ผู้ว่าฯเชียงใหม่สั่งทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยน้ำป่า-ดินโคลน

ภูมิภาค
25 ก.ย. 54
02:02
8
Logo Thai PBS
ผู้ว่าฯเชียงใหม่สั่งทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยน้ำป่า-ดินโคลน

ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และ ดินโคลนถล่ม หรือ ศอส.รายงานวานนี้ ( 24 ก.ย.) ว่ายังมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 23 จังหวัดมีผู้เสียชีวิต 152 คน สูญหาย 3 คน ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งให้ความช่วยชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่บ้านเปียงกอก ในตำบลโป่งน้ำร้อน แต่จากสภาพพื้นที่สะพานขาดหลายจุดและมีฝนตกหนัก ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความยากลำบาก

ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ลงพื้นที่บ้านเปียงกอก ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง หลังเกิดน้ำป่าและดินโคลนจากเทือกเขาดอยผ้าห่มปกไหลเข้าท่วมเมื่อคืนวานนี้ (23 ก.ย.) จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน คือ ด.ช.สิริภพ ขำอรุณ และ ด.ช.วีรภพ ขำอรุณ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือและฟื้นฟูหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งจะเร่งอนุมัติงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพิษณุโลกยังคงขยายวงกว้าง ล่าสุดวัดระดับน้ำที่ว่าการอำเภอบางระกำ ได้ 11.17 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงที่สุดในรอบปีนี้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะต้องคอยหนุนของขึ้นที่สูง และการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านต้องใช้เรือเพียงอย่างเดียว คาดว่า น้ำจะยังคงท่วมไปอีกหลายเดือนเนื่องจากปริมาณน้ำเหนือยังมีมาก

ส่วนที่จังหวัดลำปางวานนี้ (24 ก.ย.) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเมื่อเดือนสิงหาคมกว่า 1,500 ครอบครัว ตามความช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาทของรัฐบาล รวมเป็นเงินกว่า 4,800,000 บาท

บ้านเรือนในตำบลห้วยโมงและตำบลนาข่า อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายกว่า 600 หลังคาเรือน ยังถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร หลังน้ำจากลำห้วยโมง เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังขยายวงกว้างเข้าท่วมนาข้าวได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ส่วนฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในจังหวัดมหาสารคามทำให้น้ำจากแม่น้ำชี เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอเมือง และอำเภอโกสุมพิสัยแล้วกว่า 7,000 ไร่ ล่าสุดทางจังหวัด ประกาศให้อีก 3 อำเภอ รวมทั้งหมด 9 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากเหตุอุทกภัย

เช่นเดียวกับน้ำจากลำน้ำโดมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี ไหลเข้าท่วมสวนยางพาราชาวบ้านในตำบลตบหู อำเภอเดชอุดม ได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกัน น้ำยังท่วมปิดเส้นทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านโพธิ์ไทร กับบ้านสำราญ ตำบลกลาง สูงกว่า 1.30 เมตรชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 300 ครัวเรือน

นาข้าวในอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงถูกน้ำจากลำน้ำมูล เอ่อท่วมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ให้โครงการชลประทานจังหวัด ต้องนำเครื่องสูบน้ำ มาติดตั้ง เพื่อสูบน้ำจากนาข้าว ลงสู่ลำน้ำสาขาของลำน้ำมูล เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ระยะนี้ยังจะมีฝนตกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักในบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่ม และใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะนี้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง