สื่อต่างประเทศอ้างสหรัฐฯไม่ถอนเตือน "ก่อการร้าย" ในไทย

การเมือง
17 ม.ค. 55
01:10
18
Logo Thai PBS
สื่อต่างประเทศอ้างสหรัฐฯไม่ถอนเตือน "ก่อการร้าย" ในไทย

กรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์เตือนให้พลเมืองสหรัฐ ฯให้ระวังระวังการก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ได้ให้สถานทูตแต่ละประเทศชี้แจงสถานการณ์ และ มาตรการป้องกันการก่อการร้ายในประเทศไทยแล้ว ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหรัฐฯปฏิเสธที่จะถอนคำเตือนดังกล่าวตามที่นายกรัฐมนตรีของไทยร้องขอ

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารสนเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายข่าวกรองและหน่วยงานความมั่นคงของประเทศ เพื่อสรุปรายละเอียดให้กับสถานเอกอัครราชทูตแต่ละประเทศได้รับทราบข้อมูลที่ตรงกันเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย รวมถึงการดำเนินการของรัฐบาลไทย ในการป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงฯยังได้ทำการชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ประเทศต่างๆ รับทราบแล้ว

นอกจากนี้กระทรวงฯได้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานความมั่นคง และยังมั่นใจว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมและดูแลรักษาความปลอดภัยได้ พร้อมทั้งเชื่อว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงตามที่สื่อต่างประเทศรายงานว่า จะมีเหตุกาณ์รุนแรงเกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 ก.พ.นี้

ส่วนที่มีการรายงานว่าประเทศสวีเดนขอตัวผู้ต้องสงสัยที่จับได้ ซึ่งมีสัญชาติสวีเดน อธิบดีกรมสารสนเทศ ยืนยันว่า ยังไม่มีประเทศใดประสานงานเข้ามา ส่วนการรักษาความปลอดภัยตามสถานที่สำคัญที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ โดยเฉพาะสถานทูตที่ประกาศเตือนภัย ทางกระทรวงฯได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สันติบาลทำการอารักขาเป็นกรณีพิเศษ

ด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึง กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้กระทรวงกลาโหมสอบถามไปยังกระทรวงกลาโหมของสหรัฐมเมริกา เกี่ยวกับการแจ้งเตือนเรื่องก่อการร้ายในไทย และให้ถอนคำแจ้งเตือนในวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากจะทำให้ไทยได้รับความเสียหายจากการแจ้งเตือนดังกล่าว

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ พล.อ.นิพันธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม หารือกับ นายเอ็ดเวิร์ด เอ สแวนดา ผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยถึงมาตรการในการแจ้งเตือน และ การเสนอข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งภายหลัง พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้แถลงถึงการเข้าพบหารือดังกล่าว โดยระบุว่า น่าจะมีการปรับในการทำงานให้เกิดความชัดเจนและให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการแจ้งเตือนครั้งนี้ สหรัฐ ระบุว่า ไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้และเป็นการแจ้งเตือนเฉพาะชาวอเมริกันจึงต้องแจ้งในภาพรวม แต่ไม่ได้เจาะจงว่าจะมีการเหตุการณ์ร้ายแรงเพียงแต่แจ้งเตือนให้มีความระมัดระวังเท่านั้น

ขณะเดียวกันมีการรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส โดยอ้างคำกล่าวของโฆษกสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่ยืนยันว่า คำเตือนก่อการร้ายในประเทศไทยที่เตือนให้พลเมืองสหรัฐระมัดระวังตัวมากขึ้นขณะอยู่ในประเทศไทยนั้น เป็นคำเตือนที่ถูกต้องแล้ว และสหรัฐไม่มีแผนที่จะถอนคำเตือนดังกล่าวแต่อย่างใด

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ท่าทีของสหรัฐมีขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่กลาโหมไทยได้พบกับผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อขอความร่วมมือกับสหรัฐฯมากกว่านี้ ต่อการเผยแพร่ข้อมูลใดๆออกมา และขอให้สหรัฐฯถอนคำเตือนดังกล่าว แต่โฆษกสถานทูตสหรัฐได้ยืนยันกับรอยเตอร์สว่า ไม่มีถอนคำเตือนดังกล่าว

รายงานดังกล่าว ระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยรู้สึกเป็นกังวลกับการประกาศคำเตือน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศหลังจากที่การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากทั้งความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อปี 2553 ตลอดมาจนถึงเหตุน้ำท่วมใหญ่ต่อเนื่องในปี 2554

ส่วนผลกระทบต่อการท่องเที่ยว นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่เพียงกลุ่มที่มาจาก อเมริกา อังกฤษ และอิสราเอล แต่กระทบไปถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียที่อ่อนไหวต่อข่าวความรุนแรง จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่ปีนี้คาดว่าจะเติบโตมีนักท่องเที่ยวมากกว่า20 ล้านคน พร้อมกับเพิ่มความเข้มข้นเรื่องข่าวกรอง ระบบรักษาความปลอดภัยของประเทศ ส่วนภาคเอกชนได้ขอความร่วมมือให้สถานประกอบการที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปพัก ตรวจตราสิ่งของต้องสงสัยอย่างเข้มงวด

ขณะที่นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า ขณะนี้มี 12 ประเทศ ออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังการเดินทางมาไทย และมีการยกเลิกการท่องเที่ยวแล้วบางส่วน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอิสระ หรือ FIT เช่น ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศระยะใกล้ ที่รับรู้ข่าวจากประเทศไทยได้รวดเร็ว ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นคณะ หรือกรุ๊ปทัวร์ยังเดินทางตามปกติ โดยคาดว่า ภายใน 2-3 วันจะเริ่มเห็นการยกเลิกทัวร์เข้ามา

ส่วนยอดจองล่วงหน้าช่วงเทศกาลตรุษจีน คาดว่า ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากบางรายเริ่มมีการขายแพ็คเกจทัวร์ไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกัน แอตต้า จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมเรียกประชุมสมาชิก เพื่อวางแนวทางในการชี้แจงนักท่องเที่ยวและบริษัทนำเที่ยวให้ถูกต้อง เพราะหากไม่เร่งแก้ไข อาจจะกระทบต่อการเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ โดยเฉพาะการเดินทางแบบเช่าเหมาลำ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง