ก.ศึกษาธิการเล็งเพิ่มหลักสูตรเตรียมพร้อมเป็นพ่อแม่

สังคม
6 ม.ค. 55
02:44
13
Logo Thai PBS
ก.ศึกษาธิการเล็งเพิ่มหลักสูตรเตรียมพร้อมเป็นพ่อแม่

นายกฯ ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่เด็กมีพัฒนาการที่สำคัญ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่า ปัจจัยการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ จึงเห็นควรให้บรรจุหลักสูตรการเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงดูลูกให้กับเด็ก โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย จึงได้ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาเด็กปฐมวัย 5 ด้าน ได้แก่

1. พัฒนาการด้านสมองและการเรียนรู้ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วในชีวิต
2. การลงทุนที่คุ้มค่าในเด็กปฐมวัย
3. ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
4. การสร้างรากฐานของชีวิต
5. เป็นช่วงวัยที่ต้องได้รับการปลูกฝังและบ่มเพาะเป็นพิเศษ

ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเข้าไปส่งเสริมเด็กปฐมวัย โดยเร่งรัดให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนารอบด้านตามวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง

เบื้องต้น นายกรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการไปบูรณาการกับ 8 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันทำแผนการดูแลเด็กปฐมวัยช่วงแรกเกิดถึงก่อนอายุ 6 ขวบ ว่าในแต่ละช่วงอายุนั้น ช่วงไหนควรจะดูแลอะไรบ้าง เช่น เรื่องอาหารเสริมทางสมอง และขั้นตอนการดูแล การปลูกฝัง เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะไปทำแผนทั้งหมดแล้วจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งคาดว่า การจัดทำแผนการดูแลเด็กปฐมวัยนี้น่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินเดือน ก.พ. และในเดือน มี.ค.จะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการรับทราบ

ด้านนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเข้าใจถึงการดูแลเด็กมาก เนื่องจากมีประสบการณ์จากการเลี้ยงลูกและยังได้นำมายกตัวอย่างถึงการดูแลเด็กด้วย นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำว่า เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนาและได้รับการดูแลให้มีคุณภาพ ซึ่งควรจะมีการสอนพ่อแม่ก่อนที่จะมีลูก ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ตอบรับว่าจะไปปรับหลักสูตรอุดมศึกษา เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมก่อนจะไปสู่วัยการมีครอบครัว โดยเฉพาะควรจะเรียนรู้การเลี้ยงลูกที่ดีนั้นควรปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากการเลี้ยงลูกเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ร่วมกัน ซึ่งในระบบการเรียนการสอนของไทยนั้น เด็กมักจะเรียนหนังสือตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนจบปริญญาตรี ใช้เวลา 16 ปี แต่ไม่ได้มีการเรียนรู้เรื่องการเป็นพ่อแม่ที่ดีเลย ทาง รมว.ศึกษาธิการจึงจะให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเรื่องนี้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้เน้นการส่งเสริมการรักษ์ความเป็นไทยของนักเรียนด้วย เช่น การอ่อนน้อมถ่อมตน การมีระเบียบวินัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องสอนตั้งแต่เด็กๆ เพราะเด็กในปัจจุบันจะไม่ฟังพ่อแม่ แต่มักจะทำตามใจตนเอง

เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ข้อมูลในปัจจุบันยังพบว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 2 ขวบครึ่ง จำนวนกว่าร้อยละ 20 หรือประมาณ 160,000 คน จากเด็กทั้งหมด 800,000 คน ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เช่น ไม่ได้เข้ารับการดูแลจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งมีทั้งกลุ่มเด็กตกหล่นจากการสำรวจและเด็กต่างด้าว จึงทำให้ขาดการเรียนรู้และขาดการฉีดวัคซีนตามอายุ ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จึงต้องมีผู้รับผิดชอบในการเข้าไปดูแล โดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องให้มีการกำหนดไว้ในแผนให้ชัดเจนขึ้น ว่าหน่วยงานใดจะเข้าไปดูแล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง