน

นี่คือปัญหาที่เราจะต้องบริหารจัดการทั้งคุณสมบัติทั้งการใช้สิทธิ พรุ่งนี้จะมีการพิจารณาเรื่องของบัตรเลือก สว.ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เราต้องวางแผน เพราะการเลือกไขว้ในรอบ 2 ทั้งอำเภอและจังหวัด ยังไม่รู้เลยว่า ใน 5 กลุ่มที่จะไปแบ่งสายจะเป็นกลุ่มอะไรบ้าง

และกลุ่มแรกก็จะเลือกตนเอง กับคนในกลุ่มไม่ได้ เท่ากับว่า ต้องทำบัตรสำหรับเลือกอีก 4 กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มของตัวเอง ถึงเวลานั้นเราจะพิมพ์ไม่ทันแล้ว เราจะต้องใช้วิธีเขียน ทางนายอำเภอและ ผอ.การเลือก จะต้องบริหารจัดการเรื่องนี้ให้สอดคล้องกันทั้ง 928 อำเภอ

นายปกรณ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น การตรวจคุณสมบัติทั้ง 928 อำเภอ จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราได้ให้เงินสำนักทะเบียนกลางไป 20 ล้านบาท แต่จะได้เพียงข้อมูลเบื้องต้น

สิ่งที่หนักกว่านั้นคือ ลักษณะต้องห้าม 26 ข้อ เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือไม่มีตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือไม่เคยต้องโทษที่ถูกจำคุกหรือไม่ เคยต้องโทษจำคุกแต่เป็นความผิดประเภทใด ถ้าเป็นการพนัน จะต้องเป็นเจ้ามือ ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางอย่างจะต้องเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ทุจริต เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์

เรื่องนี้เราพยายามพูดคุยกับอำเภอให้ชัดเจน และการตรวจสอบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นจะถูกกล่าวหาทันทีถ้าบกพร่อง นี่คือปัญหาที่สำนักงานต้องทำงานออกมาให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนคุณสมบัติเรื่องของการถือหุ้นสื่อนั้น ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งชี้แจงว่า ถ้าสมัครโดยที่ขาดคุณสมบัติ หรือเข้าข่ายกรณีที่ไม่มีสิทธิสมัคร ก่อนมาสมัครก็ควรที่จะเคลียร์ตัวเองให้เรียบร้อยก่อน จะได้ลงสมัครด้วยความสบายใจ
……………………….
เมื่อเห็นความยุ่งยาก ซับซ้อน ในการเลือกตั้ง สว.ครั้งใหม่ในไม่กี่เดือนนี้แล้ว ก็ยังนับว่าน่ากังวลใจ และยิ่งยุคปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียงสื่อกระแสหลักเท่านั้น

ยิ่งมีสื่อสังคมออนไลน์ ที่ใคร ๆ ก็นำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ อย่างไม่จำกัด นั่นหมายความว่า การปล่อยข่าวเท็จ เพื่อทำลายกันย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อ่านข่าว : พม.จับมือสถานศึกษา เร่งแก้วิกฤตขาดแคลน “ล่ามภาษามือ”

อย. ยืนยันเครื่องปั๊มหัวใจที่สหรัฐฯเรียกคืน ไม่มีขายในไทย

"วิปรัฐบาล" ลดเวลาฝ่ายค้านซักฟอก ม.152 เพิ่มเวลารัฐบาลตอบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง