สภาอุตฯ เตรียมเสนอแนวทางลดผลกระทบการเลิกจ้าง เหตุนโยบายขึ้นค่าจ้างของรัฐฯ

เศรษฐกิจ
6 ก.พ. 55
08:08
13
Logo Thai PBS
สภาอุตฯ เตรียมเสนอแนวทางลดผลกระทบการเลิกจ้าง เหตุนโยบายขึ้นค่าจ้างของรัฐฯ

ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ยืนยันไม่ฟ้องศาลปกครองกรณีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทที่จะมีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ ขณะเดียวกันได้เตรียมหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาผลกระทบหากมีการเลิกจ้าง เพราะนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง

กระทรวงแรงงานเปิดรับฟังปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2555 จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการบรรเทาการเลิกจ้างให้มากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมามีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และอยู่ในช่วงฟื้นฟู อีกทั้งยังมีแนวโน้มปิดกิจการ ย้ายฐานการผลิต หรือเลิกจ้างพนักงานบางส่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องยานยนต์ หากพบว่ามีสถานการณ์เลิกจ้างรุนแรงก็จะเร่งหามาตรการเข้าไปช่วยเหลือ เช่น มาตรการทางภาษี

น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงานยังบอกอีกว่า เบื้องต้นกระทรวงแรงงานจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจกับสถานประกอบการเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้าง รวมถึงวิธีการแนะนำการปรับตัว เช่น การลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชนร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ว่าจะไม่หารือการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัด โดยภาคเอกชน ยังย้ำจุดยืนเดิมที่ให้ทยอยปรับเพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก

ส่วนกรณีที่สภาองค์การนายจ้าง 7 แห่ง จะร่วมกับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ บางส่วน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับมติคณะกรรมการค่าจ้างที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า การฟ้องร้องเป็นสิทธิของสภาองค์การนายจ้าง และผู้ประกอบการแต่ละรายที่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่สภาอุตสาหกรรมฯ มีความชัดเจนที่จะไม่ฟ้องร้องภาครัฐ แต่จะมีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานภาครัฐเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ

สำหรับการประชุมกกร.วันนี้ (6 ก.พ.) จะเป็นการเตรียมข้อเสนอภาคเอกชนที่จะยื่นต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่จัดขึ้นระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดอุดรธานี วันที่ 21-22 กุมภาพันธ์นี้ เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมด้านการค้าการลงทุน และการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ การส่งเสริมการลงทุนแปรรูปสินค้าเกษตร และการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการพัฒนาการค้าชายแดน ทั้งด้านลาว และกัมพูชา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง