ครม.ดัน "เมืองเก่า-ทะเลสาบสงขลา" เข้าศูนย์มรดกโลก

สังคม
9 เม.ย. 67
16:35
619
Logo Thai PBS
ครม.ดัน "เมืองเก่า-ทะเลสาบสงขลา" เข้าศูนย์มรดกโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอ “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก

วันนี้ (9 เม.ย.2567) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

“สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.ระโนด, อ.สทิงพระ, อ.สิงหนคร และ อ.เมืองสงขลา โดยทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบน้ำกร่อยเพียงแห่งเดียวของประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่มีการตั้งถิ่นฐานรอบทะเลสาบที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในโลก นอกจากนี้ยังถือเป็นต้นกำเนิดของวิถีการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำกร่อย ความเชื่อ ประเพณี การตั้งถิ่นฐานและเมืองต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ

ทะเลสาบสงขลา ถือเป็นทะเลสาบแบบลากูน โดยเป็นทะเลสาบน้ำกร่อยตามธรรมชาติที่อยู่บริเวณชายฝั่งและเปิดเชื่อมต่อสู่ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่มีความหลากหลายซับซ้อน และก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม นอกจากนั้นการตั้งถิ่นฐานหรือชุมชนหลายแห่งที่พบในบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับระบบนิเวศทะเลสาบและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่งผลให้การตั้งถิ่นฐานนั้นพัฒนาจนกลายเป็นชุมชนและเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ

นอกจากนี้ สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่จากชุมชนเมืองโบราณที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลาและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ได้รับการปกป้องคุ้มครองไว้อย่างดี ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก

พื้นที่องค์ประกอบ ประกอบด้วย 4 พื้นที่ คือ 1.เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง, 2.เมืองโบราณสทิงพระ, 3.เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า และ 4.เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง โดยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ สามารถเข้าหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการนำเสนอ ดังนี้

- เกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นพื้นที่แสดงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
- เกณฑ์ข้อที่ 4 เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีการพัฒนาด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม
- เกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมหรือการตั้งถิ่นฐานมนุษย์

ทั้งนี้ ไม่มีแหล่งมรดกในบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน และมีการตั้งถิ่นฐานที่แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญกับอารยธรรมอื่น และเป็นตัวอย่างของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ทส. เห็นว่า การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ เช่น กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา และส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

อ่านข่าวอื่นๆ

ครม.อนุมัติงบกองทุนบัตรทอง ปี 68 รวม 2.3 แสนล้าน

ครม.รับทราบรายงานผลศึกษา 3 ด้านเปิด Entertainment Complex

ขายดี! แหล่งผลิต "ดินสอพอง" ยอดซื้อเพิ่ม-ราคาพุ่ง 3 เท่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง