"โกลบอลไทเกอร์" จัดหลักสูตรอบรมคนทำงานอนุรักษ์ป่า เริ่มที่ห้วยขาแข้ง ของไทยแห่งแรก

Logo Thai PBS
"โกลบอลไทเกอร์" จัดหลักสูตรอบรมคนทำงานอนุรักษ์ป่า เริ่มที่ห้วยขาแข้ง ของไทยแห่งแรก

โครงการโกลบอลไทเกอร์หรือ Global Tiger Initiative เป็นการรวมตัวระดับนานาชาติ ร่วมด้วย รัฐบาล องค์การพัฒนาเอกชนระดับโลก องค์การระหว่างประเทศ ชุมชนผู้ทำงานอนุรักษ์ และภาคเอกชน หลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝึกอบรมในเขตอนุรักษ์เสือที่มีความเร่งด่วนภายใต้โครงการฟื้นฟูเสือโลก (The Global Tiger Recovery Program-GTRP)

นายเคเชฟ วาร์มา ผู้อำนวยการโครงการโกลบอลไทเกอร์ กล่าวว่า ความอยู่รอดของเสือในป่าจะขึ้นอยู่กับความสามารถของประเทศที่เป็นเขตอาศัยของเสือในการใช้ผู้ทำงานที่มีอุปกรณ์ครบครันผู้เป็นแนวหน้าในอุทยานแห่งชาติและพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดจนเทคโนโลยีที่จะสร้างแรงกดดันให้กับผู้ลักลอบล่าเสือและองค์กรอาชญากรรมที่มุ่งล่าสัตว์ป่า เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดและการฝึกอบรมที่รวบรวมเอาความเชี่ยวชาญของสถาบันสมิทโซเนียน ธนาคารโลก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) มาไว้ที่ห้วยขาแข้ง จะช่วยยกระดับความสามารถของประเทศที่เป็นเขตอาศัยของเสือในการต่อสู้กับอาชญากรรมสัตว์ป่ามากขึ้น 
ดร. ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย คริสตี คินนีย์ เจ้าหน้าที่จากธนาคารโลก สถาบันสมิทโซเนียน สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ตัวแทนจากองค์กรที่เป็นหุ้นส่วนรายอื่น ๆ และผู้ทำงานอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ากว่า 30 คนซึ่งจะเข้าร่วมการฝึกอบรม 2 สัปดาห์ระหว่างวันที่ 6-21 มกราคม 2012 (2555)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการอนุรักษ์เสือรวมทั้งเป็นผืนป่ามรดกโลกด้านตะวันตกของประเทศไทย เป็นสถานที่จัดการฝึกอบรม 2 สัปดาห์ที่จัดและได้รับการอำนวยความสะดวกร่วมจากโครงการหุ้นส่วนอนุรักษ์เสือแห่งสถาบันชีววิทยาว่าด้วยการอนุรักษ์แห่งสมิทโซเนียน ธนาคารโลก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า การอบรมจะเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านการอนุรักษ์ที่ดีที่สุดที่จะนำไปใช้ในประเทศที่เป็นเขตอาศัยของเสือ โดยได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมด้านความเชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ เทคนิค และการบริหารจากหุ้นส่วนในโครงการโกลบอลไทเกอร์

ในการอบรม จะมีการแนะนำเทคโนโลยีและการบริหารการลาดตระเวนใหม่ ๆ การใช้อุปกรณ์กำหนดตำแหน่งด้วยดาวเทียม (GPS) ที่รู้จักกันในนามระบบสมาร์ทและมิสท์ (smart and MIST system) นอกจากนี้ ทีมบริหารพื้นที่อนุรักษ์จะได้ทำความรู้จักกับเครื่องมือและกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถเริ่มใช้ระบบล่าสุดและมีประสิทธิภาพเหล่านี้

การสร้างเสริมศักยภาพและการอบรมทีมบริหารพื้นที่อนุรักษ์โดยเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับอาวุโสไปจนถึงเจ้าหน้าที่อุทยานที่เป็นแนวหน้า จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์ระดับใหญ่เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์เสือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการฟื้นฟูเสือโลก (GTRP) ในการทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับผู้ลักลอบล่าเสือและเครือข่ายอาชญากรรมล่าสัตว์ป่าอื่นๆ กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าในประเทศที่เป็นเขตอาศัยของเสือจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกำแพงรอบพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเร่งด่วนตลอดจนทางผ่านสัตว์ป่าระหว่างประเทศต่าง ๆ นอกไปจากการดำเนินการอื่น ๆ ที่จะประสานระหว่างกันตามที่ระบุในโครงการฟื้นฟูเสือโลก การใช้เทคโนโลยีชั้นนำในการทำงานอนุรักษ์พันธุ์เสือจะช่วยป้องกันพื้นที่และกำหนดแนวทางในการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ในระยะยาวเพื่อคุ้มครองและฟื้นฟูพันธุ์เสือ รวมทั้งปกป้องความหลากหลายของพันธุ์พืชในพื้นที่ ๆ เป็นเขตอาศัยของเสืออีกด้วย

ในปี 2009 (2542) ธนาคารโลกและสถาบันสมิทโซเนียนได้ตกลงทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงศักยภาพในประเทศที่เป็นเขตอาศัยของเสือ โดยมุ่งอบรมเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่า และผู้บริหารพันธุ์สัตว์ป่าหลายร้อยคนเกี่ยวกับแนวปฏิบัติล่าสุดในการบริหารความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยสถาบันชีววิทยาว่าด้วยการอนุรักษ์แห่งสมิทโซเนียนมุ่งแบ่งปันประสบการณ์และความมุ่งมั่นที่เหนือกว่าใครในโลกในการศึกษา การบริหาร การคุ้มครองและการฟื้นฟูพันธุ์สัตว์ป่าและระบบนิเวศน์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง

ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในการอบรมการลาดตระเวนครั้งนี้มาจากกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ประเทศไทย และเวียดนาม ในช่วงปลายเดือนมกราคม ทีมบริหารพื้นที่อนุรักษ์จะเข้ารับการฝึกอบรมในทำนองเดียวกันนี้ที่อุทยานแห่งชาติจิตวัต เนปาล ร่วมกับผู้อำนวยการอุทยาน เจ้าหน้าที่ และองค์กรพัฒนาเอกชนจากภูฐาน บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล จีน และรัสเซีย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง