สตง.พบส่อทุจริตสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง 49 แห่ง 15 จังหวัด มีปัญหา กระทบสภาพแวดล้อม

ภูมิภาค
7 ธ.ค. 54
16:29
95
Logo Thai PBS
สตง.พบส่อทุจริตสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง 49 แห่ง 15 จังหวัด มีปัญหา กระทบสภาพแวดล้อม

สตง. ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาการกัดเซาะพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำ ตั้งแต่งบประมาณปี 2547-2553 เป็นเงินเกือบ 1,500 ล้านบาท สุ่มตรวจเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง 49 แห่ง ใน 15 จังหวัด พบเขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จบางแห่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำได้รับความเดือดร้อน และเกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินของรัฐกว่า 44 ล้านบาท ยังพบปัญหาการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ใกล้เคียง และปัญหาการทำงาน ซ้ำซ้อน

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รายงานว่า จากการตรวจสอบการดำเนินงานงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547-2553 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 93 แห่ง โดยสุ่มตรวจสอบ จำนวน 49 แห่ง ใน 15 จังหวัด  แบ่งเป็นเขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 42 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 7 แห่ง พบว่า เขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 7 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 16.67 ประกอบด้วยโครงสร้างของเขื่อนที่ทำหน้าที่เป็นฐานของเขื่อนและป้องกันการกัดเซาะชำรุด จำนวน 4 แห่ง และส่วนประกอบของเขื่อนและสิ่งสาธารณูปโภคอื่น ๆ ชำรุด จำนวน 3 แห่ง  ขณะเดียวกัน จากการสังเกตการณ์เขื่อนที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 7 แห่ง พบว่า มีจำนวน 4 แห่งที่เกิดพังทลายขณะก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างเขื่อนล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญาจ้างและไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลาที่กำหนด

“จากการที่เขื่อนป้องกันตลิ่งพังบางแห่งใช้ประโยชน์ไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ ทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำยังคงได้รับความเดือดร้อนจากการที่ที่ดินบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำถูกกัดเซาะพังทลาย น้ำจากแม่น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและที่ทำกินของราษฎร  ราษฎรในพื้นที่เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเขื่อน เนื่องจากเขื่อนบางแห่งใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซมมากกว่า 3 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้  นอกจากนี้  ยังทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการก่อสร้างเขื่อนซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เป็นเงิน 44.44 ล้านบาท” รายงานของ สตง. ระบุ

ผลการตรวจสอบของ สตง. ยังระบุว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดปฏิบัติงานได้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์  โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548-2551 มีแผนการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง จำนวน 137 แห่ง และปีงบประมาณ 2552-2555 จำนวน 189 แห่ง แต่จากการตรวจสอบเขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547-2553 จำนวน 93 แห่ง พบว่า มีเขื่อนที่ไม่ได้ก่อสร้างตามแผนปฏิบัติราชการ จำนวน 25 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 26.88 ซึ่งส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ตลิ่งถูกกัดเซาะพังทลาย บางรายต้องย้ายออกจากพื้นที่เนื่องจากอาคารบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทรุดตัวและได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังประสบปัญหางบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างเขื่อนที่ยังไม่ก่อสร้างตามแผนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกัดเซาะเป็นแนวยาวมากขึ้น รวมถึงราคาวัสดุและค่าก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ  

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เขื่อนป้องกันตลิ่งพังที่ก่อสร้างแล้วเสร็จบางแห่งใช้ประโยชน์ไม่ได้ตามวัตถุประสงค์และการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน มีหลายประการ อาทิ การออกแบบเขื่อนป้องกันตลิ่งพังไม่เหมาะสมและ  ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่  การตรวจรับงานไม่ถูกต้อง  ผู้ควบคุมงานบางรายขาดความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในการควบคุมงานก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่ง  และหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี เป็นต้น

จากการตรวจสอบและสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังทั้ง 49 แห่ง และการสอบถามผู้นำชุมชนในพื้นที่ดำเนินการและบริเวณใกล้เคียง พบว่า มีจำนวน 7 แห่ง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนทิศทาง  อีกทั้งจากการสุ่มสังเกตการณ์พื้นที่ที่ยังไม่ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังตามแผนปฏิบัติการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547-2553 จำนวน 20 แห่ง พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบยังขาดการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง จำนวน 7 แห่ง
 
ผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ หน่วยงานที่กำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของ สตง. อาทิ ทบทวนและปรับปรุงวิธีการออกแบบเขื่อนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานของโครงสร้าง  ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังซึ่งมีการตรวจ รับงานไม่ถูกต้อง โดยหากพบว่ามีการกระทำผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป  จัดให้มีการพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างเขื่อนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง  ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ได้มีการจัดลำดับการให้ความช่วยเหลือไว้ในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี เป็นหลัก กรณีมีพื้นที่อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนแต่ไม่อยู่ในแผน ควรมีการพิจารณาจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนโดยเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่อยู่ในแผน และประสานงานในเรื่องแผนการก่อสร้างกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน  เป็นต้น 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินการเป็นประการใดจะต้องแจ้งให้ สตง. ทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามนัยมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง