"ความเครียดผิดปกติ" จากการประสบเหตุการณ์รุนแรงหรืออุทกภัย

18 ต.ค. 54
14:18
13
Logo Thai PBS
"ความเครียดผิดปกติ"  จากการประสบเหตุการณ์รุนแรงหรืออุทกภัย

เตือนน้ำท่วม เป็นเหตุให้คนเครียดเพิ่มขึ้น เหตุกังวลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตอย่างมาก

นชีวิตคนเรามีโอกาสต้องเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เครียดไม่สบายใจ มากบ้าง น้อยบ้าง เช่น สอบตก  อกหัก มีหนี้สิน  เป็นต้น  นอกจากนี้ในสถานการณ์เดียวกัน แต่ละคนก็มีปฏิกิริยาหรือระดับการตอบสนองทางจิตใจไม่เท่ากัน  ช่วงนี้คนส่วนใหญ่ในหลายจังหวัดของประเทศ  กำลังเผชิญภัยรุนแรงจากน้ำท่วม บางคนอยู่กับน้ำท่วมมาแล้วเป็นเดือน  บางคนน้ำยังไม่ท่วมบ้านแต่ก็กังวลว่าจะท่วมหรือไม่  ท่วมแล้วจะไปอยู่ที่ไหน  เสียหายขนาดไหน  อนาคตจะทำอย่างไร 
 
ฝ่ายจิตเวชศาสตร์  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำว่า ที่จริงแล้วความกังวลเมื่อต้องเผชิญสิ่งที่ไม่คาดคิดหรือไม่ปกติ กลัวจะควบคุมไม่ได้  ถือว่าเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์  ที่มีเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับและปรับตัวต่อสถานการณ์  ซึ่งหากอยู่ในระดับเหมาะสม  บุคคลนั้นจะมีสติ ติดตามข่าวสาร  เตรียมสิ่งของยังชีพหรือแนวทางรับมือเพื่อความปลอดภัย หรือป้องกันอย่างพอเหมาะ  ไม่ตื่นตระหนก หรือกังวลเกินไป  ปรับตัวและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และในที่สุดได้เรียนรู้จากประสบการณ์นั้น
 
ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ที่เป็นภยันตรายหรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง  อาจเกิดอาการผิดปกติทางจิตเวชได้  โดยมีลักษณะหวนระลึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ  ฝันถึงเหตุการณ์  ความสนใจสิ่งต่าง ๆ ลดลงหรือหมดไป  พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรม  สถานการณ์ที่กระตุ้นให้คิดถึงสิ่งสะเทือนใจ  รู้สึกเหินห่างจากญาติหรือคนใกล้ชิด  ตื่นเต้นตกใจง่าย  ขาดสติ  นอนหลับยาก  หงุดหงิด  เครียดและระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดหลังจากประสบเหตุการณ์ประมาณ 2-3 สัปดาห์  ถึง 2-3 เดือน  แต่ไม่ค่อยเกิน  6  เดือน ส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติ  มีส่วนน้อยที่มีอาการเรื้อรังนานเป็นปี ๆ   ซึ่งการเกิดความผิดปกติทางจิตใจชนิดนี้  ขึ้นกับปัจจัยทั้งด้านความรุนแรงของภยันตรายที่ประสบ

ด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ ประสบการณ์ในอดีตและการปรับตัวของแต่ละคน  ปัจจัยด้านชีววิทยา และด้านสังคม  สิ่งแวดล้อม  ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติที่มีต่อเหตุการณ์และความช่วยเหลือจากบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ
 
ในแง่ของการรักษาความผิดปกติดังกล่าว  เป็นการผสมผสานทั้งด้านจิตบำบัดและการใช้ยาทางจิตเวช  สำหรับผู้มีอาการแบบเฉียบพลัน  และเป็นไม่มาก  การทำจิตบำบัดประคับประคองหรือฟื้นฟูสภาพจิตใจพบว่าได้ผลดี  โดยช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจบุคลิกภาพของตน  ร่วมกับวิธีการปรับตัวเพื่อสามารถเข้าใจและทนต่อความเครียดได้มากขึ้น  ระบายความรู้สึกต่าง ๆ มากขึ้น 

สำหรับการใช้ยาจะช่วยลดปัญหาการนอนฝันร้าย อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติที่ตื่นตัว  และอารมณ์ซึมเศร้า  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความผิดปกติรุนแรงหรือเรื้อรัง  เช่น  ก้าวร้าวควบคุมอารมณ์ไม่ได้  คิดมาก จนไม่อยากมีชีวิตอยู่  หรือติดสุราและใช้ยาเสพติด อาจต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลหรือใช้วิธีบำบัดรักษาอื่นร่วมด้วย 
 
จากสถานการณ์น้ำท่วมที่หลายคนร่วมกันประสบอยู่ในขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายฝ่ายกำลังพยายามให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้เราแต่ละบุคคลคงต้องปรับตัวและมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง  อดทนในการผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ ให้กำลังใจตนเองและคนรอบข้าง  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

มีวิธีคิดแง่บวกเพื่อสร้างพลังใจและความหวัง ติดตามข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยใช้วิจารณญาณและเหตุผล เรียนรู้และเข้าใจที่จะปรับตัวอยู่กับธรรมชาติ 

แต่ถ้ารู้สึกว่าตนเองหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น  ควรปรึกษาแพทย์ จิตแพทย์ หรือบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตเพื่อรับการช่วยเหลือและรักษาที่เหมาะสม

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง