หยุดสงกรานต์เช็กอาการตัวเองเข้าข่าย "ซึมเศร้าหลังหยุดยาว" หรือไม่

ไลฟ์สไตล์
14 เม.ย. 67
08:00
931
Logo Thai PBS
หยุดสงกรานต์เช็กอาการตัวเองเข้าข่าย "ซึมเศร้าหลังหยุดยาว" หรือไม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อพูดคำว่า "อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว" หลายคนส่ายหัวบอกไม่เคยได้ยินมาก่อน ไทยพีบีเอสออนไลน์รวบรวมข้อมูล ทำความรู้จักและวิธีการดูแลตัวเอง ลองสังเกตตัวเองดูก่อนนะ ที่ไม่อยากไปทำงาน อาจแค่อาการขี้เกียจ ไม่ใช่ซึมเศร้าหลังหยุดยาว ก็ได้นะ

การพักผ่อนท่องเที่ยว มีส่วนช่วยลดความเครียดทั้งทางร่างกาย จิตใจ เหมือนจุดไฟที่ไหม้มอดจากการทำงานทั้งสัปดาห์ พอได้ชาร์จไฟก็มีพลังทำงานในสัปดาห์ใหม่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น 

แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ

การพักผ่อนที่สร้างประโยชน์ อาจส่งผลเสียได้ พอได้พักผ่อนยาวๆ รวมกับความกังวลว่าช่วงเวลาแห่งความสุข ความสบายใจกำลังจะหมดไป จึงทำให้เกิด "อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว" ได้ อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลับเข้าสู่การดำเนินชีวิตปกติหรือกลับไปทำงานแล้ว มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน ตั้งแต่ Post-Vacation Blues, Post–Holiday Blues และ Post-Vacation Depression

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อ่าน : 30 มีนาคม "วันไบโพลาร์โลก" รู้จัก โรคอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวเศร้าเดี๋ยวสุข

อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวจะเกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์แรกที่กลับสู่ชีวิตทำงาน มีตั้งแต่มึนหัว หงุดหงิด นอนหลับได้ยาก และอาจรุนแรงขึ้นหากมีปัญหาอื่นๆ ในที่ทำงานร่วมด้วย ลองสังเกตดูว่า มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบข้างหรือไม่ 

  • ความผิดปกติทางอารมณ์ รู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด รู้สึกโหยหาอดีตช่วงที่ได้หยุดยาว รู้สึกไม่สบายใจ มีอาการเครียด

  • ความผิดปกติด้านร่างกาย ปวดตามเนื้อตัว ปวดหัว หายใจลำบาก ใจเต้นแรง ความดันสูงขึ้น

อาการเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะหายได้เอง แต่หากเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่านั้น อาจดำเนินไปสู่โรคซึมเศร้าได้ หากมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น รู้สึกเศร้าซึม ว่างเปล่า สิ้นหวัง เหนื่อยล้าหมดพลัง ไม่มีสมาธิ ใจลอย น้ำหนักลดลง ปวดตามเนื้อตัวจนถึงมีความคิดหรือพยายามที่จะฆ่าตัวตาย ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อ่าน : "โรคซึมเศร้า" ต้องช่วยกันซึมซับ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเศร้า

Check-list อาการแบบไหนต้องพบจิตแพทย์

  1. เช็กการนอนหลับ : มีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรือนอนหลับมากเกินไป ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  2. เช็กอารมณ์ความรู้สึก : มีอารมณ์และนิสัยที่ต่างไปจากเดิมจนสังเกตได้ เช่น มีอารมณ์เศร้าง่าย หรือรู้สึกหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ จนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
  3. เช็กความคิด : มีความคิดเชิงลบว่าตัวเองไร้ค่าหรือไม่ควรมีชีวิตอยู่ จากที่ไม่เคยระแวงอะไรมาก่อน ก็คิดว่าจะมีคนมาปองร้ายหรือทำร้าย
  4. เช็กการทำงานของสมอง : ความจำเปลี่ยนแปลงไป ความสามารถในการคิดอ่านและการตัดสินใจลดลง เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของโรคทางจิตเวช
  5. เช็กพฤติกรรม : จากเมื่อก่อนไม่ชอบออกไปข้างนอก ตอนนี้กลับออกไปข้างนอกตลอด ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแบบไม่คิด หุนหันพลันแล่น ชอบทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหรือจากที่เคยเ็ป็นคนชอบเข้าสังคม อยู่ๆ ก็กลายเป็นคนเก็บตัว  
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ฮีลใจยังไงให้หายซึมเศร้าหลังหยุดยาว 

ตามหลักจิตวิทยาระบุว่า อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นอาการซึมเศร้าเหล่านี้ก็จะหายไปเอง แต่ถ้าเราอยากให้อาการนี้หายไปเร็วขึ้น ลองมาทำวิธีเหล่านี้กัน

  1. นับถอยหลังวันหยุดครั้งหน้าในทริปต่อไป หากเรามีความสุขกับการไปเที่ยวในวันหยุด ให้เราตั้งเป้าสำหรับทริปถัดไป วางแผนว่าจะไปที่ไหน ไปกี่วัน เพื่อเป็นเป้าหมายในการทำงานต่อไป
  2. ออกกำลังกายช่วยได้ ขณะที่เราออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอนโดรฟิน ให้เรามีความสุข ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ นอกจากนั้นยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
  3. ฟื้นฟูร่างกายแต่เนิ่นๆ บางคนใช้ร่างกายอย่างหนักในช่วงวันหยุด ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ให้เลือกกินอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้และผักสด จะช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาพร้อมทำงานอีกครั้ง

6 วิธี รับมือและป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จากกรมสุขภาพจิต

1. หาแรงจูงใจในการไปทำงาน
ตั้งเป้าหมายความก้าวหน้าในการทำงาน เช่น การได้ขึ้นเงินเดือน โบนัส เป็นต้น

2. การสร้างคุณค่าในการทำงาน
มองหาข้อดีของการทำงาน เช่น การมีทักษะเฉพาะเพิ่มมากขึ้น มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน

3. อยู่กับปัจจุบัน
วางแผนการทำงานแล้วจะเห็นเหตุผลที่ต้องทำงานในแต่ละวัน

4. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน
เปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สร้างสรรค์มากขึ้น ท้าทายตัวเอง แล้วยังทำให้รู้สึกสนุกกับการทำงาน

5.หาเพื่อนรู้ใจและทีมในการทำงาน
หาเพื่อนคู่หูในการทำงาน หรือ สร้างทีมเพื่อทำงานสมบูรณ์แบบมีประสิทธิภาพบรรลุตามเป้าหมาย

6. วางแผนเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป
การวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาวครั้งต่อไป ทำให้เกิดความรู้สึกมีไฟในการทำงานให้เสร็จ และมีใจที่สดใสเพื่อรอไปเที่ยวในวันหยุด

สำหรับใครที่รู้สึกกังวลมาก จนส่งผลต่ออารมณ์และการใช้ชีวิตประจำวัน
สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต ได้ที่เบอร์ 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง