ม.บูรพา สร้างTrafficEyes รายงานจราจรทั่วกรุง ผ่านเว็บไซต์-มือถือ-เฟซบุ๊ค

สังคม
19 ก.ย. 54
05:05
25
Logo Thai PBS
ม.บูรพา สร้างTrafficEyes รายงานจราจรทั่วกรุง ผ่านเว็บไซต์-มือถือ-เฟซบุ๊ค

หน่วยวิจัยโลจิสติกส์และวิศวกรรมสมองกลฝังตัว BAL-Labs หน่วยงานในสังกัด คณะโลจิสติกส์และภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยบูรพา คิดค้นวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี TrafficEyes หรือ ดวงตาเคลื่อนที่ ใช้ประเมินข้อมูลจราจรในโครงข่ายถนนในกรุงเทพและปริมณฑลแบบเรียลไทม์

ผศ.วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์  รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  กล่าวว่า  ผมและรศ. ดร. ณกร  อินทร์พยุง   ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและกิจการพิเศษ  คณะโลจิสติกส์  มหาวิทยาลัยบูรพา คิดว่าน่าจะนำระบบโลจิสติกส์และวิศวกรรมมารวมกัน จึงจัดตั้งหน่วยวิจัยโลจิสติกส์และวิศวกรรมสมองกลฝังตัว (BAL-Labs.com) ขึ้นมา โดยเน้นสนับสนุนงานด้านเบื้องหลังเป็นผู้สนับสนุนด้านการวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีโลจิสติกส์โซลูชั่นสำหรับมหานครกรุงเทพฯ  ซึ่งทางเราได้มีการร่วมมือกับบริษัท เดอะโลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมมือทางธุรกิจกันระหว่าง กลุ่มบริษัทไทยเอซ (แท็กซี่สีฟ้า-1681) และ บริษัทเซ้าท์อี๊สเอเซียเทคโนโลยี่ (ซีเทค) โดยได้รับทุนวิจัยจากหน่วยศูนย์เทคโนโลยีอิเลิกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติประเทศไทย (NECTEC) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พัฒนาระบบประเมินข้อมูลจราจรในโครงข่ายถนนในกรุงเทพและปริมณฑลแบบเรียลไทม์ผ่านทางเว็ปไซต์และมือถือ เป็นแหล่งข้อมูลที่ได้จากระบบโครงข่ายอาร์เอฟไอดีและข้อมูลจีพีเอสจากรถแท็กซี่สีฟ้าจำนวนมากกว่า 18,000 คัน รวมทั้ง จากแหล่งข้อมูลจราจรอื่นๆ เช่น จากรถบรรทุกขนส่งและกระจายสินค้าในกรุงเทพฯ ระบบเซ็นเซอร์พิเศษ และข้อมูลอาสาสมัคร TrafficEyes

สำหรับหลักการทำงานนั้นจะมี 2 ส่วนคือ เครื่องรับสัญญาณ (B-Base) และเครื่องส่งสัญญาณ (B-Mov) โดย B-Base จะเป็นอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับตู้โทรศัพท์ทีโอทีกว่า 150 จุด ทุกระยะประมาณ  1 -2 กิโลเมตร  ตามเส้นทางหลักทั่วกรุงเทพฯ  ซึ่งจะทำหน้าที่รับสัญญาณจาก B-Mov ที่ติดอยู่กับรถเมื่อรถวิ่งผ่าน จากนั้น B-Base ก็จะส่งสัญญาณผ่านไปยังศูนย์ เพื่อตรวจจับตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของรถ เพื่อใช้ในการจัดการเดินรถให้กับผู้ให้บริการ และระบบประมวลผลกลางก็จะนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อหาเวลาที่ใช้ในการเดินทาง และการช่วยแจ้งสถานะการเดินรถให้กับผู้ใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

โดยจะนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อรายงานการจราจรให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้แบบเรียลไทม์และสามารถดูย้อนหลังได้ เพื่อช่วยในการเลือกเส้นทางและคำนวณเวลาในการเดินทาง ทั้งนี้ หากมีรถยนต์ติด B-Mov มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การคำนวณแม่นยำมากยิ่งขึ้น และสำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์นั้นถ้าเป็นตัวรับสัญญาณ (B-Base) จะอยู่ที่ตัวละประมาณ 20,000 บาท โดยสามารถนำไปติดตั้ง ณ ที่ใดก็ได้ และ เครื่องส่งสัญญาณ (B-Mov) จะอยู่ที่ตัวละ 300-500 บาท

นอกจากนั้นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เป็นพิกัดและความเร็วของรถ (GPS) ที่ได้มาจากกลุ่มบริษัทไทยเอซ ซึ่งมีแท็กซี่ที่เป็นสมาชิกประมาณ 18,000 คัน ซึ่งถูกส่งผ่านระบบวิทยุสื่อสารระหว่างศูนย์ควบคุมกลางและรถแท็กซี่ผ่าน GPRS/Dedicated Radio เข้าสู่ระบบประมวลผลกลาง ที่ทาง BAL-labs เป็นผู้พัฒนาหน่วยประมวลผลกลาง (Fusion Data Engine) จนในที่สุดระบบก็สามารถได้ข้อมูลจราจรในทุกๆ 5 นาที (5-min interval) ในโครงข่ายถนนในกรุงเทพฯมากกว่า 3,000 เส้นทาง และเปิดให้ใช้งานในเชิงสาธารณะได้ 3 ช่องทาง ได้แก่  http://www.trafficeyes.net  (Fully support Chrome and Safari browsers), TrafficEyes สำหรับ Android mobile  และ http://www.facebook.com/TrafficEyes.Net

ส่วนประโยชน์ของ TrafficEyes หรือ ดวงตาเคลื่อนที่ นั้นจะช่วยให้เลือกเส้นทางในการเดินทางได้โดยสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่การจราจรหนาแน่น, สามารถคำนวณเวลาในการรอรถหรือเวลาในการเดินทางได้และสามารถช่วยสร้างประยุกต์ในการนำไปใช้ในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ในอนาคต

ผศ.วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์  กล่าวว่า ในอนาคตทางเรากำลังจะมีการพัฒนาระบบฯ ให้มีขนาดเล็กกระทัดรัดและใช้พลังงานน้อยสามารถพกพาได้ เพื่อนำมาใช้กับคนโดยเฉพาะคนแก่ โดยจะทำเป็นรูปแบบนาฬิกาข้อมือหรือสร้อยคล้องคอ ซึ่งจะช่วยบอกตำแหน่งเวลามีคนหลงทางหรือสูญหายได้ 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง