ผลกระทบไมซ์จากน้ำท่วมราว 3 พันล้าน เร่งมาตรการช่วยเหลือ นัดหารือเอกชน วางแผนฟื้นฟู

เศรษฐกิจ
26 ต.ค. 54
15:49
14
Logo Thai PBS
ผลกระทบไมซ์จากน้ำท่วมราว 3 พันล้าน เร่งมาตรการช่วยเหลือ นัดหารือเอกชน วางแผนฟื้นฟู

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เผยสถานการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบอุตสาหกรรมไมซ์ภาพรวมเกือบ 3,000 ล้าน และจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์กว่า 100,000 คน จาก 14 งาน โดยปรับเป้ารักษาจำนวนและรายได้จากนักเดินทางกลุ่มไมซ์เท่าปีที่ผ่านมา ไม่ให้ต่ำกว่า 720,000 คน และสร้างรายได้ไมซ์ 57,600 ล้านบาท เร่งหารือเอกชนวางแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ 17 พฤศจิกายนนี้

นายอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการสสปน. กล่าวว่า “จากการประเมินสถานการณ์ผลกระทบอุตสาหกรรมไมซ์จากอุทกภัยในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2555 ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2554 ส่งผลให้ผู้ประกอบการไมซ์มีการเลื่อนจัดงาน โดยมีจำนวนงานที่มีผลกระทบทั้งสิ้น 14 งาน จากรายได้รวมที่สูญเสียจำนวน 2,976.1 ล้านบาท และจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งสิ้น 96,478 คน ซึ่งเมื่อประเมินความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้พบว่า อุตสาหกรรมการแสดงสินค้าได้รับผลกระทบในสัดส่วนสูงสุดเนื่องจากการคมนาคมในประเทศ ส่งผลต่อการตัดสินใจจัดงาน โดยเฉพาะผู้จัดงานมีความกังวลถึงจำนวนผู้เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ สรุปภาพรวมได้ว่าผลกระทบจากอุทกภัยส่งผลต่ออุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศมากกว่า 50%”

จากการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ประกอบกันทั้งสถานการณ์วิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศยุโรป สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในอเมริกา ผนวกกับปัญหาเงินเฟ้อในประเทศจีน และการคาดการแนวโน้มการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของ GDP ในปีนี้ อีกทั้งการปรับลดงบประมาณสสปน. ของรัฐบาลในปี 2555 จากหลายปัจจัยที่ลดลงไปถึงกว่า 23% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ สสปน. ตัดสินใจปรับลดเป้าหมายจากเดิมคาดการปี 2555 อุตสาหกรรมไมซ์ จะสามารถนำจำนวนนักเดินทางไมซ์เข้าประเทศได้ 828,000 คน สร้างรายได้ 70,200 ล้านบาท โดยปรับเป็นการรักษาเป้าหมายจำนวนและรายได้จากนักเดินทางกลุ่มไมซ์ให้เท่ากับปีที่ผ่านมา ไม่ให้ต่ำกว่า 720,000 คน และสร้างรายได้จำนวน 57,600 ล้านบาท
 
นายอรรคพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “สสปน. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือจัดการบริหารภายใต้วิกฤตในเบื้องต้นสำหรับอุทกภัยครั้งนี้แล้ว โดยเน้นการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 2 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. มาตรการเร่งด่วน คือ  จัดตั้งศูนย์ประสานงานและการให้ข้อมูลเรื่องสถานที่การจัดประชุมสัมมนาและข้อมูลอัพเดทสถานการณ์ในพื้นที่ จัดกิจกรรมส่งเสริมทางด้านการตลาดและอำนวยความสะดวกการจัดงานให้กับหน่วยงานหรือองค์กร โดยเฉพาะงานขนาดใหญ่ที่มีการเลื่อนจัดงาน เช่น งานพืชสวนโลก (พ.ย. 54 – ม.ค. 55) งานล้านนา 750 ปี เชียงราย (ม.ค. 55) งานบีโอไอ แฟร์ (ม.ค. 55) พร้อมอำนวยความสะดวกและประสานงาน ร่วมเจรจากับผู้ประกอบการในกรณีที่มีการเลื่อนการประชุมสัมมนา 2. มาตรการฟิ้นฟูและเยียวยา คือ อำนวยความสะดวกให้งานที่จะเกิดขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้ อาทิ การอำนวยความสะดวกทางด้านการคมนาคมขนส่งถึงสถานที่จัดงาน การส่งเสริมกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นการเดินทางประชุมสัมมนาภายในประเทศและโปรโมชั่นพิเศษ และจัดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมและผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น ความร่วมมือกับสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เตรียมจัดกิจกรรมจิตอาสาในการฟื้นฟูหรือจัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ส่วนบุคคลในพื้นที่ประสบภัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ เตรียมการนำเสนอให้มีการชดเชยค่าเสียหายในการฟื้นฟูสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการประชุมสัมมนาภายในประเทศ และมาตรการลดหย่อนภาษี 300% สำหรับการเดินทางประชุมสัมมนาในประเทศต่อรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เพื่อการจัดทำแผนฟื้นฟูที่ครบถ้วนสมบูรณ์ต่ออุตสาหกรรมไมซ์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยและปัจจัยต่าง ๆ ในไตรมาสนี้ สสปน. ได้เตรียมการหารือภาคเอกชน พร้อมเร่งระดมความเห็นเพื่อจัดทำแผนงานร่วมกันที่จะตอบโจทย์สูงสุดให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งนอกจากนี้

สสปน. จะยังคงดำเนินการร่วมกับไทยทีมอย่างใกล้ชิด อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ร่วมกัน โดยแผนการและกิจกรรมฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งหมดจะดำเนินงานภายใต้แคมเปญมิราเคิล ไทยแลนด์ (Miracle Thailand) ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล เพื่อบูรณาการอุตสาหกรรมไมซ์ร่วมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชนในทิศทางเดียวกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง