ราคาอาหาร-มาตรการรัฐ ฉุดเงินเฟ้อ มี.ค.ลบ 0.47% ลดต่อเนื่อง 6 เดือน

เศรษฐกิจ
5 เม.ย. 67
12:42
345
Logo Thai PBS
ราคาอาหาร-มาตรการรัฐ ฉุดเงินเฟ้อ มี.ค.ลบ 0.47% ลดต่อเนื่อง 6 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“พาณิชย์”เผย เงินเฟ้อ มี.ค.67 ลบ 0.47 % ลดต่อเนื่อง 6 เดือน เหตุราคาอาหารสด ผักสดปรับลดลง ค่าไฟฟ้าและน้ำมัน ยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัน 3 เดือนเงินเฟ้อ ลด 0.79 % พร้อมปรับเป้าใหม่ เป็นบวก 0-1 %

วันนี้ (5 เม.ย.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มี.ค.2567 เท่ากับ 107.25 เทียบกับ ก.พ.2567 เพิ่มขึ้น 0.03% เทียบกับเดือน มี.ค.2566 ลดลง 0.47% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน เฉลี่ย 3 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 0.44%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสุกร และผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมี.ค.2566 อยู่ในระดับสูง ส่วนราคาพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566

เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ราคายังคงปรับลดลง ขณะที่สินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ และหากรวมเงินเฟ้อ 3 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) ลดลง 0.79%



โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.57% ตามการลดลงของเนื้อสุกร ปลาทู ปลากะพง ผักสด เช่น มะนาว กะหล่ำปลี มะเขือเทศ เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือน มี.ค.2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และน้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง ที่ลดลง

ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ นมสด องุ่น ส้มเขียวหวาน น้ำตาลทราย กาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน

ขณะที่หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.40% ตามค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล ที่ยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอยู่ เสื้อผ้าบุรุษ สตรี และเสื้อผ้าเด็ก สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดปรับลดลงเล็กน้อย

ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เช่น ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี ยาแก้ปวดลดไข้ ยาลดกรดในกระเพาะ ค่าตรวจรักษาคลินิกเอกชน ค่าทัศนาจรในประเทศและต่างประเทศ บุหรี่ สุรา และไวน์

 กระทรวงได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2567 จากเดิมลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% ค่ากลาง 0.7% เป็นบวกระหว่าง 0–1% ค่ากลาง 0.5% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน เม.ย.2567 มีโอกาสที่จะอยู่ทั้งฝั่งบวกและลบประมาณ 0.1% แต่มั่นใจว่าเดือน พ.ค. และมิ.ย. จะกลับมาเป็นบวก ทำให้ไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวเป็นบวกประมาณ 0.5-06%

เพราะราคาน้ำมันตลาดโลก มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะเบนซิน ส่วนดีเซล ก็ต้องรอดูมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้สินค้านำเข้าราคาสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าฐานปีก่อนต่ำ ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อไม่สูงขึ้นมาก เช่น ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกรและผักในปีที่แล้ว และปีนี้ราคามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

และมีแนวโน้มต่ำกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี และมีการแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ การเติบโตของการค้าออนไลน์ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง

 

อ่านข่าวอื่นๆ:

ราคาทองเช้านี้ ร่วงแรง 200 บาท แนะทำกำไรระยะสั้น

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เงินสะพัด 4.2 หมื่นล้าน นักท่องเที่ยวแห่ใช้จ่าย

"สงกรานต์" นี้มีเงินใช้แน่ แบงก์สำรองเงินสดกว่าแสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง