ศาลฎีกาพิพากษาให้ รพ.สมิติเวชจ่าย 8.3 ล้านชดเชยทำคลอดพลาด

24 ม.ค. 55
14:07
322
Logo Thai PBS
ศาลฎีกาพิพากษาให้ รพ.สมิติเวชจ่าย 8.3 ล้านชดเชยทำคลอดพลาด

ศาลฎีกา พิพากษาให้โรงพยาบาลสมิติเวช จ่ายเงินชดเชย 8.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้เจ้าของโรงงานแห-อวน ที่ฟ้องแพทย์และโรงพยาบาลที่ทำคลอดพลาด จนทำให้ภรรยาและลูกในครรภ์เสียชีวิต ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายต่อสู้มากว่า 16 ปี

นายบุรินทร์ เสรีโยธิน เจ้าของโรงงานผลิตแห-อวน ในฐานะโจทก์ วันนี้เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลชั้นฎีกา ในกรณีฟ้อง บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน), ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สาขาสุขุมวิท, วิสัญญีแพทย์ และแพทย์เจ้าของไข้ ร่วมเป็นจำเลยที่ 1-4 พร้อมเรียกค่าเสียหาย 700 ล้านบาท และดอกเบี้ย จากกรณีทำคลอดผิดพลาด จนทำให้ นางจุรีรัตน์ เสรีโยธิน อายุ 36 ปี เสียชีวิตพร้อมบุตรในครรภ์ เมื่อปี 2538

ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษา โดยพิเคราะห์จากพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งเป็นวิสัญญีแพทย์ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งให้ข้อมูลเรื่องการให้ยาสลบ และการตรวจรักษาตามหลักสูติศาสตร์ ระบุว่า เมื่อผู้ป่วยตั้งครรภ์ ต้องเข้ารับการให้ยาสลบ ต้องได้รับการดูแลจากวิสัญญีแพทย์ และแพทย์เจ้าของไข้อย่างใกล้ชิด ไม่อาจละเลยได้ เพราะต้องดูแลถึง 2 ชีวิต แต่การนำสืบพยานพบว่า แพทย์ทั้ง 2 คนไม่ได้อยู่ดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา จึงถือเป็นการกระทำโดยประมาท พยานโจทก์ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ แม้แพทย์เจ้าของไข้ และวิสัญญีแพทย์ จะนำมติแพทยสภามาโต้แย้ง ว่า ทั้งสองคนไม่มีความผิด แต่ไม่มีกฎหมายระบุไว้ ว่ามติของแพทยสภา เป็นกฎหมาย หรือศาลต้องปฏิบัติตาม

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าพยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันชัดเจนว่า วิธีการเจาะถุงน้ำคร่ำของแพทย์ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตโดยตรง โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อซึ่งศาลฎีกาพิพากษากลับ จึงมีคำสั่งให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงิน 8.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.25 ภายใน 30 วัน นับจากศาลมีคำสั่งมิเช่นนั้นจะมีการยึดทรัพย์

นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่า ผู้เสียชีวิต จะต้องดูแลเลี้ยงดูบุตรจนบรรลุนิติภาวะ รวมทั้งเลี้ยงดูโจทก์ที่ทุกพลภาพ และบิดามารดา จึงมีคำสั่งให้พวกจำเลย ร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้การอุปการะ รวม 8.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ภายใน 30 วัน นับจากศาลมีคำสั่ง ไม่เช่นนั้นให้บังคับยึดทรัพย์
 
ภายหลังศาลมีคำพิพากษา นายบุรินทร์ เปิดเผยว่า ถือต่อสู้คดีที่ยาวนานถึง 16 ปี และทุกครั้งที่มาขึ้นศาล ก็เหมือนเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดของคนในครอบครัว ซึ่งตนไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการฟ้องให้เป็นเยี่ยงอย่างว่าแพทย์จะต้องเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยอย่างมีวิชาชีพ และให้ความสำคัญกับคนไข้ถึงที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง