รื้อระบบรัฐไทย ทบทวนกลไกดูแลผู้ลี้ภัยให้เป็นระบบ

20 ก.ย. 54
12:29
20
Logo Thai PBS
รื้อระบบรัฐไทย ทบทวนกลไกดูแลผู้ลี้ภัยให้เป็นระบบ

เสียงระเบิดและลูกกระสุนดังขึ้นในหมู่บ้านของซอว์ เนอ มู ลูกแล้วลูกเล่า ขณะที่เขาทำงานอยู่ในทุ่งนา เขารีบวิ่งกระหือกระหอบกลับบ้านหาลูกเมีย เพื่อจะได้พาหนีไปด้วยกัน...

 แต่แล้วในบ้านหลังนั้นกลับมีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีลูก ไม่มีเมีย ซอว์ เนอ มู ตัดสินใจหนีจากหมู่บ้านมาเพียงลำพังด้วยใจที่เจ็บปวด ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากนั้นซอว์ เนอมูได้เดินเท้าจากรัฐกะเหรี่ยงในเขตตะวันออกของประเทศพม่าเข้ามาหลบภัยในประเทศไทย
  
เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในแถบตะเข็บชายแดนไทย แต่ยืดเยื้อยาวนานมากกกว่า 25 ปีแล้ว แม้ประเทศไทยไม่ได้ให้การรองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากประเทศพม่าว่าเป็นผู้ลี้ภัย(Refugee) ตามกติการะหว่างประเทศ แต่ก็อนุญาตให้ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก และแม่ฮ่องสอน นับแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จนปัจจุบันมีผู้หนีภัยเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากกว่า 140,000 คนแล้ว  ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมผู้หนีภัยนอกค่าย ซึ่งมีหลายประทศ อาทิ ศรีลังกา ปากีสถาน โซมาเลีย จีน ซึ่งสวนใหญ่หนีภัยสู้รบเข้ามาในไทยและรอการส่งกลับไปประทศที่สาม บางรายไม่มีสาถานะผู้ลี้ภัย จนทำให้มีผู้ลี้ภัยอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลเป็นตัวเลขไว้
  
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชนติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ กล่าวว่า สถานการณ์ของที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่งใน 4 จังหวัด ยังคงมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เข้าไปแลบรรเทาความเดือดร้อนผู้หนีภัย อาทิ เขาไปแจกอาหารแห้ง วัสดุสำหรับที่อยู่อาศัย การศึกษาระดับพื้นฐาน- กลาง บริการสาธารณสุข จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ในช่วงที่ผ่านมาองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยลดน้อยลง เนื่องมาจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระทบในเรื่องของการหาอาหารที่มีน้อยอยู่แล้ว ให้น้อยลงไปอีก ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขาหลบหนีออกมาหางานทำ จนเกิดปัญหาการแย่งงานกันทำ
  
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในส่วนของการดูแลของรัฐบาลไทย ในพื้นที่ จ.ตาก ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นคือ นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาว่า ทางการพม่าไฟเขียวให้ส่งผู้หนีภัยเข้าประเทศพม่าได้แล้ว จากนั้น จ.ตาก ก็ได้มีการสำรวจและลงทะเบียนผู้หนีภัยไว้ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก โดยเฉาะตัวผู้หนีภัยที่ไม่กล้าเปิดเผยตัว เพราะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย  และที่ผ่านพม่ายังเกิดการสู้รบกันอยู่ตลอดเวลา และยังไม่เห็นว่าพม่าได้เตรียมการรองรับผู้หนีภัยหรือการจัดการเอาไว้
  
“ทางอนุกรรมการสิทธิฯ ได้ทำความเห็นส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ทหาร สมช. เพื่อเสนอว่า หลักการส่งผู้หนีภัยกลับเข้าประเทศ จะต้องไม่ผลักตันให้พวกเขาไปสู่สงคราม ที่อาจจะก่อให้พวกเขาเกิดความตาย และหากจะส่งกลับต้องเป็นไปโดยสมัครใจ แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่มีสิทธิ์ตัดสินใจส่งผู้หนีภัยหลับประเทศก็ไม่มีท่าที หรือส่งสัญญาณว่าจะให้ส่งผู้หนีภัยกลับประเทศ ตามที่ผู้ว่าฯ จ. ตากให้สัมภาษณ์ไว้”  นายสุรพงษ์ กล่าว
  
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนยังไม่สงบจริงตามการคาดการณ์ของสภาทนายความ เนื่องจากสองสามเดือนหลังจากที่ ซอว์ เนอ มู หลบภัยเข้ามาในประเทศไทยเขาได้พยายามกลับไปดูลาดลาวที่บ้านเกิดของตัวเอง แต่แล้วซอว์ เนอ มู ต้องพบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตคือ ทหารพม่าบังคับให้คนในหมู่บ้านขับรถแทรกเตอร์อีแต๋นไปส่งกำลังพลและยุทธภัณฑ์ต่างๆ โดยจ่ายเงินจำนวนน้อยนิดแทบไม่พอค่าน้ำมัน
  
“พวกเราขับรถอยู่สองวันสองคืนในป่าท่ามกลางสายฝน โดยไม่ได้หยุดพักแม้แต่จะกินข้าว” ซอว์ เนอ มู เล่าความในใจ  และหลังเสร็จสิ้นภารกิจสุดโหด เขารีบรุดเดินข้ามชายแดนเข้ามาประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมกับกล่าวว่า “ชาวบ้านฝั่งโน้นอยู่กันไมได้หรอก เพราะโดนบังคับให้ใช้แรงงานกัน ผมก็อยากกลับบ้านนะ แต่ให้สถานการณ์มันดีขึ้นกว่านี้ก่อน ตอนนี้ยังน่ากลัวอยู่ จึงไม่กล้ากลับไป”
  
จากปัญหาและการหลบร้อนมาพึ่งเย็นที่เกิดขึ้นนั้น นายสุรพงษ์ สะท้อนว่า การแก้ไขปัญหาโดยการส่งกลับประเทศต้นทางเป็นเรื่องที่จัดการยากลำบาก เดิมทีทุกคนที่เป็นผู้ลี้ภัยต้องการกลับประเทศกันหมด แต่เนื่องจากเหตุการณ์สู้รบบานปลายออกไป 2 ปี บ้าง 3 ปีบ้าง จนล่าสุดยืดออกไปเป็น 20 -30 ปี หากพวกเขาจะกลับไปก็ไม่ทราบว่าบ้านที่เขาเคยอยู่อาจจะมีคนอื่นเข้าไปจับจองแล้ว ส่งผลให้ไม่มีที่ทำกินตามไปด้วย เท่ากับไม่มีอะไรเหลือไว้สำหรับพวกเขา ดังนั้นการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดใหม่ ทำได้โดยผลักดันให้ไปอยู่ประเทศที่สาม รวมถึงเข้าไปสนับสนุนให้ประเทศพม่าและชนกลุ่มน้อยยุติการสู้รบ จนก่อให้เกิดความสันติถือเป็นส่งที่รัฐบาลไทยควรทำที่สุด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงภายในประเทศพม่าเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงประเทศไทยด้วย ที่ต้องให้การช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยสงครามเพราะคือหลักมนุษยธรรมเบื้องต้น
  
นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทั่วโลกพบว่า มีคนมากว่า 43 ล้านคนในโลกที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นที่อยู่ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้หญิงและเด็ก มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์อายุน้อยกว่า 18 ปี และในจำนวนประชากรโลก 158 คนจะมีผู้ลี้ภัย 1 คน  ขณะประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัย 5 อันดับแรกของโลกคืออัฟกานิสถาน 3 ล้านคน อิรัก 1.7 ล้านคน โซมาเลีย 7 แสนคน คองโก 4.7 แสนคน และพม่า 4 แสนคน
  
ขณะที่การขับเคลื่อนล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ทางฮิวแมนไรท์วอซประจำประเทศไทย ได้เข้ายื่นวาระด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐบาล  ต่อนายกรัฐมนตรี ในประเด็น การคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยและการป้องกันไม่ให้มีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย โดยนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอซประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า  ปัจจุบันตัวเลขผู้หนีภัยที่เข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 150,000 คน แบ่งออกเป็นผู้ลี้ภัยสงครามการสู้รบจากประเทศพม่า ผู้พลัดถิ่นจากประเทศอื่นๆ โดยช่วงก่อนหน้านี้ผู้หนีภัยส่วนใหญ่จะเข้ามาอยู่ในประเทศในรูปแบบที่อยู่ยาวนาน แต่ช่วงหลังนี้ผู้หนีภัยที่เป็นชนกลุ่มน้อย ที่มีการสู้รบกับทหารพม่า จะเข้ามาประพักพิงแบบชั่วคราว หลังเหตุการณ์สงบเขาจะเดินทางไปกลับ ซึ่งจะเป็นแบบไปๆ กลับๆ อาจจะเนื่องจากคนกลุ่มนี้เขามีบ้านและทรัพย์สินที่ต้องดูแล
  
อย่างไรก็ตามในเรื่องของระบบจัดการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้หนีภัยของรัฐไทยที่ผ่านมานั้น นายสุนัย พบจุดอ่อนของรัฐไทยว่า เมื่อได้รับสัญญาณจากฝั่งทางพม่าว่า การสู้รบเข้าสู่สภาวะปกติแล้วทางรัฐไทยก็จะส่งผู้หนีภัยกลับไปประเทศต้นทางทันที โดยไม่มีการกลั่นกรองตรวจสอบลักษณะของผู้หนีภัย จากเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคประจำประเทศไทย (UNHCR) ทำให้เกิดข้อครหาว่ารัฐไทยไม่ได้ปฏิบัติตามอาจไม่กฎกติกาสากลในการส่งกลับผู้ลี้ภัยดังกล่าว

ตามหลักการสากลแล้ว UNHCR จะต้องประเมินก่อนว่ารัฐไทยมีเหตุผลเพียงพอที่จะส่งพวกเขากลับประเทศต้นทางหรือไม่ สถานการณ์การสู่รบเกิดความสงบจริงหรือไม่ และหากส่งกลับไปแล้วพวกเขาจะถูกกดขี่ หรือถูกริดรอนสิทธิจากทหารพม่าหรือไม่ ทั้งนี้UNHCR กับหน่วยงานของไทยได้เคยพยายามวางกรอบการทำงานร่วมกัน แต่กลับชะงักงันไปในช่วงรัฐบาลทักษิณ

นอกจาก ความไม่ชัดเจนของนโยบายการจัดการกับผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบยังส่งผลให้การทำงานของคณะกรรมการระดับจังหวัดในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยการสู้รบจากพม่าเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากการสู้รบพม่า ซึ่งเป็นกลไกที่ใช้ในการจัดการให้ความช่วยเหลือ หรือรับรองสถานการณ์เป็นผู้หนีภัยความตายของรัฐบาลไทย โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัด (Provincial Admission Board-PAB) ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และ UNHCR มีการทำงานที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีความเข้มแข็งในการคัดกรอง ผู้หนีภัยได้หนีจากการสู้รบในประเทศพม่าจริง หรือมีเหตุผลทางการเมือง ทำให้กลับประเทศสหภาพพม่าไม่ได้

เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่ใส่ใจในการจัดการผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทย คือ การเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธกับกองทัพรัฐบาลที่ อ. เมียวดี ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ส่งผลให้ผู้หนีภัยสู้รบกว่าสองหมื่นคนหนีตายมายังฝั่งไทย อ.แม่สอด อ.พบพระ และด่านเจดีย์สามองค์ หากแต่เป็นกลุ่มที่ฝ่ายความมั่นคงภายใต้การดูแลของรัฐบาลไทยชุดนายอภิสิทธิ์ไม่นับว่าเป็นผู้ลี้ภัยและไม่มีการดำเนินการให้สถานะใดๆ แต่ให้ผู้หนีภัยสู้รบพักอาศัยอยู่ชั่วคราวก่อนที่จะมีการผลักดันกลับอย่างไม่มีความปลอดภัยที่แน่ชัด และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม รัฐบาลไทยได้ละเมิดหลักการคุ้มครองผู้ลี้ภัย อย่างรุนแรง ด้วยการส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ได้รับผลจากการสู้รบ 166 คน แม้จะได้รับการทักท้วงถึงความไม่ปลอดภัยก็ตาม 

หลังเปลี่ยนผ่านรัฐบาลการทำงานด้านความมั่นคงอาจเปลี่ยนไป โดยที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอซ ได้ให้ความเห็นถึงบทบาทการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ ที่มอบหมายให้พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง รวมถึงตัวรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่เข้ามาทำงานเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยโดยตรงว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นภาพการทำงานของทั้งสองท่านด้านนี้มาก่อน จึงต้องให้เวลาพิสูจน์การทำงานว่าจะเป็นรูปแบบใด

แต่ในส่วนของนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่สอดคล้องกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเพียงไม่กี่บรรทัดว่า จะดูแลเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎกติกาสากลที่ทั่วโลกปฏิบัติ  ซึ่งถือว่าเป็นกรอบที่ดี เนื่องจากสอดคล้องกับกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่ควรทำคือ รื้อระบบงานให้กลไก PAB ที่มีการกลั่นกรองผู้หนีภัย ให้กลับมาทำงานอย่างสม่ำเสมอมีความเข็มแข็ง และให้ UNHCR เข้ามาทำงานประเมินสถานการณ์ก่อนส่งผู้หนีภัยกลับประเทศต้นทาง โดยรัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้เสียประโยชน์ เนื่องจากงบประมาณที่ได้เป็นการเรี่ยรายจากประเทศไม่แสวงหาผลกำไร นอกจากนี้รัฐบาลต้องให้ UNHCR  เข้ามาจัดระบบผู้หนีภัยที่เข้ามาอยู่ในที่พักพิงให้มีการจดทะเบียนให้เกิดเป็นระบบ
  
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับมารื้อระบบการช่วยเหลือผู้หนีภัย ให้เป็นระบบและกลั่นกรองจากหน่วยงายที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง