เปิดตัว "กลุ่มคนอีสาน" รักหลักประกันสุขภาพ

สังคม
30 ม.ค. 55
03:25
16
Logo Thai PBS
เปิดตัว "กลุ่มคนอีสาน" รักหลักประกันสุขภาพ

กลุ่มคนอีสาน ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1  เมื่อวันที่ 27 มกราคม  ระบุนับเป็นเวลา 10  กว่าปีมาแล้ว (ตั้งแต่กลางปี2543) ประชาชนกลุ่มหนึ่ง จำนวนกว่า ๙ หมื่นคน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายประชาชน “ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องได้ 50,000 รายชื่อ  แต่เนื่องจากประชาชนเครือข่ายต่างๆ พบว่าการได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสมควรได้รับ เช่นเดียวกันเป็นหน้าที่ของรัฐพึงดำเนินการโดยเร่งด่วน  จึงร่วมแรง  ร่วมใจ ลงทุนลงแรงในการระดมรายชื่อ  ซึ่งส่งผลให้มีการกำหนดในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองจนทำให้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี  ๒๕๔๔  ด้วยการชูนโยบายสนับสนุนให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ในชื่อ  “ โครงการ  30 บาทรักษาทุกโรค ” จากนั้นด้วยแรงประสานภาคีต่างๆ ทำให้รัฐบาล  ขบวนประชาชน และนักวิชาการ  ผนึกกำลังกันผลักดันให้สามารถออกกฎหมาย “ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ”เมื่อปลายปี ๒๕๔๕ ก่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาของประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึงครอบคลุม และเป็นธรรมกับทุกคน  เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน  เป็นกฎหมายฉบับแรกที่มีกองทุนเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด ( มาตรา 41)ให้กับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ (มาตรา18(4)) และพัฒนายกระดับให้มี ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ครอบคลุมทุกคนทุกสิทธิทั้งสวัสดิการข้าราชการ  ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพ
         
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาจากข้อเสนอภาคประชาชน  เช่นมีการยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาททุกครั้งที่ไปรับบริการ  มีการใช้บัตรประชาชนบัตรเดียว  มีกองทุนให้กับชนกลุ่มน้อย  ชนเผ่า  การพัฒนาระบบการบริหารจัดการรักษาสุขภาพแบบมีมาตรฐานบนพื้นฐานการคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างเป็นจริง  เป็นธรรม สำหรับทุกคน  ไม่เปิดโอกาสให้การรักษาพยาบาลเป็นธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเกินควร  หน่วยงานของรัฐภายใต้กระทรวงสาธารณสุข  ต้องปรับตัวเองให้เป็นนักบริหารระบบสุขภาพอย่างมีคุณภาพ  คุ้มค่า  คุ้มทุน ทั้งการรักษา  การฟื้นฟูเยียวยา และการส่งเสริมสุขภาพ  ป้องกันโรค   ที่ผ่านมากว่าทศวรรษก่อให้เกิดระบบการจ่ายเงินค่ารักษาที่พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ  อย่างมืออาชีพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เป็นระบบประกันสุขภาพระบบแรกและระบบเดียวที่ผู้แทนประชาชนส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการบริหารและการควบคุมคุณภาพ          

ด้านนายสุดใจ  ตะภา  ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อภาคอีสานกล่าวว่า  หลังจากที่มีกฎหมายฉบับนี้แล้วทำให้ยาที่ใช้กับผู้ติดเชื้อมีราคาถูกลง  สามารถเข้าถึงยาและการรักษา รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน  การที่จะกลับไปเก็บค่าบริการ ๓๐ บาทอีกครั้ง จะไม่ทำให้เกิดความเท่าเทียม  ซึ่งความเสมอภาคของคนที่ยังเหลื่อมล้ำกันในเรื่องรายได้ ความยากลำบากในการเดินทางเข้าถึงการรักษา  การปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมมือกับประกันสังคมสร้างภาพการรักษาที่แตกต่าง  รวมหัวกันขึ้นราคาอย่างมีเลิศนัย  การออกประกาศเรื่องการรักษาของผู้ประกันตนรายวัน  โดยไม่รู้ว่าทำไมไม่ทำมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว  ปล่อยให้ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมได้รับการรักษาที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพมาตั้งนาน  การไม่ยอมหลอมรวมระบบประกันสุขภาพทั้งสามภายใต้ระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและไม่เปิดโอกาสให้มีการแสวงหาผลประโยชน์เกินควรของผู้ให้บริการ  ตลอดจนการไม่ยับยั้ง  ไม่ชะลอการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการรักษาของคนต่างชาติทั้งๆ ที่คนในประเทศยังต้องรอคิวรับการรักษาเหล่านี้คือภัยคุกคามระบบหลักประกันสุขภาพ  การยิ่งขาดแคลนแพทย์  พยาบาลมากขึ้น  การสร้างภาพค่ารักษาที่สูงเกินจริง  การสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างบริการ สิ่งที่จะต้องดำเนินการไปข้างหน้าคือการหลอมรวมระบบหลักประกันสุขภาพทั้งประเทศให้เป็นระบบเดียว  มาตรฐานเดียว และคุ้มครองสิทธิการรักษาเท่าเทียมกัน  ในส่วนของการเยียวยาความเสียหายโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด

ทางนางอาภรณ์  อะทาโส ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด  กล่าวว่าขณะนี้ในระบบสุขภาพซึ่งมี 3 ระบบได้แก่หลักประกันสุขภาพ  ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ แต่มีเพียงระบบหลักประกันสุขภาพเท่านั้นที่มีกองทุนเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น  ส่วนประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการยังไม่มีควรที่จะมีการพัฒนาตามที่ภาคประชาชนเสนอคือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเสนอ และรัฐบาลชุดนี้ให้ความเห็นชอบที่จะพิจารณาต่อเนื่อง เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วย ลดการฟ้องร้อง เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการสาธารณสุขได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกระบบ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการป้องกันความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งยังจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยไปอีกขั้นหนึ่งด้วย ซึ่งดีกว่าการขยายมาตรา 41 ภายใต้ระบบหลักประกัน เนื่องจากหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณตามความเสี่ยงของการให้บริการสาธารณสุขทดแทนการจ่ายฝ่ายเดียวจากรัฐ
         
เครือข่ายประชาชนในภาคอีสานที่ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  จึงต้องออกมาส่งเสียงและแสดงตัวว่าเราเป็น “กลุ่มคนอีสาน  รักหลักประกันสุขภาพ ” พร้อมที่จะปกป้องให้ระบบนี้เป็นระบบแห่งชาติอย่างแท้จริง   ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1. จับตาการดำเนินงานของรัฐบาล  รัฐมนตรีสาธารณสุข  และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และกฎหมายที่ประชาชนร่วมสร้างมาตั้งแต่ต้น

2. การเปิดโปงความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพ  ทั้งการบริหารตัดการส่วนกลาง  และการดำเนินการในระดับ จังหวัด  อำเภอ  ตำบล  และสถานพยาบาล

3. การนำเสนอข้อเท็จจริงของการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม  มีคุณภาพ  มีมาตรฐาน  เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบการรักษาของบัตรทองมีมาตรฐานและคุ้มค่า  มากกว่าระบบของข้าราชการที่ผลาญเงินภาษีอย่างมหาศาล  และการสร้างมายาภาพของประกันสังคม ซึ่งมาจากทุกจังหวัดในภาคอีสาน  เป็นตัวแทนของประชาชนที่ร่วมในปฏิบัติการของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  จึงขอประกาศจัดตั้ง  “ กลุ่มคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ ” เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง