กสม.ระบุ"ระบบเตือนภัย-การสื่อสารของรัฐ" มีปัญหา เร่งกอบกู้สิทธิผู้ประสบภัยน้ำท่วม

สังคม
18 พ.ย. 54
12:02
7
Logo Thai PBS
กสม.ระบุ"ระบบเตือนภัย-การสื่อสารของรัฐ" มีปัญหา เร่งกอบกู้สิทธิผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เสนอจัดเวทีสาธารณะ เชิญผู้ได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อรัฐบาล

นายแพทย์ชูชัย  ศุภวงศ์  เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินว่า  กสม.ได้เก็บรวบรวมข้อมูล ข้อร้องเรียนของผู้ประสบภัยตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบัน  พบข้อมูลเบื้องต้นว่า  ระบบเตือนภัย  ระบบการสื่อสารของรัฐบาล  กทม.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะแรกไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมและครบถ้วนเพียงพอที่จะทำให้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เตรียมการป้องกันตนเองได้ทันท่วงที  แต่กลับย้ำเตือนให้ผู้คนเชื่อว่ารัฐบาลสามารถ “เอาอยู่”  จัดการได้  หากมองในมิติของสิทธิแล้วเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนในสังคมจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนตามที่เป็นจริง  การปกปิดข้อมูลหรือให้ความจริงเป็นบางส่วน  นำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงดังที่พบกันอยู่  เพราะไม่ได้ทำการป้องกันอย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ เมื่อประสบภัยแล้วเกิดความเสียหายโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องรับภาระน้ำท่วมขังนานกว่าที่อื่นเพราะรัฐบาลและ กทม. ต้องปกป้องคุ้มครองพื้นที่เศรษฐกิจหรือกรุงเทพฯ ชั้นใน  ก็ไม่มีความชัดเจนทั้งเรื่องผลกระทบ เช่น ระดับน้ำ เวลาที่น้ำจะเริ่มลดลงได้ ตลอดจนการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐจะช่วยทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว เช่น การช่วยดูแลซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว หรือการชดเชยค่าเสียหายอย่างเป็นธรรมด้วยจำนวนเงินที่เพียงพอและมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ เพราะในพื้นที่ดังกล่าวต้องแบกรับภาระเพื่อให้พื้นที่อื่นๆ ปลอดภัย   การเจรจาหรือขอร้องให้เสียสละเป็นครั้งคราว ในแต่ละพื้นที่ หรือการชดเชยค่าเสียหายที่ไม่เป็นธรรม  จะไม่สามารถยุติความขัดแย้งในพื้นที่ต่าง ๆ ได้                

นายแพทย์ชูชัย  ศุภวงศ์  กล่าวว่า  กสม. เห็นว่ารัฐควรคำนึงถึงหลักการและแนวทางปฏิบัติของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons – IDPs)  ที่ถูกบังคับหรือจำเป็นต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่อไปแสวงหาที่พักพิงที่อื่น  ด้วยสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากการสู้รบ ขัดแย้ง  (เช่น กรณีการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา)  หรือจากภัยพิบัติธรรมชาติ หรือจากโครงการของรัฐที่กระทบต่อวิถีชีวิตหรือชุมชน  ในอดีตที่ผ่านมาและแม้กระทั่งปัจจุบัน  การดูแลผู้พลัดถิ่นภายในประเทศยังไม่มีระบบ  กลไก  กระบวนการรองรับที่ดีพอ  กลไกของรัฐยังไม่สามารถให้ความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร ยั่งยืน ทั่วถึงและเป็นธรรม ปัจจุบัน เท่าที่รับฟัง การแก้ไขปัญหาให้ความสำคัญเป็นพิเศษเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรม หรือภาคการลงทุนจากต่างประเทศ โดยยังไม่มีความชัดเจนในการดูแลคนเล็กคนน้อย หรือกลุ่มคนพิเศษต่างๆ ที่มีวิถีชีวิตในถิ่นฐานของตนและต้องละถิ่นฐานออกมา  เช่น  ชาวนา  เกษตรกร  หรือชาวบ้านทั่วไป ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถส่งเสียงได้ดังพอ  ทำให้ถูกละเมิดสิทธิมาโดยตลอด  เพียงการให้เงินชดเชย 5,000 บาทคงไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า รัฐได้ดูแลชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แล้ว การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ นอกเหนือจากความเสียหายทางกายภาพแล้ว ต้องคำนึงเรื่องผลกระทบอื่นๆ โดยเฉพาะต่อกลุ่มที่อ่อนแอ ความรุนแรงต่อกลุ่มคนที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็ก สตรี ผู้พิการ ผลกระทบด้านจิตใจ (trauma) การขาดปัจจัยสี่ ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิในชีวิต ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บ ความยากลำบากยากจนที่จะเกิดขึ้นหลังจากน้ำลด ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะต้องใช้สิทธิเป็นตัวตั้งและไม่มีการเลือกปฏิบัติ               

นายแพทย์ชูชัย  ศุภวงศ์  กล่าวว่า กสม. จะจัดเวทีสาธารณะ โดยเชิญผู้ได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อรัฐบาล  กทม.  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในราวต้นเดือนธันวาคม  ซึ่งคาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าว  การเดินทางจะสะดวกมากขึ้น  และเป็นไปได้ว่า กสม. อาจพิจารณายื่นฟ้องต่อศาลปกครองตามอำนาจที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองสิทธิทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง