เอ็นจีโอ ยืนยันเดินหน้าคุ้มครอง "ก๊าซขึ้นราคา"อย่างไม่เป็นธรรมชั่วคราวอีกครั้ง

เศรษฐกิจ
20 ม.ค. 55
12:38
9
Logo Thai PBS
เอ็นจีโอ ยืนยันเดินหน้าคุ้มครอง "ก๊าซขึ้นราคา"อย่างไม่เป็นธรรมชั่วคราวอีกครั้ง

เหตุพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ที่ปรึกษากฎหมายและนักวิชาการยืนยันสามารถทำได้ เตรียมพร้อมทำคำขอคุ้มครองอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ มีสิทธิยื่นคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวต่อศาลปกครองกลางในการให้ความคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการกรรมาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 มกราคมว่า นับเป็นข่าวดีที่ผู้บริโภคจะมีความหวังอีกครั้ง เพราะขณะนี้ทั้งรัฐบาลและปตท. ยังไม่สามารถตอบคำถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและผู้ร่วมฟ้องคดีได้ว่า ราคาตุ้นทุนเนื้อก๊าซที่กำหนด 8.39 บาท เป็นราคาที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต นับเป็นราคาที่บวกกำไร และค่าขนส่ง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้ว จึงไม่ใช่ต้นทุนเนื้อก๊าซที่แท้จริง หรือแม้แต่ต้นทุนค่าขนส่งและค่าการตลาดที่รัฐบาลใช้เป็นฐานในการคำนวณราคาที่ยังมีข้อมูลไม่ตรงกัน ก็ยังไม่ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน พร้อมยืนยันเดินหน้าผลักดันให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในเรื่องโครงสร้างราคาก๊าซ  พร้อมขอให้ผู้บริโภคและนักวิชาการที่มีข้อมูลร่วมส่งข้อมูลให้กับมูลนิธิเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวนี้ร่วมกัน โดยสามารถส่งข้อมูลได้ทุกช่องทางที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทร. 02 248 3737  หรือwww.consumerthai.org เพื่อทำให้มีความรอบคอบและเหตุผลเพียงพอในการขอคุ้มครองชั่วคราวอีกครั้งก่อนมีคำพิพากษาคดีนี้
        
ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา  หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่าอยากให้ผู้บริโภคได้ช่วยกันจับตาว่าที่จะมีการให้กองทุนรวมวายุภักษ์มาซื้อหุ้นของ ปตท. 2% จากที่ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นของปตท.อยู่ 51.15% การทำเช่นนี้จะทำให้หนี้สินของปตท.จำนวน7.56 แสนล้านบาท ถูกผลักให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบ และยังทำให้ ปตท.กลายเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวที่ทำกำไรสูงสุดได้เต็มที่โดยไม่ติดกรอบพันธะกิจความเป็นรัฐวิสาหกิจที่จะต้องถูกกำกับดูแลโดยรัฐอีกต่อไป
        
 “สภาพกิจการของ ปตท. ในปัจจุบัน เป็นกิจการที่ได้สิทธิผูกขาดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจในกิจการปิโตรเลียมทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหา การแยกก๊าซ การขนส่ง การขายส่ง การขายปลีก เมื่อมีการขายหุ้นปลดล๊อกความเป็นรัฐวิสาหกิจก็จะทำให้ ปตท.กลายเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยบริษัทเอกชนอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่ประเทศไทยมีอยู่ในขณะนี้ ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาการผูกขาดของบริษัทเอกชนได้เลย สภาพการผูกขาดในกิจการอันเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของประชาชนจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวงได้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องต่อประชาชนให้ช่วยกันติดตามปัญหานี้ เพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีเพียงกลุ่มผู้ถือหุ้น ปตท.ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศได้ประโยชน์ แต่ผู้ที่เสียประโยชน์นั้นนั้นคือประชาชนอย่างแน่นอน” นายอิฐบูรณ์ กล่าว 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง