นักวิชาการแนะรัฐบาลยึดผลประโยชน์ประเทศเจรจาเขมร

การเมือง
25 ก.ย. 54
07:40
13
Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะรัฐบาลยึดผลประโยชน์ประเทศเจรจาเขมร

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองตรงกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา มีการเมืองภายในประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมย้ำให้รัฐบาลใหม่ยึดผลประโยชน์ประเทศแทนการแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง

การฟื้นความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชาของรัฐบาลชุดนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการร่วมกิจกรรมแข่งขันฟุตบอลระหว่างสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กับ ส.ส.ไทย ร่วมถึงสมเด็จฮุนเซน ได้ให้คำมั่นต่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่างการเยือนกัมพูชาต่อการเตรียมเสนอลดโทษนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกัมพูชา เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานอภัยโทษ

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ระบุว่า รัฐบาลปัจจุบันได้อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น แต่รัฐบาลควรยึดประโยชน์ประเทศแทนการแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง

รศ.จุลชีพ ชินวรรโณ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ปัญหาไทยกัมพูชาที่ผ่านมาเกิดจากความไม่พอใจในตัวบุคคลซึ่งมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเคยขึ้นเวทีพันธมิตร และ โจมตี สมเด็จฮุนเซน แต่เห็นว่า กระทวงการต่างประเทศ ต้องมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

 ส่วนกรณีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชในกระทรวงการต่างประเทศนายจุลชีพ มองว่า หากทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ หรือต่อสู้คดีศาลโลก สามารถทำได้ โดยควรดึงบุคคล ที่ความรู้ ความสามารถ ร่วมทำงาน แต่ไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนตัวนายวีระชัย พลาศัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ

ก่อนหน้านี้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี จากนายอัษฎา ชัยนาม เป็นนายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ รวมถึงเปลี่ยนตัวนายวีรชัย จากทีมที่ปรึกษาแต่การต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลกจะยังใช้คณะทำงานชุดเดิมทั้งหมด ตั้งแต่ตัวแทนรัฐบาลไทยและทีมที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติเพื่อการดำเนินการที่ต่อเนื่อง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง