"ชลน่าน" สั่งปรับ 1 แสน รพ.ปฏิเสธรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ

สังคม
25 เม.ย. 67
15:19
1,129
Logo Thai PBS
"ชลน่าน" สั่งปรับ 1 แสน รพ.ปฏิเสธรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ชลน่าน" รมว.สาธารณสุข สั่งปรับ 100,000 บ.โรงพยาบาลปฏิเสธรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ

วานนี้ (24 เม.ย.2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ครั้งที่ 4/2567 โดยการประชุมในครั้งนี้มีการพิจารณาถึงบทลงโทษ จากเหตุการณ์ที่มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ปฏิเสธการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรถชนในบริเวณใกล้เคียงโดยให้ไปส่งโรงพยาบาลอื่นจนภายหลังตำรวจรายนี้ได้ เสียชีวิต

ที่ประชุมมีมติเห็นว่า จากการรับฟังพยานหลักฐานทั้งในส่วนของพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ และพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยระหว่างการปฏิบัติการฉุกเฉิน หน่วยปฏิบัติการอำนวยการและหน่วยปฏิบัติการแพทย์ได้ปฏิบัติการฉุกเฉินตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินแล้ว

อ่านข่าว ส่งกำลังใจ! ชลน่านเผยเตรียมย้าย ตร.ทล. ถูกรถชนรักษาต่อ รพ.ตำรวจ 

ดังนั้นเมื่อสถานพยาบาลได้รับการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการเพื่อนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ อันเป็นไปตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน สถานพยาบาลจึงมีหน้าที่ในการตรวจคัดแยกลำดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที และจะต้องปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างเต็มขีดความสามารถของสถานพยาบาลนั้น

แต่การปฏิเสธไม่รับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยการนำสิทธิการรักษาพยาบาลหรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใดๆ มาปฏิเสธ ไม่ให้ผู้ป่วยรายนี้ ให้ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 (1) แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง อำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของสถานพยาบาลในการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2557 และข้อ 5 วรรคหนึ่งของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ข้อกำหนดว่าด้วยสถานพยาบาล พ.ศ. 2554 ซึ่งต้องระวางโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

เมื่อพิจารณาจากการกระทำครั้งนี้พบว่า การปฏิบัติการฉุกเฉินโดยการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้มีการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อนำส่งถึง 2 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้ง 2 ครั้ง และไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายใกล้เสียชีวิตเนื่องจากปัญหาระบบทางเดินหายใจและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและอำนาจหน้าที่ของสถานพยาบาล ประกอบกับผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

อ่านข่าว จับตาเซอร์ไพรส์ ปรับ ครม. "เศรษฐา 1" หลังสงกรานต์

จากการกระทำข้างต้นย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน จึงมีมติให้ลงโทษปรับทางปกครองในอัตรา 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยการลงโทษปรับทางปกครอง กับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่รับเคสผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งที่ 2

ก่อนหน้านี้ กพฉ.เคยมีมติลงโทษปรับ 100,000 บาท ในอัตราที่สูงสูงสุด แก่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ไม่รับนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่ถูกรถชนอาการสาหัส และภายหลังได้เสียชีวิต ซึ่งขัดต่อกฎหมายและนโยบายของ นพ.ชลน่าน ที่ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการรักษาช่วยชีวิตตามมาตรฐานอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สิทธิการรักษา และความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

หากประชาชนหรือหน่วยปฏิบัติการพบเหตุการณ์การปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติในลักษณะนี้สามารถแจ้งมายัง ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สพฉ.โทรศัพท์ 028721669 ได้ตลอดเวลา 24 ชม.

อ่านข่าว : เช็ก 45 จังหวัด พ.ค.นี้ รองรับ "30 บาทรักษาทุกที่" 

ส่งกำลังใจ! ชลน่านเผยเตรียมย้าย ตร.ทล. ถูกรถชนรักษาต่อ รพ.ตำรวจ 

ปิดด่าน "เมียวดี" สินค้าเกษตรชะงัก "แม่สอด" ผลผลิตเสียหาย-รายได้ลด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง